การจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร ในโซ่อุปทานอาหารและเกษตร
Agro–Industrial Technology Management for Food and Agri–Product Supply Chain
              หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร (Master of science in Agro–Industrial Technology Management) พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองธุรกิจเกษตรและอาหารของประเทศ หลังจากที่เทคโนโลยีการผลิตมาถึงจุดเสถียร การเพิ่มองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ในมุมมองของโซ่อุปทาน ส่งผลต่อประสิทธิผลและประสิทธิภาพของธุรกิจอาหารและเกษตร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน จึงขออธิบายผ่านธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในการผลิตเนยแข็งมอสซาเรลลาจากน้ำนมกระบือ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานดัง แผนภาพที่ 1



ภาพที่ 1 โมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการผลิตเนยแข็งมอสซาเรลลา จากน้ำนมกระบือ
(ที่มา : แผนการตลาดเนยแข็งมอสซาเรลลา, โครงการทุนพัฒนาแผนธุรกิจนวัตกรรม ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย )

คุณลักษณะเฉพาะทางของสินค้าเกษตรและอาหาร

               วัตถุดิบทางการเกษตรมีลักษณะจำเพาะเช่น การมีความแปรปรวนสูง ของคุณภาพและปริมาณ ส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อการควบคุมคุณภาพและปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตขั้นต้นที่มีจำนวนมาก มีความหลากหลายในวิธีการจัดการผลิต รวมทั้งการผันผวนของราคาวัตถุดิบ จากภาพที่ 1 ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์เนยแข็งต้องคำนึงถึง การบริหารจัดการเรื่องปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบน้ำนมกระบือ ซึ่งความยากง่ายในการจัดการขึ้นกับ ขนาดของกำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปด้วย นอกจากเรื่องคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบน้ำนมแล้ว การบริหารจัดการให้คุณภาพน้ำนมและผลิตภัณฑ์เนยแข็งมีคงที่และปลอดภัยตลอดโซ่อุปทาน ยังเป็นอีกประเด็นที่มีความท้าทายเช่นกันสรุปประเด็นที่สำคัญของสินค้าเกษตรและอาหารคือ การมีฤดูกาล คุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงและเสื่อมเสีย และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้นการบริหารจัดการจำเป็นต้องเข้าใจคุณลักษณะพื้นฐานซึ่งมีความจำเพาะเหล่านี้ ของสินค้าและผลิตภัณฑ์

องค์ความรู้ เพื่อการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร

               ภายใต้พื้นฐานความเข้าใจในคุณสมบัติเฉพาะของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร รวมทั้งเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย การเพิ่มองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการภายใต้หลักการตัดสินใจเชิงวิทยาศาสตร์ (Decision Science) ของข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับภาพที่ 2 ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกษตร มีมุมมองเชิงธุรกิจ การบริหารจัดการ และการเป็นผู้ประกอบการ โดยหลักสูตรบนพื้นฐานของการวิเคราะห์เชิงข้อมูล หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยการตัดสินใจและการวางแผน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในขอบเขตงาน 3 ส่วน คือ งานสนับสนุนประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตตลอดโซ่อุปทาน, งานการวิเคราะห์วิจัยเชิงตลาดเพื่อการจัดทำกลยุทธ์ทางธุรกิจ และงานส่วนเสริมสร้างความมั่นคงของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมด้านการเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการองค์กร ด้วยองค์ความรู้ทั้ง 3 ส่วน บนพื้นฐานการตัดสินใจเชิงวิทยาศาสตร์ มีส่วนสนับสนุนให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรเชิงนวัตกรรม และสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศให้เตบโตอย่างยั่งยืน

การสร้างแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์

ภาพที่ 2 โครงสร้างหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร
(ที่มา : www. aitm.agro.ku.ac.th)


คณะผู้วิจัย
ผศ.ดร. ชุติมา ไวศรายุทธ์
ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2562-5093