การพัฒนาแหล่งยางรักดิบเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
Development of Raw Lacquer Gum Resources for Sustainable Uses

ที่มาและประเด็นปัญหาของการวิจัย

             เครื่องรัก เป็นชิ้นงานได้รับการประดิษฐ์ที่ใช้ยางรักเป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างผลงานออกตามความรู้ท้องถิ่น (local knowledge) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมและนำใช้เป็นภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม ผลงานประเภทนี้นับว่าเป็นชิ้นงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ออกมาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทอดมาตั้งแต่ต้นน้ำอันเป็นการคัดเลือกวัตถุดิบเรื่อยมาตลอดจนได้ผลิตออกมาเป็นผลงานที่สามารถบ่งบอกเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรมตามชาติพันธุ์ของมนุษยชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในทวีปเอเชีย อาทิเช่นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญีปุ่น) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เมียนม่าร์ เวียดนาม กัมพูชา และไทย) ผลงานเครื่องรักที่ได้รับการประดิษฐ์จากวัตถุดิบยางรักนั้นมีหลายรูปแบบ หาแบ่งตามระบบงานของช่างสิบหมู่ของไทยมีดังนี้ งานเขียนสีกำมะลอ งานลงรักปิดทองคำเปลว งานลงรักปิดทองทึบ งานลงรักปิดทองร่องชาด  งานลงรักปิดทองร่องกระจก งานลงรักปิดทองลายฉลุ งานประดับกระจก งานประดับมุก งานปั้นรักสมุก โดยเรียกผลรวมโดยรวมเหล่านี้ว่า งานช่างรัก ขณะเดียวกันยังงานประดิษฐ์เครื่องรักพื้นบ้านที่มีความเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่แตกต่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์ อย่างเช่น ชาวไทยเขิน ได้ผลิตงานเครื่องรักออกมาดังที่รู้กันในนามของ “เครื่องเขิน” ก็เป็นผลงานอีกรูปแบบหนึ่งที่พบอยู่ในภาคเหนือของไทย

ภาพที่1 ผลิตภัณฑ์เครื่องรักและเครื่องเขินที่ใช้ยางรักในการผลิต

 

          ยางรัก หรือ รัก เป็นวัสดุธรรมชาติประเภทชัน (gum) ที่ได้มาจากไม้ต้นสกุลรักจีน(Rhus) และสกุลรักใหญ่(Gluta) ทั้งสองสกุลเป็นพรรณไม้สมาชิกวงศ์Anacardiaceae  (วงศ์ มะม่วง และมะกอกป่า) ยางรักเป็นสารเหนียวที่มีความเหนียว หนืด ข้นและสีคล้ำ แข็งตัวเมื่อแห้ง  ยางรักถูกเรียกว่า Lacquer gum จัดได้ว่าเป็นกลุ่มสารโพลีเมอร์ธรรมชาติที่แตกต่างจากน้ำยางธรรมชาติประเภทลาเทกซ์ (Latex) ที่ได้จากน้ำยางพารา หรือพรรณไม้ชนิดอื่นที่เป็นสมาชิกของวงศ์  Euphorbiaceae  (วงศ์ยางพาราและสลัดได) , Apocynaceae  (วงศ์สัตตบรรณและลั่นทม) ฯลฯ  พรรณไม้ที่สำคัญที่นำยางรักไปใช้ในการผลิตเครื่องรักและ หัตถกรรมเกี่ยวกับยางรักในทวีปเอเชียพบว่ามีอยู่ 4 ชนิดด้วยกันคือ

