มหันตภัยเพลี้ยแป้งระบาดกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขในการปลูกมันสำปะหลังในยุคปัจจุบัน
The Disaster of Mealy bug expansion with the way to protect and solve problem of Cassava cultivation currently
                       มันสำปะหลัง เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอันดับที่  3  ของโลกรองจากประเทศไนจีเรียและบราซิล    นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลกมายาวนานกว่า 50 ปี  และสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 4 หมื่นกว่าล้านบาท   เนื่องจากมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทางราชการแนะนำให้เกษตรกรซึ่งสามารถปฏิบัติร่วมกันโดยใช้พันธุ์ดี การจัดการดินดี การปฏิบัติดูแลรักษาดี  มันสำปะหลังในปัจจุบันมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงถึง 5 -10 ตันต่อไร่ได้   เป็นที่ทราบกันดีว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่มีการปรับตัวได้ดีในเกือบทุกสภาวะแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นดินทราย ดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถปลูกพืชไร่ชนิดอื่นได้  แต่ก็สามารถปลูกมันสำปะหลังและให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรได้ดีกว่าการปลูกพืชอื่น ๆ  พื้นที่ของการปลูกมันของประเทศไทยแม้จะเพิ่มพื้นที่และมีผลผลิตหัวสดรวมเพิ่มขึ้นจากปีละประมาณ 20 ล้านตันต่อปีเป็นปีละ 29 ล้านตันต่อปี   ประกอบกับผลผลิตที่ได้เฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 3.7 ตันต่อไร่  ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด   ซึ่งในปัจจุบันความต้องการใช้แป้งจากมันสำปะหลังที่สูงมากทำให้ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตหัวสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.0-4.0 บาทและความต้องการของตลาดยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเนื่องจากผลผลิตหัวสดที่ได้ยังเฉลี่ยต่อไร่นั้นต่ำ ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยยังไม่ถึง 4 ตันต่อไร่ แต่ปัจจัยการผลิตมีราคาที่สูงมาก  เช่น  ค่าเช่าที่  ค่าเตรียมพื้นที่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์  สารปรับปรุงดิน   สารเคมีคุมและกำจัดวัชพืช ค่าแรงงานในการปลูก กำจัดวัชพืชและเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่งต่างๆนั้นมีราคาที่สูงขึ้นมาก  แม้เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงแต่ยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นในระดับ 5 - 10 ตันต่อไร่หรือมากกว่า  เพราะฉะนั้นจะดำเนินการอย่างไรให้มีผลผลิตสูงขึ้น  มีผลตอบแทนในการลงทุนได้ย่างมีประสิทธิภาพ    เกษตรกรในอีกหลายพื้นที่ๆ มีการปลูกมันและมีวิธีการปลูกยังหล้าหลังทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ     จากปัญหาเดิม ๆ ในการแก้ไขปัญหาในการหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ในระดับ 5  ตันต่อไร่ที่มีหลายฝ่ายหาเสียงโฆษณาเอาไว้ยังไม่ได้รับการแก้ไขในปัจจุบันกับมีภัยร้ายเข้ามาสุมรุมกินโต๊ะเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังนั้นก็คือเพลี้ยแป้ง (mealybug) สำหรับในทวีปเอเชียที่ผ่านมายังไม่มีรายงานว่ามีแมลงศัตรูพืชที่ทำความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับมันสำปะหลัง เนื่องจากถูกควบคุมโดยศัตรูตามธรรมชาติ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 พบว่า มีการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูอย่างรุนแรงในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงอย่างเช่นกัมพูชา เวียดนามโดย มีการระบาดอย่างรุนแรงทั้งในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนซึ่งไม่สามารถควบคุมด้วยศัตรูตามธรรมชาติจากตัวห้ำและตัวเบียนได้เหมือนที่ผ่านมาในอดีต ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ผลดี ทำให้เกษตรกรเริ่มวิตกกังวลต่อการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมาก ในบางพื้นที่เกษตรกรต้องลงทุนปลูกมันสำปะหลังหลายครั้ง โดย เกษตรกรบางรายได้หันกลับไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่นแทนเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง

ชนิดของเพลี้ยแป้งแมลงศัตรูในมันสำปะหลัง     เพลี้ยแป้งอยู่ในวงศ์ Pseudococcidae อันดับ Homoptera เป็นแมลงชนิดปากดูด (piercing-sucking type) เพลี้ยแป้งชนิดที่สำคัญที่พบระบาดทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย มี 4 ชนิด ดังนี้คือ

