ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์ใหม่
KBSC 605 Non-Detasseled Baby Corn Single-Cross Hybrid, KBSC 605

                การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนแบบเดิมที่ใช้พันธุ์เพศผู้ปกติ และต้องถอดช่อดอกตัวผู้ เพื่อเร่งให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น เพิ่มผลผลิต และป้องกันการผสมพันธุ์ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองแรงงานและเวลา และอาจเป็นผลให้ผลผลิตลดลงเนื่องจากสูญเสียใบที่ถอดติดไปด้วย  ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดช่อดอกตัวผู้เพื่อผลิตข้าวโพดฝักอ่อนสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป  โดยใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมันเนื่องมาจากไซโตพลาสซึมชนิด C (C cytoplasmic male sterility, C-cms)   ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวเพศผู้เป็นหมันพันธุ์ KBSC 605 พัฒนามาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ข้าวโพด    ฝักอ่อน Ki 28 cms กับสายพันธุ์แท้ PACB 421-S14-223 และเผยแพร่พันธุ์ นี้สู่โรงงานแปรรูปในปี พ.ศ. 2550

               พันธุ์ KBSC 605 เป็นพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่มีลักษณะเพศผู้เป็นหมัน 100% ทำให้เกษตรกรไม่ต้องถอดยอด ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 1,049 กก./ไร่, น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 188 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดมาตรฐาน 164 กก./ไร่ น้ำหนักฝักเสีย 24 กก./ไร่ จำนวนฝักดี 26,052 ฝัก/ไร่ (90.61%) จำนวนฝักเสีย 2,701 ฝัก/ไร่ (9.39%) นอกจากนี้ ยังให้อัตราแลกเนื้อ (น้ำหนักฝักทั้งเปลือก/น้ำหนักฝักปอกเปลือก) 5.65 สูงกว่าพันธุ์ G-5414 ซึ่งให้อัตราแลกเนื้อ 7.19  พันธุ์ KBSC 605 มีอายุเก็บเกี่ยววันแรก 49.5 วัน ให้จำนวน 1.77 ฝัก/ต้น ฝักอ่อนสีเหลือง ปลายแหลม ไข่ปลาเรียงแถวสม่ำเสมอ มีความสูงต้น 190 ซม. ความสูงฝัก 104 ซม. ต้านทานการหักล้ม และโรคทางใบ มีลักษณะต้นที่ดี และให้น้ำหนักต้นสด 6,496 กก./ไร่  พันธุ์ KBSC 605 ให้น้ำหนักฝักดี จำนวนฝักดี เปอร์เซ็นต์ฝักดี อัตราแลกเนื้อ ลักษณะฝักอ่อน และน้ำหนักต้นสด ส่วนใหญ่ดีกว่าพันธุ์ลูกผสมการค้า PAC 271, G-5414 และ CPB 468   

               พันธุ์ KBSC 605 มี ฟอสฟอรัส, Vitamin B1 และ Vitamin B2 ใกล้เคียงกับข้อมูลของ Yodpet (1979) ส่วน Vitamin B3, แคลเซียม และเหล็ก สูงกว่าของ Yodpet (1979) แต่มี Vitamin C ต่ำกว่า  
                                                               
จากผลการวิจัยโครงการทดสอบพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด KBSC 605 สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป สรุปผลได้ดังนี้

                เกษตรกรมีความพึงพอใจในพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด KBSC 605 ที่ให้ผลผลิตสูง ได้น้ำหนักฝักสดหลังปอกเปลือกในช่วง 108 - 377 กิโลกรัมต่อไร่ เฉลี่ย 199 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นใหญ่ ให้น้ำหนักต้นสดต่อไร่สูง ใช้เป็นอาหารหยาบเพื่อเลี้ยงโคเนื้อและโคนม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายต้นหลังเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ พันธุ์ KBSC 605 มีขั้วฝักไม่เหนียว ทำให้หักง่าย ใบไม่บาดตา ปอกเปลือกง่าย และไหมไม่ติดฝัก เก็บเกี่ยวฝักได้ทันทีที่ไหมออก ไม่ต้องรอให้ไหมยาว 2-3 นิ้ว เหมือนพันธุ์อื่นๆ

               บริษัท แอกโกร-ออน จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในพันธุ์นี้ที่มีลักษณะฝักปลายไม่แหลมเรียวมาก ทำให้ปลายฝักไม่หักและช้ำง่าย มีน้ำหนักต่อฝักสูงกว่าพันธุ์อื่น ฝักมีสีเหลือง ไข่ปลา (รังไข่) เรียงตรง และมีขนาดฝักตรงความต้องการของตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ มีความต้องการเมล็ดพันธุ์นี้เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และนำมาแปรรูปบรรจุกระป๋องและขวดแก้วเพื่อการส่งออก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ปีละประมาณ 5-10 ตัน นอกจากนี้ เกษตรกรลดค่าแรงงานที่ต้องถอดยอด คิดเป็นเงิน 150 บาทต่อไร่ (คิดเป็นร้อยละ 4 ของต้นทุนต่อไร่) ช่วยลดแรงงาน และการสูญเสียเวลาที่ต้องคัดเกรดฝักมาตรฐาน   เนื่องจากพันธุ์นี้มีน้ำหนักฝักปอกเปลือกมาตรฐาน และมีอัตราแลกเนื้อสูงกว่าพันธุ์เดิม ร้อยละ 10-20 ทำให้ได้ผลผลิตฝักปอกเปลือกมาตรฐานเพิ่มขึ้น 22-44 กิโลกรัม เป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 440-880 บาทต่อไร่

               นอกจากนี้ การผลิตเมล็ดพันธุ์ KBSC 605 ใช้วิธีการปลูกแถวสายพันธุ์พ่อ : สายพันธุ์แม่ ในอัตราส่วน 1 : 4  และไม่ต้องถอดยอดในแถวสายพันธุ์แม่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเมล็ดพันธุ์

               ผลการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยโครงการการทดสอบพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด KBSC 605 สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป ในโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี 2551 และทุนอุดหนุนการวิจัยโครงการการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์ KBSC 605 สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง ปี พ.ศ. 2552





คณะผู้วิจัย
ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1 นางชไมพร เอกทัศนาวรรณ2 นายนพพงศ์ จุลจอหอ1 และนายฉัตรพงศ์ บาลลา1
1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ฝ่ายฝึกอบรม สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 044-361771-6