การจัดการเทคโนโลยีด้านโซ่อุปทานอาหารและเกษตร : แบบจำลองอ้างอิงกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน
กรณีศึกษา : บริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน
Agro-Industrial Technology for Food and Agri-Product Supply Chain : Supply Chain Operation Reference-Model (SCOR-Model) :
A Case Study of Sweetened Condensed Milk Product Company

                 กรณีศึกษานี้ได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองอ้างอิงกระบวนการห่วงโซ่อุปทานหรือ  Supply Chain Operation Reference-Model (SCOR-Model) เพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวานกลุ่มที่ขายภายในประเทศซึ่ง SCOR-Model นั้นเป็นเครื่องมือมาตรฐานหรือตัวแบบอ้างอิงที่มีการเสนอกรอบการทำงานโดยเชื่อมขั้นตอนการทำงาน (Business Process) เมทริกซ์การวัดประสิทธิภาพกระบวนการ (Metrics) แนวทางปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศ (Best Practice) และเทคโนโลยีที่น่าสนใจด้วยโครงสร้างที่ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานและเพื่อประสิทธิผลในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยองค์กรมุ่งหวังที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้คือ กลยุทธ์การเน้นเป็นผู้นำทางด้านต้นทุนในขณะที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตามเป้าหมายของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมข้นหวานที่ขายภายในประเทศนั้นมีคู่แข่งหลายรายและนมข้นหวานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ง่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ยึดติดกับตราสินค้ามากนัก ดังนั้นการจัดการเรื่องต้นทุนสินค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งและการเติมเต็มสินค้าไม่ให้ขาดแคลนจึงมีความสำคัญอย่างมาก

การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานด้วย SCOR-Model

             SCOR-Model มีขั้นตอนในการวิเคราะห์จากภาพรวมขององค์กร เพื่อวางขอบเขตและเป้าหมาย แล้วจึงนำมาวางโครงร่างของห่วงโซ่อุปทาน หลังจากนั้นจึงเจาะลึกในระดับกระบวนการ เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาหาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการ แล้วจึงนำไปออกแบบกิจกรรมย่อย ซึ่ง SCOR-Model ได้จัดทำมาตรฐานไว้ถึงระดับกระบวนการและได้กำหนดระดับในการวิเคราะห์ไว้ 4 ระดับ (หากองค์กรต้องการลงรายละเอียดมากขึ้นสามารถแยกย่อยกระบวนการ ลงในระดับที่ลึกต่อไปได้) แต่มีการทำมาตรฐานไว้เพียง 3 ระดับเท่านั้นได้แก่ระดับบน (Top Level) ระดับโครงร่าง (Configuration Level) และระดับองค์ประกอบกระบวนการ (Process Element Level) โดยผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้รูปแบบดังกล่าวในการวิเคราะห์กับผลิตภัณฑ์นมข้นหวานดังนี้

SCOR-Model ระดับที่ 1 (Top Level) (ชนิดกระบวนการ)

              ในขั้นตอนนี้มีการระบุขอบเขตและเนื้อหาของห่วงโซ่อุปทาน โดยอ้างอิงแบบจำลองกระบวนการโซ่อุปทาน ในกิจกรรมหลัก ได้แก่ การวางแผน (Plan: P) การจัดหา (Source: S) การผลิต (Make: M) การจัดส่ง (Deliver: D) และการรับ/ส่งของคืน (Return: R) โดยผู้วิเคราะห์ต้องเขียนรายละเอียดของทุกกิจกรรม ของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน แต่มิได้นำมาแสดงในที่นี้ ภาพรวมของแบบจำลองอ้างอิงโซ่อุปทานของบริษัทกรณีศึกษาแสดงดังภาพที่ 1

ภาพที่ 2 แผนที่ภูมิศาสตร์ของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน

                     
                  

                  จากการวิเคราะห์พบว่าการจัดหาวัตถุดิบเพื่อรอผลิต (S1) ในส่วนของนมผงนั้นมีระยะทางในการขนส่งที่ไกลคือการขนส่งจากออสเตรเลียมาไทยทางเรือ ใช้เวลานำประมาณ 60 วัน ในขณะที่การจัดหาวัตถุดิบประเภทอื่นนั้นได้มาจากแหล่งซัพพลายเออร์ภายในประเทศ จึงไม่มีปัญหาเรื่องเวลาของการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายวัตถุดิบมายังโรงงาน  รวมถึงการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าซึ่งเป็นลูกค้าภายในประเทศก็ไม่มีปัญหาในเรื่องเวลานำในการขนส่งเช่นกัน SCOR-Model ระดับที่ 2 ระดับโครงร่าง (Configuration Level)

                   การวิเคราะห์ SCOR-Model ในระดับที่ 2 นี้เป็นการวิเคราะห์โครงสร้างหลักของห่วงโซ่อุปทาน จากกิจกรรมหลักทั้ง 5 ของห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากประเภทของระบบการผลิต แบบ Make to Order (MTO) และ Make to Stock (MTS) ในขั้นแรกพิจารณาตามแผนภาพทางภูมิศาสตร์ โดยห่วงโซ่อุปทานตามภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์นมข้นหวานแสดงได้ดังภาพที่ 2  