    1. เพลี้ยแป้งสีชมพู (pink mealybug) เพลี้ยแป้งชนิดนี้พบว่าระบาดโดยทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ในปี พ.ศ. 2551 มีการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้อย่างรุนแรง มีผลเสียหายทางเศรษฐกิจในทุกภาคของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ลักษณะเด่นของเพลี้ยแป้งชนิดนี้ก็คือ ลำตัวรูปไข่ ผนังลำตัวสีชมพู มีไขแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ด้านข้างลำตัวมีเส้นแป้งสั้นหรืออาจไม่ปรากฏให้เห็นเลย เส้นแป้งที่ปลายส่วนท้องค่อนข้างสั้น
    2. เพลี้ยแป้งตัวลาย (striped  mealybug)
    3. เพลี้ยแป้งสีเขียว (Madeira mealybug)
    4. เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (Jack-Beardsley mealybug)

                     ลักษณะการระบาดและทำลายของเพลี้ยแป้ง     ปริมาณการระบาดของเพลี้ยแป้งจะพบมากในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งเป็นเวลานาน เพลี้ยแป้งสามารถระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่อื่นได้โดยการติดไปกับคน ท่อนพันธุ์ กระแสลม และมด เป็นพาหนะ 

                     ชีวและนิเวศน์วิทยาของเพลี้ยแป้ง     เพลี้ยแป้งเพศเมียเต็มวัยสามารถขยายพันธุ์ได้ โดย ไม่ต้องผสมพันธุ์จากเพศผู้ มีทั้งสามารถออกลูกเป็นตัว และออกลูกเป็นไข่แล้วฟักเป็นตัวอ่อนได้ แต่ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ โดย วางไข่เป็นเม็ด เวลาวางไข่จะสร้างถุงไข่ไว้ใต้ท้องมีลักษณะเป็นใยคล้ายสำลีหุ้มไข่ไว้อีกชั้นหนึ่ง ถุงไขมีจำนวนไข่ ตั้งแต่ 50-600 ฟอง ใช้เวลาวางไข่ 7 วัน ไข่ มีลักษณะเป็นเม็ดเดียว สีเหลืองอ่อน รูปร่างยาวรี ส่วนตัวอ่อนวัยแรกที่ฟักออกจากไข่ มีสีเหลืองอ่อน ลำตัวยาวรี สามารถเคลื่อนที่ได้ หลังจากนั้นลอกคราบ 3-4 ครั้ง ระยะตัวอ่อนใช้เวลา 18-59 วัน รวมชีพจักรเพลี้ยแป้ง ตั้งแต่ 35-92 วัน                                                                                                                                                            
                     
    แนวทางในการจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง     การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง พบว่า มีการระบาดอย่างรุนแรงชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในภูมิภาคนี้ โดย เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2551 แล้วขยายวงกว้างไปทั่วพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของเทศไทย สาเหตุของการระบาดยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก คาดว่าจะสร้างปัญหาอย่างรุนแรงต่อการผลิตมันสำปะหลังในอนาคตอย่างแน่นอน แนวทางในการจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง ซึ่งไม่ง่ายเหมือนกับการจัดการเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยทั่วไป เนื่องจากเพลี้ยแป้งมีข้อจำกัดที่ลำตัวปกคลุมด้วยไขแป้ง ไข่อยู่ภายในถุงไข่ ส่วนลำต้นของมันสำปะหลังที่ถูกทำลายด้วยเพลี้ยแป้ง จะมีข้อถี่มากและมีการแตกใบเป็นพุ่มหนาเป็นกระจุกเป็นเกราะกำบังอย่างดีให้กับเพลี้ยแป้ง ทำให้การพ่นสารเคมีค่อนข้างยากที่จะถึงตัวและไข่ของเพลี้ยแป้ง              สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมีด้วยกัน 5 แนวทาง 1) ด้านวิธีเขตกรรม 2) การจัดการด้านที่อยู่อาศัย  3) การควบคุมโดยชีววิธี การควบคุมโดยสารสกัดชีวภาพและ 4) วิธีกล และ 5) การควบคุมโดยสารเคมี    ความคิดเห็นส่วนตัวได้เสนอแนวทางที่เกษตรกรที่จะสามารถสู้กับเพลี้ยแป้งได้นั้นเราให้ความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้ในเรื่องการปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธีจะเป็นแนวทางที่จะยั่งยืนที่เราได้ให้คำแนะนำและทดสอบในแปลงผลิตของเกษตรกรในระดับ 1,000-5,000 ไร่แล้วเกษตรกรมีความพอใจในแนวทางที่เราได้แนะนำคือ การจัดการด้านเขตกรรมที่ดี(good cultural practices management) หมายถึง มีการตรวจสภาพดินของแปลงเกษตรกรเอง  การเลือกฤดูปลูก  การปรับปรุงบำรุงดินให้ดีอย่างสม่ำเสมอ การใช้พันธุ์และคัดท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ไม่มีเพลี้ยแป้ง การใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของมันสำปะหลัง  มีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การหมั่นตรวจสอบสภาพแปลง ไขว่คว้าหาเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องจากนักวิชาการที่เชื่อถือได้มาปรับใช้ในแปลงผลิตของเกษตรกรเอง

