การใช้กากเมล็ดสบู่ดำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิตข้าวโพดหวาน
Use of jatropha seed cake as organic fertilizer for sweet corn production

                      กากเมล็ดสบู่ดำ คือ ส่วนที่เหลือจากการสกัดน้ำมันออกจากเมล็ดสบู่ดำแล้ว จากการนำกากเมล็ดสบู่ดำไปวิเคราะห์หาธาตุอาหาร พบว่า กากเมล็ดสบู่ดำมีธาตุอาหารต่าง ๆ ได้แก่ ธาตุไนโตรเจนทั้งหมด 3.55% ฟอสฟอรัสทั้งหมด 1.47% โปแตสเซียมทั้งหมด 1.39% แคลเซียมทั้งหมด 0.68% แมกนีเซียมทั้งหมด 0.64% มีค่าความเป็นกรดด่าง 6.6 มีค่าการนำไฟฟ้า 1.77 เดซิซีเม็น/เมตร ซึ่งค่าการนำไฟฟ้าเป็นค่าที่แสดงถึงระดับความเค็มของกากเมล็ดสบู่ดำที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยซึ่งจะมีผลต่อความเค็มของดิน ค่าการนำไฟฟ้าที่มากกว่า 4 เดซิซีเม็น/เมตร จะทำให้ดินมีความเค็มซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้มีผู้รายงานว่ากากเมล็ดสบู่ดำยังมีธาตุอาหารอื่น ๆ อีก เช่น ธาตุเหล็ก 0.0176 % แมงกานีส 0.0064 % ทองแดง 0.0023 % และซัลเฟอร์ 0.02 % จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้กากเมล็ดสบู่ดำเหมาะสำหรับที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เพราะมีธาตุอาหารสำหรับพืชสูงใกล้เคียงกับปุ๋ยมูลไก่ ซึ่งในมูลไก่มีธาตุไนโตรเจน 3.04 %  ฟอสฟอรัส 6.27 %  และโปแตสเซียม 2.08 %  แต่ วิทยาและคณะ (2551) ได้รายงานว่า กากเมล็ดสบู่ดำมีสารพิษฟอร์โบลเอสเตอร์ (phorbol esters) ในปริมาณ 1.03 มิลลิกรัม/กรัม หรือ 0.10 % (w/w) ซึ่งสารฟอร์โบลเอสเตอร์เป็นสารที่ส่งเสริมให้เกิดเนื้องอก การอักเสบ และการบวมของผิวหน้าเมื่อสัมผัสกับสารนี้

                      ผลจากงานทดลองที่ผ่านมามีผู้ใช้กากเมล็ดสบู่ดำเป็นปุ๋ยในการผลิตผักกระหล่ำปลี พบว่า การใส่กากเมล็ดสบู่ดำอัตรา 1600 กก./ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตกระหล่ำปลีเพิ่มขึ้นจาก 26.9 ตัน/ไร่ เป็น 57.3 ตัน/ไร่ (Washington State University, 2002)  และมีการทดลองใช้ในหญ้าไข่มุกที่ประเทศมาลี โดยใส่กากเมล็ดสบู่ดำอัตรา 800 กก./ไร่ เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยเคมี (ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟต 16 กก./ไร่ และ ยูเรีย 8 กก./ไร่) และการใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 130.4 กก./ไร่  พบว่า หญ้าไข่มุกที่มีการใส่ปุ๋ยคอกให้ผลผลิต 100.8 กก./ไร่  การใส่ปุ๋ยเคมีให้ผลผลิต 181.6 กก./ไร่ และการใส่กากเมล็ดสบู่ดำให้ผลผลิต 218.6 กก./ไร่ (Heller, 1996)  

                      ดังนั้นจึงได้ทดลองนำกากเมล็ดสบู่ดำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิตข้าวโพดหวานเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ปุ๋ยในระบบเกษตรอินทรีย์ในการปลูกข้าวโพดหวาน อีกทั้งเป็นการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง ในการศึกษาครั้งนี้ใช้พันธุ์ข้าวโพดหวานอินทรี 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ใช้ในการทำน้ำนมข้าวโพดของไร่สุวรรณ โดยทดลองใส่กากเมล็ดสบู่ดำ 3 อัตรา คือ ใส่กากเมล็ดสบู่ดำที่อัตรา 620, 800, และ 1,000 กก./ไร่ เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ วิธีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำโดยใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าด้วยปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) อัตรา 37.5 กก./ไร่ เมื่อข้าวโพดหวานอายุได้ 30 วัน  ส่วนการใส่กากเมล็ดสบู่ดำโดยคลุกลงในดินก่อนปลูกข้าวโพดหวานครึ่งอัตราและใส่ครั้งที่ 2 อีกครึ่งอัตราเมื่อข้าวโพดหวานอายุได้ 30 วัน โดยโรยเป็นแถบข้างต้นข้าวโพดหวานแล้วกลบดิน ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  ระยะเวลา 3 ปี มีการปลูกทดลองซ้ำในพื้นที่เดิมทั้งสิ้น 6 ฤดูปลูก ได้แก่ ฤดูปลูกที่ 1 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 25 เมษายน – 6 กรกฎาคม 2550  ฤดูปลูกที่ 2 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 10 กันยายน – 26 พฤศจิกายน 2550  ฤดูปลูกที่ 3 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 25 มกราคม –17 เมษายน 2551 ฤดูปลูกที่ 4 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 17 มิถุนายน –27 สิงหาคม 2551  ฤดูปลูกที่ 5 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 5 กุมภาพันธ์ – 20 เมษายน 2552  และฤดูปลูกที่ 6 ทำการปลูกทดลองระหว่าง 17 มิถุนายน – 23 สิงหาคม 2552