  1. รักใหญ่ หรือ รักหลวง  (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou)  ชื่อสามัญคือ Burmese lacquer tree, Burmese vanish wood, Black lacquer tree, Thai vanish wood, Red zebra wood  เขตกระจายพันธุ์ของรักใหญ่ พบในประเทศอินเดีย พม่า ไทยและลาวรักใหญ่เป็นชนิดที่คนเมือง (ไทยภาคเหนือ)รู้กันดีและนำยางมาใช้เป็นวัตถุดิบในทำเครื่องเขิน แหล่งเก็บน้ำยางในอดีตพบว่าอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปางและเชียงราย  แต่ปัจจุบันกลับหาดูได้ยากมากขึ้นทั้งนี้เนื่องจากเขตกระจายพันธุ์ที่อยู่ในป่าธรรมชาติของรักใหญ่ถูกทำลายไม่ว่า การตัดฟันไม้ไปใช้ประโยชน์ หรือ การบุกรุกป่าแล้วแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และอื่นๆ  จนทำให้ปริมาณต้นยางรักเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบน้อยลง และทำให้การขาดแคลนส่งให้ตลาดที่ซื้อขายยางรักก่อเกิดภาวะน้ำยางรักดิบขาดตลาดส่งผลต่อการผลิตเครื่องเขินในประเทศ จำเป็นต้องนำยางรักเข้ามาจากประเทศพื่อนบ้านแหล่งนำเข้าหลักคือประเทศเมียนม่าร์และมียางรักโดยส่วนใหญ่ด้อยคุณภาพลงจากการเจือปนหรือ ปลอมปนน้ำมันจากไม้ชนิดอื่น
  2. รักจีน หรือ รักญี่ปุ่น ( Rhus verniciflua  Stokes.) ชื่อสามัญคือ Japanese lacquer tree, Chinese lacquer tree, Japanese vanish tree, Chinese vanish wood, Oriental lacquer tree เขตกระจายพันธุ์ของรักจีน พบในประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย รักจีนเป็นไม้ต้นผลัดใบที่ขึ้นได้เฉพาะเขตอบอุ่น ดังนั้นไม่พบในประเทศไทย แต่มีการนำยางรักชนิดนี้เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมประดิษฐ์เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย
  3. รักเวียดนาม มีชื่อท้องถิ่นของไทยว่า แกนมอ ( Rhus  succedanea L.) ชื่อสามัญคือ Vietnamese lacquer tree เขตกระจายพันธุ์รักเวียดนาม พบในประเทศ ลาว ไทย เวียดนาม ไต้หวัน และจีนตอนใต้ (ไหหนาน, กวางตุ้ง, ฮ่องกง) เป็นชนิดเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมเครื่องรักของเวียดนาม
  4. น้ำเกลี้ยง (Gluta laccifera (Pierre) Ding Hou)  ชื่อสามัญคือ Khmer lacquer tree, Chaiya lacquer tree  เขตกระจายพันธุ์ของรักชนิดนี้พบอยู่ ไทย ลาวและกัมพูชา ชนิดเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมเครื่องรักของกัมพูชา และไทยในภาคอีสาน

ภาพที่ 2 ลักษณะลำต้น ช่อดอกและผลของต้นน้ำเกลี้ยง

               สารเคมีในยางรักพบว่ารักจีน และรักเวียดนามประกอบไปด้วย อุรุชิออล (urushiol )(60-70% ) ลัคคอล (laccol ) (42-44%) น้ำในรักจีน (20-25%) น้ำในรักเวียดนาม (32-39%)  เจลาตินในยางรักจีน (5-7%) เจลาตินในยางรักเวียดนาม  (16-17%) โพลีแซคคาไรด์ (2-5%)  และไกลโคโปรตีน (3-7%) เอนไซม์เลคเคส(laccase) ( 1% ) ส่วนที่เหลือรวมเป็นส่วนอื่นๆ   จึงเห็นได้ว่ามีสารเคมีหลักคือ อุรุชิออล และ ลัคคอล สารทั้งสารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารเคลือบที่สำคัญในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องรัก และที่สารเร่งให้ยางรักแห้งคือ เอนไซม์เลคเคส  (Wan et al., 2007)  ดังนั้นที่ทำให้กรรมวิธีในการทายางรักบนชิ้นงานของรักจีนแห้งเร็วกว่ารักเวียดนามและรักใหญ่ตามลำดับ พรรณไม้ให้ยางรักในสกุล Gluta  ชนิดที่รู้จักกันที่สุดคือ รักใหญ่ เป็นชนิดที่มีสารเคมีหลายชนิดไม่ว่า กลุ่มฟีนอล (phenol derivatives) และ 3- or 4- substituted catechol  ( Lu et al., 2007) แต่สารที่สำคัญคือ สารทิตชิออล (Thitsiol ) (Wan et al., 2007)  ซึ่งสารนี้หากผ่านขบวนการ pyrolysis สามารถแตกตัวให้สารได้หลายชนิดไม่ว่า กลุ่มสารalkenes, alkanes, alkenylbenzenes, alkylbenzenes, alkenylphenols ,alkylphenols และกลุ่มสาร phenylalkylphenols (Niimura et al., 1998) ด้วยยางรักมีกลุ่มสารกลุ่มฟีนอลทำให้มีสมบัติเป็นยางพิษที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้บวม หรือ หากสัมผัสโดยตรงทำให้แผลพุพอง เช่นเดียวกับมะม่วง แต่อาการอาจจะรุนแรงกว่าทั้งขึ้นอยู่สภาพของผู้ป่วย

