น้ำมันหอมระเหย จัดเป็นสารอินทรียที่พืชสร้างขึ้นเพื่อให้กลิ่นหอมและสารที่ระเหยง่าย โดยพืชที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้จะมีเซลล์พิเศษ เพื่อสร้างและเก็บกักน้ำมันหอมะเหย น้ำมันหอมระเหยพบได้ตามส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ราก ลําต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด น้ำมันหอมระเหยถูกนำมาใช้ในการแต่งกลิ่น ในอุตสาหกรรมเครื่องสําอาง เช่น น้ำมันกุหลาบ น้ำมันกระดังงา น้ำมันมะลิ น้ำมันผิวส้ม นอกจากนี้ยังมีการใช้ในสุคนธบําบัดซึ่งเป็นการนําพืชหรือสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมาใช้ประโยชน์ในการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผิวหนังในรูปแบบครีม เจล โลชั่น และโทนเนอร์ และด้วยความหลากหลายของคุณสมบัติเฉพาะของน้ำมันหอมระเหยทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ มีสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น บำรุงผิวกาย ผิวหน้า แต่งหน้าและแต่งตา ทำความสะอาดร่างกาย และเส้นผม เป็นต้น นอกจากนี้สารสกัดจากสมุนไพรบางชนิดยังสามารถช่วยทำความสะอาดและสร้างความสมดุลให้กับผิวหนังได้ โดยผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าจะใช้ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยไม่เกิน 2% ส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับผิวกายใช้ความเข้มข้นได้มากกว่า 2% แต่ไม่เกิน 3% เช่น การใช้น้ำมันหอมระเหยกระดังงาที่สามารถช่วยลดความมันบนใบหน้าได้ เป็นต้น
การนำน้ำมันหอมระเหยมากักเก็บในอนุภาคขนาดเล็กมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคงตัว ทำให้ออกฤทธิ์ได้นาน และเป็นการแก้ปัญหา Incompatibility ของตำรับ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการแพ้และระคายเคือง เป็นการช่วยเพิ่มการดูดซึมผ่านผิวหนังและป้องกันการดูดซึมของน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่กระแสโลหิต อนุภาคขนาดเล็กที่มีการนำมาใช้เก็บกักน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Microcapsule, nanovesicular system และ molecular complexation เป็นต้น
จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทีมคณะวิจัยของสถาบันผลิตผลเกษตรฯ ที่ผ่านมา ได้นำน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม น้ำมันเปลือกส้ม น้ำมันมะกรูด น้ำมันแพทชูรี และน้ำมันเสม็ดขาว มาพัฒนาเป็นนาโนสเปรย์ป้องกันยุงด้วยการพัฒนาเทคนิคการเตรียมน้ำมันหอมระเหยผ่านเครื่องไมโครฟลูอิกไดเซชันด้วยแรงดันสูงและจำนวนรอบที่สามารถลดขนาดของอนุภาคอยู่ระหว่าง 80-200 นาโนเมตร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการทดสอบ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านระยะเวลาในการป้องกันยุงและความสามารถในการป้องกันยุงได้ยาวนานขึ้น
แสดงกรรมวิธีเตรียมนาโนสเปรย์ป้องกันยุง
|
|
|
ส่วนที่ละลายในน้ำมัน |
น้ำมันหอมระเหย |
นำมาผสมให้เข้ากัน |
|
|
|
ผ่านเครื่องไมโครฟลูอิกไดเซชัน |
วัดขนาดอนุภาคด้วย Zetasizer |
นาโนสเปรย์ป้องกันยุง |
การเก็บกักน้ำมันหอมระเหยในอนุภาคขนาดนาโนมีข้อได้เปรียบหลายประการมากมาย แต่ก็มีข้อที่ควรคำนึงถึงที่สำคัญ คือ ชนิดของน้ำมันหอมระเหย ประเภทของอนุภาคขนาดนาโน และจุดประสงค์ของการนำอนุภาคขนาดนาโนที่เก็บกักน้ำมันหอมระเหยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาถึงวิธีการหรือสืบค้นข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาการเก็บกักน้ำมันหอมระเหยในอนุภาคขนาดนาโนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้การนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีจุดขายที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด
|