ข้าวฟ่างหวานลูกผสมที่มีศักยภาพของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ
A high potential sweet sorghum hybrid of the National Corn and Sorghum Research Center
                ข้าวฟ่างหวาน (sweet stalk sorghum or sugar sorghum) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorghum bicolor จัดอยู่ใน Family Poaceae, และ Genus Sorghum เป็นพืชไร่ที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายคือ เมล็ดใช้เป็นอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์  ลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยตัดให้สัตว์กินต้นสด หรือทำเป็นหญ้าหมัก น้ำคั้นจากลำต้น ใช้ทำน้ำเชื่อม น้ำตาล หรือหมักเป็นแอลกอฮอล์ เหล้า หรือน้ำส้มสายชู ส่วนเศษเหลือจากการหีบเอาน้ำหวานแล้ว ใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำเชื้อเพลิง หรือทำเป็นแผ่นฉนวนกันความร้อน ข้าวฟ่างหวานมีการเพาะปลูกทั่วไปทั้งในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน และเขตอบอุ่น ในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา และ อาฟริกา ประเทศไทยมีการเพาะปลูก และใช้ประโยชน์จากข้าวฟ่างหวานน้อยมาก เนื่องจากมีพืชไร่หลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวฟ่างหวาน แต่ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการปลูกและผลิตข้าวฟ่างหวานมานานกว่า 30 ปีแล้ว ด้วยเห็นว่าข้าวฟ่างหวานเป็นพืชทางเลือกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นพืชอาหารสัตว์ และพืชทดแทนพลังงาน ดังนั้น ในช่วงที่โลกกำลังจะขาดแคลนพลังงานจากฟอสซิล นักวิจัยจึงมองหาแหล่งพลังงานทดแทน รวมถึงพืชพลังงานชนิดต่างๆ ด้วย ข้าวฟ่างหวานจึงได้รับความสนใจมากขึ้น

 

               การเพิ่มผลผลิต และคุณภาพของข้าวฟ่างหวานให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมร่วมกับการใช้พันธุ์ลูกผสมเป็นปัจจัยสำคัญ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติจึงได้ทำการพัฒนาข้าวฟ่างหวานสายพันธุ์เพศผู้เป็นหมันแบบ cytoplasmic genetic male sterile (A-line) เพื่อใช้เป็นสายพันธุ์แม่ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสม จำนวน 10 สายพันธุ์ เพื่อสร้างข้าวฟ่างหวานลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง โดยทำการผสมพันธุ์กับพันธุ์ทดสอบ (tester)  2 พันธุ์คือ KKU 40 และ Urja ปลูกทดสอบลูกผสมชั่วที่ 1 เปรียบเทียบกับพันธุ์พ่อ (male parent lines) และพันธุ์แนะนำ (recommended variety) 7 พันธุ์ คือ สุพรรณบุรี 1, Cowley, Keller, Rio, Wrey, Suwan sweet #1, Suwan sweet #4 และ Suwan sweet #5 ในฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2553 (ธันวาคม 2552 – มีนาคม 2553) พบว่าคู่ผสม (01xSW1)A x Urja และ (01xSW1)A x KKU 40 เป็นลูกผสมที่มีศักยภาพโดยเป็นลูกผสมที่มีอายุวันออกดอกเร็ว เฉลี่ย 59 และ 58 วัน มีความหวานของน้ำคั้นจากลำต้น 16.00 และ 15.07 เปอร์เซ็นต์บริกซ์ ผลผลิตต้นสดที่ลอกใบออก 54.24 และ 56.04 ตันต่อเฮกตาร์ ผลผลิตเมล็ด 4.89 และ 3.81 ตันต่อเฮกตาร์ และปริมาณน้ำคั้นจากลำต้น 49.83 และ 51.71 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

              ข้าวฟ่างหวานลูกผสมทั้งสองพันธุ์นี้มีลักษณะดีเด่นเหนือพันธุ์พ่อ และพันธุ์เปรียบเทียบ ซึ่งเป็นพันธุ์แนะนำ คือ มีอายุออกดอกเร็วทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และสามารถปลูกในพื้นที่ที่มีช่วงฝนสั้นๆ ได้ นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตต้นสดที่ลอกใบออก (stripe stalk yield) ปริมาณน้ำหวานที่หีบได้จากลำต้น (% juice extracted) และให้ผลผลิตเมล็ดสูง (grain yield) สูงด้วย

 

ลักษณะต้น

ลำต้นที่ลอกใบ

การหีบ

 


คณะผู้วิจัย
นายธำรงศิลป โพธิสูง นายสมชาย ปิยพันธวานนท์ และนายถวิล นิลพยัคฆ์
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0 4436 1770 – 6