             ในประเทศไทยรู้จักกรรมวิธีนำยางรักมาใช้ประโยชน์มานานกว่า 4,000 ปีแล้ว เพื่อใช้เป็นวัตถุในการทำเครื่องเขินและลงรักปิดทอง (กรมศิลปกร, 2550) ประเทศจีนได้พบหลักฐานทางโบราณคดีของยุคหินใหม่ที่มณฑลซิเจียง (Zhejiang)มีมาไม่น้อยกว่า 7,000 ปี   (Wan et al., 2007) ประเทศญี่ปุ่นมีหลักฐานตั้งแต่ 5,300 ปีก่อนคริสตกาลในช่วงยุคโจมอน (Jomon period) (Noshiro et al., 2007) โดยนำยางรักการนำมาเคลือบภาชนะเพื่อให้มีคงทนและมีความสวยงาม เทคนิคการประดิษฐ์ใช้ยางเคลือบภาชนะ เครื่องรักที่สร้างสรรค์ขึ้นในแต่ละชุมชนมีกรรมวิธีผลิตและรายละเอียดที่แตกต่างกันอันที่จะส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการผลิตและการใช้เครื่องรักเกิดขึ้นต่างกันตามกลุ่มชาติพันธุ์

             ประเด็นปัญหาต่อการจัดทำ “โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาแหล่งยางรักดิบเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาในเชิงวัฒนธรรมของการผลิตและการใช้เครื่องรัก เครื่องเขินตลอดจนเป็นสืบสาน สืบทอดและสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมคนไทย อันเป็นชนชาติที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับของการผลิตและการใช้เครื่องรัก เครื่องเขินมาอย่างช้านาน แต่หากคนไทยขาดการตระหนักและให้ความสำคัญต่ออนุรักษ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมเครื่องรักก็คงสูญหายไปในเวลาอันใกล้นี้ การอนุรักษ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมเครื่องรักเพื่อ ธำรงไว้ ซึ่งอัตลักษณ์ของคนไทย จึงเป็นการปลูกฝังค่านิยมเอกลักษณ์ชาติและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติตามไปด้วย หากนิ่งเฉยต่อสถานการณ์นี้ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการสูญหายไปของภูมิปัญญาต่อผลิตเครื่องรักที่มีคุณภาพไม่ว่าขาดช่างรักที่มีฝีมือ ขาดการสร้างงานต่อยอดในนำยางรักไปใช้ในงานประเภทอื่น มรดกทางวัฒนธรรมในส่วนสร้างลวดลายโบราณบนผลิตภัณฑ์เครื่องรักสูญหาย ซึ่งนั้นหมายความว่าเราต้องสูญสิ้นของความเป็นเอกลักษณ์ไทยในช่างรักตลอดไป ประจวบกับปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ มีการเลียนแบบเครื่องรักที่ทำด้วยวัสดุพลาสติกเข้ามาแทนที่ต่อการใช้เครื่องรักในสมัยก่อน ยิ่งเป็นตัวเร่งที่สำคัญต่อการจากไปของมรดกทางวัฒนธรรมในด้านนี้

ภาพที่ 3 การนำยางรักดิบมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเขินในภาคเหนือของไทย

การดำเนินงานโครงการ

              โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาแหล่งยางรักดิบเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นโครงการชุดที่มีโครงการย่อยประกอบด้วย 3 โครงการย่อยคือ โครงการย่อยที่1ชื่อ ศักยภาพของพรรณไม้ให้ยางรักเพื่อการพัฒนาแหล่งยางรักดิบ หัวหน้าโครงการคือ นาย วิชาญ เอียดทอง โครงการย่อยที่2ชื่อ นิเวศกายวิภาคของเนื้อเยื่อผลิตยางรักในพรรณไม้ให้ยางรัก หัวหน้าโครงการคือ นาย สมคิดสิริพัฒนดิลก โครงการย่อยที่3ชื่อ การขยายพันธุ์และการเติบโตของพรรณไม้ให้ยางรัก หัวหน้าโครงการคือ นาย พฤทธิ์ ราชรักษ์

