ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่า รายได้ภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) แรงงานในภาคการเกษตรมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 38 เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่มีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศแล้ว ยังมีเหลือส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ไทยครองอันดับการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ติดอันดับ 8 ของโลก โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์กุ้ง และไก่เนื้อ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าที่มีการบังคับใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มีการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ตลอดจนการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆ
บ่อยครั้งที่เกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยผลิตในระดับต้นน้ำของโซ่อุปทานสินค้าเกษตร มักจะถูกมองเป็นปัญหาของสังคมที่คอยรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และหลายครั้งที่ปัญหาของเกษตรกรถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาความยากจน
กรอบคิดและแนวทางการดำเนินการ :
ด้วยตระหนักดีว่าปัญหาด้านการเกษตรนั้นจำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีแบบแผน แก้ปัญหาแบบมององค์รวมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายทั้งบุคคล สถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการสร้างระบบที่เป็นกลไกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุล ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
การดำเนินการชุดโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี และมีเข็มมุ่งไปที่การบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการ สำหรับสินค้าเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างอำนาจการต่อรอง ภายใต้สภาวะการแข่งขันในโลกที่เป็นพลวัต โดยปัจจุบันโครงการ Farmer Shop มีสถาบันเกษตรกรที่เห็นชอบในกรอบคิดและแนวทางของโครงการเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 100 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs
ภาพอนาคตของ Farmer Shop ที่เห็นตรงกัน คือ “ร้านค้าปลีกที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน” อาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Farmer Shop เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอยู่ ที่แต่ละคนไม่สามารถแก้ได้ และใช้แบรนด์ Farmer Shop เป็นตัวขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของร้านค้าปลีกทางเลือกที่มีสินค้าคุณภาพภายใต้การรับรอง ให้ผู้บริโภคเชื่อถือไว้วางใจและอุดหนุนสินค้าไทย
เครื่องหมายบริการ Farmer Shop
แบรนด์ "Farmer Shop" จะใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าและบริการที่มีจำหน่ายในร้าน Farmer Shop จะมีมาตรฐานคุณภาพ ราคาเป็นธรรม และเป็นสินค้าเกษตรผลิตโดยคนไทย ซึ่งหากกระบวนการรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันอุดหนุนสินค้า Farmer Shop ประสบความสำเร็จก็จะขยายผลร้าน Farmer Shop ไปในชุมชนในอนาคต เพื่อช่วยสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสินค้าเกษตรแปรรูปไทยและลดความเสียเปรียบดุลการค้าของประเทศ ในขณะเดียวกันระบบการสร้างสรรค์ธุรกิจที่เป็นธรรมจะช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรแก่เกษตรกร
กระบวนการดำเนินงานโครงการ Farmer Shop ได้ถูกออกแบบในรูปของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี 5 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : การสร้างเครือข่ายอุปทานในสินค้า 3 หมวด (อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้-ของที่ระลึก)
ขั้นตอนที่ 2 : การพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ภายใต้ภาคีหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สถาบันอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
กระบวนการดำเนินงานโครงการ Farmer Shop
ขั้นตอนที่ 3 : การพัฒนาระบบบริหารจัดการโซ่อุปทาน (ระบบผลิต-จัดหา-ส่งมอบ-ตรวจสอบย้อนกลับ)
ขั้นตอนที่ 4 : การพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าในราคาเป็นธรรม
ขั้นตอนที่ 5 :การสร้างแบรนด์Farmer Shop ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าปลีกทางเลือกที่มีสินค้ามีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม และเป็นสินค้าของคนไทย”
การเปิดตัวของร้าน Farmer Shop ที่ผ่านมา :
|
Farmer Shop
เปิดตัวครั้งแรกในงานเสวนาวิชาการและการประกาศเกียรติคุณ นักสหกรณ์และสหกรณ์ที่มีคุณแห่งปี 2553 เมื่อ 15 กันยายน 2553
- มีผู้เยี่ยมชมบู๊ทกว่า 400 คน
- มีสินค้าจากผู้ประกอบการ11 ราย จำนวน 34 รายการ
|
|
Farmer Shop เปิดตัวครั้งที่ 2 ในโครงการกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และเปิดบริการทุกเสาร์ –อาทิตย์
- มีผู้เยี่ยมชมบู๊ทเฉลี่ยสัปดาห์ละ 200 คน
- มีสินค้าจากผู้ประกอบการ 20 ราย จำนวน 56 รายการ
|
|
Farmer Shop เปิดตัวครั้งที่ 3 ในงานวันธุรกิจการเกษตร จัดโดยภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2553
- มีผู้เยี่ยมชมบู๊ท 200 คน
- มีสินค้าจากผู้ประกอบการ 33 ราย จำนวน 81 รายการ
|
|
Farmer Shop เปิดตัวครั้งที่ 4 ในโครงการฉลองครบรอบ 30 ปี ร้านสหกรณ์ผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม 2554
- มีผู้เยี่ยมชมบู๊ทรวม 360 คน
- มีสินค้าจากผู้ประกอบการ 31 ราย จำนวน 125 รายการ
|
|