มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย และได้ให้การสนับสนุนและมีการดำเนินการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับเลือดจระเข้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์อันดับแรกที่รู้จักกันในชื่อของ “แคปซูลเลือดจระเข้” และผลิตภัณฑ์รองอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น แคปซูลซีรัมจระเข้ แคปซูลน้ำดีจระเข้ กระดูกจระเข้ ไขมันจระเข้ ฯลฯ ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับจระเข้ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฯ โดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการลดการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง โดยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียงและเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์
งานวิจัยเกี่ยวกับจระเข้ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มเกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2537 ณ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ โดยในระยะแรกเป็นงานวิจัยเกี่ยวข้องกับชีววิทยา และการเพาะเลี้ยงจระเข้พันธุ์ไทย เช่น การศึกษาระดับกรดยูริคในเลือดจระเข้ที่เลี้ยงด้วยซากไก่ โลหิตวิทยาของจระเข้และตะโขง การเก็บสเปิร์มจระเข้ โดยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ฯลฯ โดยได้รับความช่วยเหลือเรื่องตัวอย่างงานวิจัย เช่นเลือดจระเข้ จากฟาร์มจระเข้ใหญ่ในประเทศไทย เช่น ฟาร์มจระเข้ศรีราชา (บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด) ฟาร์มจระเข้สามพราน ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ ฯลฯ และสมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย และได้มีการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจระเข้โลกครั้งที่ 12 (The 12th Working Meeting of the IUCN-SSC Crocodile Specialist Group) ขึ้นในประเทศไทย ณ เมืองพัทยา ในระหว่างวันที่ 2 – 6 พฤษภาคม 2537 โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย สมาคมไทยค้าผลิตผลสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทิน กรมประมง และกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะต่อมาได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์จระเข้พันธุ์ไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์จระเข้ของประเทศไทย โดยการเก็บตัวอย่างเลือดจระเข้จากฟาร์มใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ จ. ชัยนาท ฟาร์มจระเข้ศรีราชา (บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด) และรุ่งทวีชัยฟาร์ม อ. ดอนตูม จ. นครปฐม ฯลฯ เมื่อครั้งที่ไปทำการเก็บตัวอย่างเลือดจระเข้ที่บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด ทางฟาร์มฯ ได้เมตตาฆาตโดยใช้ปืนยิงบริเวณหัวจระเข้ ก่อนการนำเข้าอุตสาหกรรม ซึ่งการชำแหละจระเข้ที่ต้องการผลิตภัณฑ์หลักคือ หนังจระเข้ ผลิตภัณฑ์รองลงมา เช่น เนื้อจระเข้ กระดูก เครื่องในจระเข้ เป็นต้น นั้นมีการปล่อยทิ้งเลือดจระเข้ไปกับน้ำ และสังเกตว่าในระหว่างการเคลื่อนย้ายพ่อแม่พันธุ์ จระเข้มีการกัดกันเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ จนคิดว่าไม่น่ารอด แต่เมื่อกลับไปเก็บตัวอย่างในครั้งต่อมาพบว่าจระเข้ตัวที่บาดเจ็บดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ แผลมีการสมานกันดี อาจารย์วิน เชยชมศรี ซึ่งเป็นแกนนำของคณะผู้วิจัยได้เกิดประกายความคิดว่า จระเข้เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อเกิดบาดแผลจากการกัดกัน ไม่เกิดการติดเชื้อ แผลหายเร็ว ทำให้เกิดสมมุติฐานการวิจัยว่า ในเลือดจระเข้น่าจะมีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพอยู่ ประกอบกับจระเข้เป็นสัตว์สมุนไพร มีการใช้ประโยชน์จากเลือดจระเข้ และจากการสังเกตว่าที่ฟาร์มฯ ในบางครั้งมีการเก็บเลือดจากจระเข้ โดยวิธีตัดหัวแล้ววางจระเข้ห้อยหัวลง ให้เลือดไหลลงถาดแล้วนำไปอบแห้งในตู้อบความร้อน บดเป็นผงแล้วใส่ถุงปิดซิบแล้วเตรียมจัดส่งไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน จึงได้คิดศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเลือดจระเข้ ซึ่งปกติเป็นของเสียในกระบวนการชำแหละ ถูกปล่อยทิ้งไปเป็นมลพิษกับน้ำ
คณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้คิดสร้างงานวิจัย มีการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จระเข้ อย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการวิจัยเรื่องต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนเงินทุนการวิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากสถาบันของรัฐอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่าย 5 อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งในปี พ.ศ. 2552-2553 ได้ทำงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับคณะผู้วิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับฤทธิ์ที่ดีต่างๆ ในเลือดจระเข้ เช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ฤทธิ์เพิ่มความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการจับกินสิ่งแปลกปลอม ฤทธิ์ลดความดันเลือด ฯลฯ ตลอดระยะเวลาของการศึกษาวิจัยมากกว่า 10 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับจระเข้ จำนวนมากกว่า 30 เรื่อง เช่น ประสิทธิภาพของซีรัมจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย, ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและราจากเลือดจระเข้ (Antibacterial and Antifungal Activities from Siamese Crocodile Blood), การปราศจากปรสิตในเลือดและลำไส้ของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในประเทศไทย (Blood and Intestinal parasites of Freshwater Crocodile, Crocodylus siamensis, in Thailand), กระบวนการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แห้ง, การเก็บรักษาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แห้ง, ประสิทธิภาพของเลือดจระเข้แห้งด้วยความเย็นจัดในหนูโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Efficiency of Freeze-dried Crocodile Blood in Iron deficiency anemia male rats), การผลิตเลือดจระเข้แห้งด้วยความเย็นจัด/ฟรีซดราย เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Freeze-dried crocodile blood production as food supplement), การบริจาคเลือดจระเข้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Donation of Crocodile Blood for Food Supplement Production), กระบวนการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาดีจระเข้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์, การตรวจหาไอจีเอฟ-วัน (Insulin like Growth factor-1, IGF-1) ในซีรัมจระเข้ ฯลฯ
ในระหว่างการศึกษาวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้คิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ที่แตกต่างจากเดิม มีการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ดังนี้ (1) อุปกรณ์สำหรับเจาะเก็บเลือดปริมาณมาก.คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0601001179, 16 มีนาคม 2549 (2) กรรมวิธีการเตรียมผงเลือดจระเข้แห้งและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีนั้น อนุสิทธิบัตรเลขที่ 5074, 4 กันยายน 2552 (3) เข็มเจาะและกรรมวิธีที่เกี่ยวข้องในการเจาะเก็บเลือดจระเข้. คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0801000372, 25 มกราคม 2551 (4) กรรมวิธีการผลิตซีรัมจระเข้ปริมาณมาก และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีนี้. คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0901001229, 19 มีนาคม 2552 (5) กรรมวิธีการผลิตน้ำดีจระเข้แห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีนี้. คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0901001231, 19 มีนาคม 2552 (6) กรรมวิธีการเจาะเก็บเลือดจระเข้โดยไม่ทำลายชีวิตและผลิตภัณฑ์ของจระเข้บริจาคเลือดที่ได้จากกรรมวิธีนี้. คำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 0903001362, 20 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 และ 2553 ได้มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีแต่เพียงผู้เดียวกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วานิไทย ในทรัพย์สินทางปัญญา (2) และ (1) & (3) ตามลำดับ ซึ่งภาคเอกชนได้เห็นคุณค่าของงานวิจัย และได้รับการบ่มเพาะธุรกิจ ภายใต้การดูแลของงานพัฒนาธุรกิจ สำนักงานบริการวิชาการ มก. จากนวัตกรรมที่ได้จากงานวิจัยนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เลือดจระเข้แคปซูล” วานิไทย และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “วานิ-เอ็นพี” ได้รับเลขสารบบ (เลข อย. ) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเลือดจระเข้ และอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากงานวิจัย “แคปซูลซีรัมจระเข้”, “แคปซูลเลือดจระเข้ไม่ทำลายชีวิต” ตามองค์ความรู้จากทรัพย์สินทางปัญญา (4) & (6) และ “แคปซูลน้ำดีจระเข้” ตามองค์ความรู้จากทรัพย์สินทางปัญญา (5) ฯลฯ คณะผู้วิจัยฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานงานวิจัย สู่นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืนต่อไป ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า ...มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการพัฒนาความรู้ให้เกิดความเจริญงอกงามทางภูมิปัญญา ที่เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรม และคุณธรรม ตลอดจนเป็นผู้ชี้นำทิศทางสืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของสังคม เพื่อความคงอยู่ ความเจริญ และความเป็นอารยะของชาติ
|