ภาพที่ 3 SCOR-Model ระดับที่ 2 (TO-BE) หลังปรับปรุง ของบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน


                   จากนั้นทำการวิเคราะห์การไหลของวัตถุดิบ โดย SCOR-Model ในปัจจุบัน(AS-IS) ของบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน เริ่มตั้งแต่ ผู้ผลิตวัตถุดิบให้ซัพพลายเออร์ ซัพพลายเออร์ที่เป็นโรงงานผลิตวัตถุดิบและส่งมอบให้กับบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน โดยบริษัทมีการจัดหาวัตถุดิบ 2 รูปแบบ คือ เพื่อรอผลิต (S1) และเพื่อผลิตตามลูกค้าสั่ง (S2) เพื่อที่จะนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์นมข้นหวานแบบเพื่อรอผลิต (Make to Stock) เมื่อมีวัตถุดิบที่มีตำหนิหรือไม่ได้ตามมาตรฐานจะมีการจัดส่งคืนต่อโรงงานของซัพพลายเออร์ โดยฝ่ายจัดส่งของบริษัทผลิตภัณฑ์นมจัดส่งผลิตภัณฑ์นมข้นหวานไปยังลูกค้า และลูกค้าส่งมอบสินค้าต่อไปยังลูกค้าของลูกค้า โดยในที่นี้ได้พัฒนาแนวทางการปรับปรุงด้านการวางแผนห่วงโซ่อุปทาน (P1) การวางแผนการผลิต (P3)  การจัดหาวัตถุดิบเพื่อรอผลิต (S1) และเพื่อผลิตตามลูกค้าสั่ง (S2) ดังภาพที่ 3

SCOR-Model ระดับที่ 3 ระดับองค์ประกอบกระบวนการ (Process Element Level)

        จากการวิเคราะห์ SCOR-Model ในระดับที่ 2 แล้ว พบว่าบริษัทผลิตภัณฑ์นมข้นหวานควรดำเนินการปรับปรุงทั้งหมด 4 กิจกรรม และมีนโยบายที่เป็นส่วนสนับสนุนอีก 3 ข้อ โดยในที่นี้ได้ยกตัวอย่างการพัฒนากระบวนการวางแผนโซ่อุปทาน (Plan Supply Chain: P1) โดยใช้ SCOR-Model ระดับที่ 3 ซึ่งแบ่งเป็นกิจกรรมย่อย P1.1, P1.2, P1.3 และ P1.4 ที่มีปัจจัยเข้าและออกที่กำหนดในคู่มือ SCOR-Model 

          จากนั้นสามารถกำหนดเมทริกซ์การวัดประสิทธิภาพกระบวนการ (Metrics) ซึ่งจะมีมิติของการวัดประสิทธิภาพออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทาน การตอบสนองของห่วงโซ่อุปทาน ความคล่องตัวของห่วงโซ่อุปทาน
ต้นทุนของห่วงโซ่อุปทาน และ การบริหารสินทรัพย์ของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น และมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศ (Best Practice) เช่น การพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงข้อมูลในระบบดิจิตอลระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทาน เช่น การใช้ XML Base หรือ EDI เป็นต้น การปรับจากการผลิตในระบบผลักเป็นระบบดึงแทน และ การร่วมมือกันระหว่างทีมงานวางกลยุทธ์การดำเนินงาน และยกตัวอย่างดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพที่ใช้ในการวัดด้านการวางแผนห่วงโซ่อุปทาน เช่น การวัดความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานโดยใช้ความถูกต้องในการพยากรณ์เป็นดัชนี หรือ ใช้ต้นทุนในการพยากรณ์ความต้องการรวมในโซ่อุปทานเป็นดัชนีด้านต้นทุนของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

             SCOR-Model ระดับที่ 4 ระดับการประยุกต์ใช้ (Implementation Level)
สำหรับ SCOR-Model ในระดับที่ 4 นั้นเป็นการคัดเลือกนโยบายหรือกิจกรรมในการปรับปรุงที่เหมาะสมจาก SCOR-Model ในระดับที่ 3 มาประยุกต์ใช้ในโซ่อุปทานต่อไป  เช่น การพัฒนาปรับปรุงวิธีการพยากรณ์ความต้องการสินค้าในแต่ละประเภท และโดยรวม เพื่อนำไปวางแผนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต  และการส่งมอบต่อไปในอนาคต

สรุป
                     การใช้ SCOR-Model จะทำให้บริษัทกรณีศึกษาสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานจากการใช้แนวทางปฏิบัติสู่ความเป็นเลิศ โดยนำดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมกับองค์กรมาปรับใช้ในการประเมินผลและตั้งเป้าหมายในกิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาปัจจัยเข้า/ออกใน SCOR-Model เพื่อปรับระบบข้อมูลให้เกิดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานต่อไป และผู้ใช้ SCOR-Model สามารถเรียนรู้หลักปฏิบัติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วผ่านคู่มือ

 

คณะผู้วิจัย
นายโชคชัย ชัยรัตน์ และ ผศ.ดร.พรธิภา องค์คุณารักษ์
ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-252-5000 ต่อ 5363