สถานีวิจัยปากช่อง เป็นสถานีที่วิจัยงานทางด้านไม้ผลเขตร้อนของมหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์มากว่า 50 ปี กล้วยเป็นไม้ผลที่ทางสถานีฯให้ความสนใจได้รวบรวมและทำงานวิจัยมาช้านาน ในวาระครบรอบ 50 ปีของสถานีฯ ในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ทางสถานีฯได้เปิดตัวกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ “กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50” ที่เกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองที่เก็บรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีฯกว่า 10 สายพันธุ์ โดยพบว่าสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้นี้มีคุณสมบัติที่เหมาะในการปลูกเพื่อการค้า ลักษณะเด่นคือ เครือใหญ่น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม(ไม่รวมก้านเครือ) จำนวนหวีมากกว่า 10 หวี จำนวนผลต่อหวีประมาณ 18 ผล ผลกล้วยใหญ่อ้วนดีน้ำหนักผลโดยเฉลี่ยประมาณ 140 กรัม/ผล ไส้กลางไม่แข็งออกสีเหลืองเนื้อแน่นเมื่อสุกมีความหวานประมาณ 26 %Brix แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกลับการดูแลรักษาเนื่องจากกล้วยเป็นไม้ผลที่ตอบสนองได้ดีกลับสภาพอากาศ ดินและปุ๋ยเป็นอย่างมาก หากการดูแลรักษาไม่ดีขาดน้ำ ขาดปุ๋ย สภาพพื้นที่แห้งแล้งเกินไป กล้วยพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตเพียง 7-8 หวีเท่านั้นแต่ผลยังอ้วนใหญ่ไส้กลางไม่แข็งเนื้อยังแน่นเหมือนเดิม ดังนั้นการนำกล้วยสายพันธุ์นี้ไปปลูกให้ได้ได้ผลคุ้มค่าสูงสุดจึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาที่ดีควบคู่ไปด้วย
ต้นกล้วยที่ได้รับจากสถานีฯจะเป็นต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีความสูงมากกว่า 15 ซม. ซึ่งสามารถลงปลูกในแปลงปลูกได้เลย ข้อดีของการใช้ต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ ขนย้ายต้นพันธุ์สะดวก ต้นพันธุ์ปลอดจากโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในปัจจุบันได้แก่โรคตายพราย และหนอนกอ การเก็บเกี่ยวทำได้พร้อมกันจำนวนมาก ส่วนการไห้ผลผลิตจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ขึ้นอยู่กับขนาดต้นพันธุ์และการดูแลรักษา
การปลูกและดูแลรักษา
ใช้ต้นกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีขนาดตั้งแต่ 15 ซม.ขึ้นไป การเตรียมแปลงให้เตรียมหลุมขนาด 50x50x50 ซม.(หลุมปลูกขนาดใหญ่ การขึ้นโคนของต้นกล้วยที่ทำให้ต้นกล้วยล้มจะช้ากว่าหลุมขนาดเล็ก) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-3 กก./หลุม (ห้ามใช้ขี้วัวเพื่อป้องกันหนอนกอระบาด) ปลูกต้นกล้วยกลบดินให้สูงจากโคนประมาณ 5 ซม. รดน้ำให้ชุ่มและอย่าให้น้ำขังเกิน 3 วันต้นจะตาย เมื่อต้นโตครบ 1 เดือนให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 100-150 กรัม/ต้น โรยรอบโคนและรดน้ำตาม ในช่วงนี้ต้องถากหญ้ารอบโคนให้สะอาดและรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอต้นกล้วยจะตั้งต
ัวได้เร็ว เมื่อต้นกล้วยเริ่มแตกใบใหม่และลอกกาบเก่าทิ้งให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรอบโคนและสับปุ๋ยผสมกับดิน หรือใส่ปุ๋ยสูตรเสมอตามอัตราข้างต้น จนครบเดือนที่ 4 ต้นกล้วยจะเจริญเติบโตสูงใหญ่เทียบเท่ากับหน่อพันธุ์ ในเดือนนี้ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ถ้าไม่มีใส่ปุ๋ยสูตรเสมอก็ได้ และจะใส่ทุกๆ 3 เดือนจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การให้น้ำจะให้อาทิตย์ละ 1-2 ครั้งตามสภาพอากาศ การกำจัดวัชพืชหลังจาก 4 เดือนสามารถใช้สารเคมีจำจัดวัชพืชกลุ่ม พาราควอต ได้แต่พยายามอย่าให้โดนใบโดยเฉพาะใบอ่อนเพราะจะทำให้ชงักการเจริญเติบโตหรือถึงตายได้ การขยายพันธุ์สามารถใช้หน่อจากต้นปลูกขยายต่อไปได้เลย
ต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 สามารถซื้อหรือสั่งจองได้ที่สถานีวิจัยปากช่อง
อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทร. 044-311-796 แฟกซ์ 044-313-797 และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เท่านั้น
เทคนิคการปลูกต้นกล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ผลดี
โดย อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส
-
คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 ซม.ขึ้นไปหรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 3.5 ซม. หากต้นเล็กกว่านี้จะพบปัญหาเรื่องการดูแล และอัตราการตายสูง
-
เตรียมแปลงปลูกระยะ 3x3 หรือ 4x4 เมตร ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 ซม. เพื่อให้ระบบรากเดินดี ขึ้นโคนช้า(โคนลอย) ระยะปลูกขึ้นกับการดูแลรักษา ถ้าดูแลดีกอกล้วยจะใหญ่ควรปลูกระยะ 4x4 เมตร หนึ่งกอควรไว้เพียง 4 ต้นเท่านั้น
-
คลุกเคล้าปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กก.รองก้นหลุมขึ้นมาประมาณ 30 ซม. แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดินและควรลองก้นหลุมด้วยฟูราดานป้องกันหนอนกอกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อหลุม
-
ปลูกเสร็จให้น้ำตามทันทีให้ชุ่มชื้นพอเพียง ไม่เช่นนั้นต้นจะเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว บางต้นตาย บางต้นแตกต้นใหม่ขึ้นแทนทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
-
ในระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก หากเป็นการให้น้ำแบบฝอย(มินิสปริงเกอร์) จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม/ต้นหลังปลูก ได้ 1 เดือน และ เดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน
-
เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าที่ขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้น และฉีดยาฆ่าหญ้ากลุ่มพาราควอต ระหว่างแถว ต้องระวังอย่าให้ละอองยาโดนต้นกล้วยจะทำให้ต้นชะงักและตายได้
-
เดือนที่ 4 .การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้นใกล้เคียงปลูกจากหน่อพันธุ์(ขึ้นกับขนาดต้นปลูกเริ่มแรกถ้าสูง 15 ซม.ขึ้นไปจะโตทันกัน) เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลทำเช่นเดียวกับการปลูกด้วยหน่อโดยให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม/ต้นในเดือนที่ 4 และ 5 เดือน ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน และงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลีถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้งจนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
-
เดือนที่ 6 หรือ 7 กล้วยเริ่มแทงหน่อ และสะสมอาหารเพื่อการตกเครือ
-
เดือนที่ 9 กล้วยเริ่มแทงปลี การแทงปลีหรือตกเครือจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรกและการดูแลรักษา หากต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 ซม.ขึ้นไปหรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 4.0 ซม. การตกเครือใกล้เคียงกับหน่อพันธุ์ขนาด 1 เมตร หากต้นมีขนาดใหญ่กว่านี้การตกเครือจะเร็วกว่าหน่อพันธุ์ และหากเล็กกว่านี้การตกเครือจะช้ากว่าหน่อพันธุ์ อายุเครือกล้วยจากแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 4 เดือนเท่าหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วไป
-
การปลูกกล้วยจากต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องเอาใจใส่ในช่วง 4 เดือนแรกให้ดีแล้วผลที่ออกมาจะคุ้มค่ากับการลงทุน และข้อดีของต้นกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้แก่ ขนย้ายต้นสะดวกได้ต้นจำนวนมาก ต้นพันธุ์ปลอดจากโรค และแมลง อายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน เจริญเติบโตเร็ว เก็บต้นพันธุ์ไว้ได้นานหากยังไม่พร้อมปลูกลงแปลง เป็นต้น
|