น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่พืชผลิตขึ้นตามธรรมชาติ พบได้ในส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ราก ลำต้น ใบ ผล ดอก เป็นต้น ได้จากการกลั่นด้วยน้ำ การกลั่นด้วยไอน้ำ และการกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ ลักษณะพิเศษของน้ำมันหอมระเหย คือ มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิธรรมดา นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบทางเคมีที่ซับซ้อน สารที่พบในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ สารในกลุ่ม hydrocarbons, phenylpropanes, alcohols, ketones, aldehyde, ether, oxides ester และสารอื่นๆ โดยพืชสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรูพืช และรักษาความชุ่มชื้น ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยต่อมนุษย์ ได้แก่ ใช้ในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบ ลดบวม คลายเครียด หรือกระตุ้นให้สดชื่น เป็นต้น การใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยในทางสุคนธบำบัดนิยมใช้โดยวิธีการสูดดม และวิธีสัมผัสทางผิวหนัง มักพบการใช้น้ำมันหอมระเหยในทาง สุคนธบำบัด มี 2 ประเภท ได้แก่ สุคนธบำบัดเพื่อการรักษาโรค คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบำบัดรักษาโรคและ/หรือการบรรเทาอาการของโรค และสุคนธบำบัดเพื่อความงาม คือ การใช้น้ำมัน หอมระเหยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความงามและการใช้ในเครื่องสำอาง (พิมพร, 2547; ฐาปนีย์, 2550; รัตนา, 2550)
ปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีสมุนไพรและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการศึกษาและวิจัยการสกัดน้ำมันหอมระเหย การควบคุมคุณภาพ การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและ ผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดจากน้ำมันหอมระเหยและสารหอม ซึ่งได้จากพรรณไม้หอมไทย ได้แก่ ดอกซ่อนกลิ่น ดอกจำปี ดอกพุด และดอกลั่นทม และจากสมุนไพร ได้แก่ พลู เสม็ดขาว ทีทรี ยูคาลิปตัส ไพล ขมิ้น พริกไทยดำ อบเชย กานพลู และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสารหอมและน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สเปรย์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในห้องน้ำสาธารณะจากน้ำมันพลู สเปรย์ระงับกลิ่นเท้าจากน้ำมันทีทรี และผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำมันนวดตัวไพล น้ำมันนวดตัวกฤษณา ไม้หอมปรับอากาศ สเปรย์ปรับอากาศ น้ำมันหยดตะเกียง เป็นต้น
|
|
ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดตัว (Body massage oil) |
ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดตัวไพล ( Plai body massage oil) |
|
|
ผลิตภัณฑ์ไม้หอมปรับอากาศ จากน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ |
ผลิตภัณฑ์หยดเตาหอมระเหย |
|