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาความหลากชนิดและศักยภาพต่อการพัฒนาเป็นผลิตยางรักดิบของพรรณไม้ให้ยางรักในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยางรักในประเทศ
  2. พัฒนาเทคนิคในการกรีดยางรักอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พรรณไม้ให้ยางรักเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและให้ปริมาณเพียงพอความต้องการภายในประเทศไทย ตลอดจนสร้างความเข้าใจต่อการไหลและให้ยางรักดิบของพรรณไม้ให้ยางรัก
  3. เพื่อทำการขยายพันธุ์และปลูกสร้างสวนไม้รักเพื่อการผลิตยางในอนาคต


ภาพที่ 4 การกรีดยางรักและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้; A, B, C ) แบบภาคเหนือ และ D,E,F) แบบภาคอีสาน

ผลการศึกษาอย่างย่อ

                       ความหลากชนิดของพรรณไม้ให้ยางรักในประเทศไทยพบว่า มีอยู่ 2 สกุลคือ สกุล Gluta จำนวน 10ชนิด สกุลRhus 5 ชนิด แต่ชนิดที่มีศักยภาพที่พัฒนาเป็นแหล่งผลิตยางรักดิบมี 3 ชนิดคือ ต้นรักใหญ่ (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) น้ำเกลี้ยง (Gluta laccifera (Pierre) Ding Hou) และ แกนมอ (Rhus  succedanea L.) จากการศึกษากายวิภาคในต้นน้ำเกลี้ยงพบว่า น้ำยางรักจากไหลออกมาจากเปลือกชั้นในสุด ซึ่งการไหลมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล ฤดูกาลที่กรีดยางแล้วน้ำยางไหลมากที่สุดคือฤดูฝนทั้งนี้การไหลของยางรักมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับฤดูกาล พันธุกรรมในแต่ละต้น สุขภาพต้นไม้ และเทคนิคในการสร้างบาดแผล ในส่วนของการสร้างรูปแบบรอยบาดแผลกรีดบนต้นน้ำเกลี้ยงที่ดีที่สุดจาก 16 รูปแบบพบว่ารูปแบบแนวดิ่งบนลำต้นเมื่อพิจารณาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ไม่ทำลายลำต้นไม้มากจนเกินไป การใช้อุปกรณ์ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาและแรงงานน้อย นอกจากนี้มีการใช้สารเคมีกระตุ้นเพื่อเพิ่มปริมาณยางไหลของต้นรักพบว่า10% เอตทีฟอน (Ethephon)ให้ผลดีทั้งในแง่ของการกระตุ้นการไหลของน้ำยางมากและการสมานรอยแผลได้ดี ขณะที่ 10 %พาราคอตกระตุ้นการไหลน้ำยางได้ดีกว่าเอตทีฟอนแต่จะทำลายเปลือกลำต้นของต้นรักอย่างรุนแรงจึงไม่นำมาใช้ในการกระตุ้นน้ำยาง ในส่วนการขยายพันธุ์ของต้นรักพบว่าใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์ ด้วยมีแม่ไม้น้อยและมีปัญหาการติดเมล็ดของพรรณไม้ให้ยางรักทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเตรียมกล้าไม้ในการปลูกสร้างสวนป่าไม้รัก ในกรอบของการวิจัยจึงได้ขยายการวิจัยต่อนำเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างของการดำเนินงาน และประเด็นสุดท้ายการคัดเลือกชนิดไม้รักพบว่าพรรณไม้ในสกุลGluta เป็นไม้ต้นที่ช้ามีขนาดความโตถึงขนาดถึงกรีดได้นั้นต้องใช้ระยะนานไม่น้อยกว่า  12 ปี การคัดเลือกชนิดที่โตเร็วและให้น้ำยางได้เร็วพบว่าต้นแกนมอ ( Rhus  succedanea L.)เป็นชนิดที่โตเร็วและมีระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจึงกรีดยางได้สั้นในระยะเวลาตั้งแต่  5 ขึ้นไป คณะทีมวิจัยจึงกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปลูกในเชิงของสวนป่าเศรษฐกิจเพื่อการผลิตยางรักดิบต่อไป




คณะผู้วิจัย
ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง รศ.ดร.สมคิดสิริพัฒนดิลก อ.พฤทธิ์ ราชรักษ์ น.ส.ปริยากร ล้วนโค และ น.ส.สดับพร พรรณบัวตูม
ภาควิชาชีวิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900.
โทร. 0-2579-0176