                      ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการใส่กากเมล็ดสบู่ดำที่อัตรา 1,000 กก./ไร่ ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกเฉลี่ยจาก 6 ฤดูปลูก เท่ากับ 2,112 กก./ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำที่ให้ผลผลิตฝักสดเท่ากับ 2,204 กก./ไร่  เมื่อทำการคัดขนาดฝักตามมาตรฐาน คือ ฝักเกรด 1 หมายถึงฝักสดที่มีความยาวฝักตั้งแต่โคนฝักไปจนถึงปลายฝักที่มีเมล็ดติดอยู่โดยมีความยาวฝักตั้งแต่ 15 ซม. ขึ้นไป  ฝักเกรด 2 หมายถึงฝักสดที่มีความยาวฝักตั้งแต่โคนฝักไปจนถึงปลายฝักที่มีเมล็ดติดอยู่โดยมีความยาวฝักระหว่าง 13-15 ซม. และฝักสดตกเกรดเป็นฝักสดที่เหลือจากการคัดเกรด ได้แก่ ฝักที่ไม่ได้ขนาด ฝักอ่อน และฝักเสียจากการเข้าทำลายของโรค แมลง และหนู การใส่ปุ๋ยเคมีให้ฝักเกรด 1 และ เกรด 2 มากกว่าการใส่กากเมล็ดสบู่ดำ 10.8% และ 30.3% ตามลำดับ และมีฝักตกเกรดน้อยกว่า 41.4%  การเจริญเติบโตด้านความสูง การออกไหม และอายุการเก็บเกี่ยวของข้าวโพดหวานไม่แตกต่างกันระหว่างการใส่ปุ๋ยเคมีและการใส่กากเมล็ดสบู่ดำ

                      จากปัญหาที่กากเมล็ดสบู่ดำมีสารฟอร์โบลเอสเตอร์ที่อาจทำให้มีการตกค้างในเมล็ดข้าวโพดหวานซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  ดังนั้นจึงได้นำเมล็ดข้าวโพดหวานจากฝักสดที่เก็บเกี่ยวมาจาก 2 ฤดูปลูก ได้แก่ ฤดูปลูกที่ 4 และ 6 ไปวิเคราะห์หาสารฟอร์โบลเอสเตอร์โดยใช้เครื่อง High Performance Liquid Chromatoghaphy (HPLC) ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผลจากการวิเคราะห์พบว่าไม่มีสารฟอร์โบลเอสเตอร์ตกค้างในเมล็ดข้าวโพดหวานที่เก็บเกี่ยวจากแปลงที่มีการใส่กากเมล็ดสบู่ดำทั้ง 2 ฤดูปลูก ผลการทดลองครั้งนี้ให้ผลสอดคล้องกับงานทดลองของ รยากรและวิทยา (2552) ที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กากสบู่ดำเป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกคะน้า มะเขือเทศ และมันเทศ ซึ่งพบเช่นเ    จากการทดลองครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้กากเมล็ดสบู่ดำที่อัตรา 1,000 กก./ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตข้าวโพดหวานฝักสดทั้งเปลือกใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ และไม่มีสารฟอร์โบลเอสเตอร์ตกค้างอยู่ในข้าวโพดหวานฝักสด ทำให้แน่ใจได้ว่าสามารถใช้กากเมล็ดสบู่ดำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในการผลิตข้าวโพดหวานฝักสดได้และปลอดภัยต่อผู้บริโภค  ผลดีของการใส่กากเมล็ดสบู่ดำติดต่อกัน 6 ฤดูปลูก ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ได้ผลผลิตฝักสดที่มีฝักขนาดมาตรฐานมากกว่าการใช้กากเมล็ดสบู่ดำเพียงอย่างเดียว  ดียวกันว่าไม่มีสารฟอร์โบลเอสเตอร์ตกค้างในพืชผักที่ทดลองรวมทั้งในดินปลูก

                      การใส่ปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าวโพดหวานติดต่อกัน 6 ฤดูปลูก มีผลทำให้ดินมีความเป็นกรดมากขึ้น (pH = 6.3) เมื่อเปรียบเทียบกับดินก่อนปลูกที่มีค่าเป็นด่างเล็กน้อย (pH = 7.5)  ส่วนการใส่กากเมล็ดสบู่ดำทำให้ค่า pH ลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับ pH ที่เป็นกลาง (pH = 7.1)    การใส่กากเมล็ดสบู่ดำที่อัตรา 1,000 กก./ไร่ ติดต่อกัน 6 ฤดูปลูก ทำให้มีอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.78%  ค่าการนำไฟฟ้าของดินอยู่ที่ 0.51 เดซิซีเม็น/เมตร

                      รายละเอียดของงานทดลองนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวิจัยแม่บทข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 4 เรื่อง การเพิ่มผลผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่จัดขึ้นในวันที่ 17-19 มิถุนายน 2553 ณ โรงแรมลพบุรีอินน์ รีสอร์ท จังหวัดลพบุรี ในหัวข้อเรื่องผลการใช้กากเมล็ดสบู่ดำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต่อผลผลิตข้าวโพดหวาน หน้า 156-167  ซึ่งงานทดลองนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รูปที่  1 ผลสบู่ดำ

รูปที่  2 เมล็ดสบู่ดำ

รูปที่  3 กากเมล็ดสบู่ดำ

รูปที่ 4 ข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรี 2

คณะผู้วิจัย
น.ส.แอนนา สายมณีรัตน์ นายสุขุม โชติช่วงมณีรัตน์ และน.ส.พจนีย์ สุภามงคล
สถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์
โทร 0-4436-1770-6