มะม่วงสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศที่สถานีวิจัยปากช่อง
Thai Mangoes and Foreign Mangoes  at Pakchong Research Station
                มะม่วงเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของบ้านเรา นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั้งปลูกเป็นสวนหลังบ้าน และปลูกเป็นการค้า   สามารถเจริญเติบโตได้ทั่วทุกภาคของประเทศ สถานีวิจัยปากช่องได้เล็งเห็นความสำคัญของมะม่วงจึงได้มีงานเก็บรวบรวมพันธุ์มะม่วงทั้งพันธุ์การค้าและพันธุ์พื้นเมืองของไทยและพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ  โดยได้รวบรวมมะม่วงพันธุ์ไทยไว้จำนวน 49 พันธุ์ และพันธุ์ต่างประเทศ  37 พันธุ์  เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานปรับปรุงพันธุ์มะม่วง  
ในกลุ่มมะม่วงพันธุ์ไทยนั้น เมื่อแบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ 3 ประเภทดังนี้
  1. มะม่วงรับประทานผลสุก  มะม่วงที่เก็บรวบรวมพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงรับประทานสุก  มีเปอร์เซ็นต์ความหวานอยู่ระหว่าง 13-22 องศาบริกซ์  มะม่วงรับประทานสุกที่เป็นพันธุ์การค้าเช่น น้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก อกร่องทอง หนังกลางวัน แรด ทองดำ โชคอนันต์ เป็นต้น    มะม่วงรับประทานสุกที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เช่น กะล่อนทอง แก้มแดง ตลับนาค ตาเตะหลาน ทะวาย นวลจันทร์ มะปราง หอระฆัง เป็นต้น
น้ำดอกไม้สีทอง
ตลับนาค
  1. มะม่วงรับประทานผลดิบหรือมะม่วงมัน   ในสถานีวิจัยปากช่องมีมะม่วงมันที่เป็นพันธุ์การค้าและมะม่วงมันพันธุ์พื้นเมือง เช่น เขียวเสวย เขียวไข่กา แขกขายตึก เตี้ยทอง พิมเสนมัน ฟ้าลั่น  แฟบ มันขุนศรี มันเทโพ มันหวาน มันหมู ลิ้นงูเห่า สายฝน หนองแซง  เป็นต้น 
เขียวเสวย
มันขุนศรี
  1. มะม่วงแปรรูป  พันธุ์มะม่วงที่นิยมนำมาทำมะม่วงแปรรูป ได้แก่ มะม่วงแก้ว  มะม่วงสามปี  ตลับนาค

               มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับมะม่วงพันธุ์ไทย จะมีความต้านทานต่อโรค และแมลง ดีกว่าพันธุ์ไทยเนื่องจากมีเปลือกหนา  เหมาะต่อการขนส่ง  การติดผลก็ดกกว่าพันธุ์ไทย  รูปร่างผลส่วนใหญ่เป็นทรงกลม มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีม่วง  แต่คุณภาพในการรับประทาน มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศมีกลิ่นขี้ไต้แรง  ส่วนมะม่วงพันธุ์ไทยมีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นขี้ไต้ มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศที่น่าสนใจได้แก่  อัลฟองโซ  เออร์วิน เคนซิงตัน ปาล์มเมอร์  ทอมมีแอทกินส์

ทอมมีแอทกินส์
เออร์วิน

 

คณะผู้วิจัย
น.ส.พินิจ กรินท์ธัญญกิจ และน.ส.ขวัญหทัย ทนงจิตร
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-3218646