                        ปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังนั้นไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นพืชที่ปลูกง่ายดูแลรักษาน้อย เนื่องจากในปี 2551/52  2552/53 และ2553/54 ในวงการผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศประสบปัญหาแมลงเข้าทำลายมันสำปะหลัง ได้แก่เพลี้ยแป้ง ในหลายพื้นที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หรือบางรายได้ผลผลิตก็ลดลงมากกว่าร้อยละ 50   หรือจำเป็นต้องขุดก่อนอายุที่เหมาะสมทำให้ถูกกดราคา และได้ผลผลิตต่ำ แม้ในช่วงปลูกต้นฤดูฝนในปี 2552/53 (มีนาคม-พฤษภาคม) เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกมันสำปะหลังไปแล้วประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนานทำให้เพลี้ยแป้งเข้าทำลายอย่างรุนแรงทำให้เกษตรจำเป็นต้องไถทิ้งเพื่อปลูกใหม่หรือปลูกพืชอื่นทดแทนสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก เนื่องจากปัญหาจากที่กระผมได้เดินทางไปทำงานในเรื่องของมันสำปะหลังทั่วประเทศจะมองเห็นปัญหาสำคัญคือ

    1.  ไม่มีใครสนใจเรื่องของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ในระยะแรก
    2. เสื่อและข่าวสารต่างๆ ให้ความสำคัญน้อยมากทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ขาดข้อมูลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ยังปล่อยตามยถากรรมเหมือนการปลูกมันสำปะหลังที่ผ่านมา
    3. แม้ในปัจจุบันทางภาครัฐจะทราบปัญหา(เน้นจ่ายแต่ค่าชดเชย หากเป็นแล้วไถทิ้ง) แต่งบทางด้านงานวิจัยที่จะลงไปจัดการในเรื่องของเพลี้ยแป้งมีน้อยมากและขาดนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปลูกมันสำปะหลังที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้ยังไม่มี    ไม่มีแปลงที่สามารถศึกษาและดูงานได้จริงๆ  
    4. ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 95 ของประเทศมองมันสำปะหลังในแง่ลบเช่นพืชทำลายดินเป็นต้นทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่ในเชิงโฆษณาผลประโยชน์ที่ทำมาจากมันสำปะหลังกลับไม่ค่อยมีใครรู้เช่นส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกมายาวนาน  สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 4 ล้านบาท เป็นแหล่งอาหารและพลังงานที่สำคัญของโลกในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้นทำให้ชาติต่างๆในกลุ่มEU สั่งมันอัดเม็ดไปเลี้ยงสัตว์แล้วส่งเนื้อสัตว์มาจำหน่ายในประเทศไทยราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท เป็นต้น
    5. ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่สามารถที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมหากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจัง เกษตรกรมีผลตอบแทนจากการผลิตมันสำปะหลังสูงขึ้น
    6. ปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องจริงหากไม่หาแนวทางแก้ไขในเรื่องของเพลี้ยแป้งอย่างจริงจังและต่อเนื่องคาดว่าในปีเพาะปลูก2553/54 จะมีผลผลิตเสียหายประมาณร้อยละ40-50 ของผลผลิตจะสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมากและส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังอย่างมากเช่น ลานมัน โรงแป้ง อุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆภายในประเทศ การส่งออกและรายได้ที่จะลดลงจากการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ 



คณะผู้วิจัย
นายประภาส  ช่างเหล็ก
สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                                 
โทร. 081-930-0306