การเลี้ยงมดแดงเพื่อการค้า
The Making Red Ant Farm for Commerce

                 มดแดงเป็นมดที่คนไทยรู้จักกันทั่วไปและนำมาใช้ประโยชน์หลายด้านช้านานแล้ว นอกจากการบริโภคเป็นอาหารแล้วยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชบางชนิดหรือใช้เป็นยาตามความเชื่อได้อีกด้วย การนำมดแดงมาเป็นอาหารหรือสร้างรายได้นั้นถือเป็นที่นิยม จึงทำให้มีการเลี้ยงมดแดงกันมากขึ้น การเลี้ยงมดแดงหรือสร้างเป็นฟาร์มมดแดงจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายไข่มดแดงพร้อมทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยมดแดงช่วยกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไข่มดแดงมีราคาค่อนข้างแพงคือ 150-300 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน 300-1,000 บาทต่อวัน ทำให้ปัจจุบันไข่มดแดงมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติและปริมาณที่ได้ค่อนข้างต่ำคือ 10-300 กรัมต่อรังเท่านั้น การแก้ปัญหานี้ทำได้โดยต้องทำให้รังมดแดงแต่ละรังมีปริมาณไข่มดแดงมากขึ้นเป็น 500 – 2,000 กรัมต่อรัง

                  จากอดีตที่ผ่านมา พบว่ายังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยา นิเวศวิทยา พฤติกรรม และการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างแท้จริง แม้จะมีการเลี้ยงมดแดงบ้างแล้วก็ตาม แต่ความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์จริง ทำให้ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงให้ได้ปริมาณหรือพัฒนาไปสู้ธุรกิจการค้าไข่มดแดงได้ ดังนั้น ต้องมีการสำรวจและศึกษาสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการขยายอาณาจักรมดแดง โดยต้องทราบการเปลี่ยนแปลงจำนวนรังขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ความหนาแน่นรังต่อต้น การขยายของอาณาจักร เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดปริมาณไข่มดแดงในแต่ละปี เพื่อจะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณไข่มดแดงต่อไป ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ตามชนบทให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยเฉพาะประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


วัตถุประสงค์

                 เพื่อต้องการหาแนวทางเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงต่อรังต่อต้น พร้อมทั้งปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การทำเป็นธุรกิจหรือรายได้หลักอย่างแท้จริง

ผลการวิจัย

                 จากการศึกษามดแดงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ทั้งทางด้านชีวิวิทยา นิเวศวิทยา และปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งการดำรงชีวิตและการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงนั้น ทำให้ทราบชีวิตความเป็นอยู่ของมดแดง ตลอดจนขั้นตอนและปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงต่อรังและต่อต้น จนสามารถนำมาสรุปเป็นขั้นตอนหลักๆของการเลี้ยงมดแดงได้ 6 ขั้นตอนดังนี้

1.สภาพพื้นที่
                 จากการศึกษาพบว่า มดแดงชอบอาศัยบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง มีแสงมาก ต้นไม้ได้รับแสงแดดรอบต้น ไม่ร่มทึบหรือมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นมาก พื้นที่ที่พบมดแดง เช่น พื้นที่เกษตร สวนป่า ป่าชายหาด ป่าถูกบุกรุกหรือไม่สมบูรณ์ ตามขอบป่าต่างๆ เป็นต้น ควรมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ  

2.ลักษณะของต้นไม้
                 จากการสำรวจต้นไม้ชนิดต่างๆพบว่า มดแดงสามารถสร้างรังหรืออาศัยต้นไม้ได้ทุกชนิด แต่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน ลักษณะที่เหมาะสมได้แก่ ขนาดใบไม่เล็กหรือใหญ่มากเกินไป ใบต้องไม่หยาบหรือแข็ง มีใบจำนวนมาก ควรเป็นใบเดี่ยวดีกว่าใบประกอบ ต้องไม่ผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง เช่น มะม่วง ชมพู่ หว้า ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ส้ม ขี้เหล็ก เป็นต้น ต้นที่ไม่เหมาะสม เช่น กระถิน สัก ยางนา ขนุน ไม้ที่ผลัดใบต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ต้นไม้ต้องสมบูรณ์ตลอดทั้งปี ตามลำต้นไม่ควรมีศัตรูของมดแดงอาศัยโดยเฉพาะ มดชนิดต่างๆ เพราะจะขับไล่มดแดงออกไป ต้องกำจัดเสียก่อน โดยตัดกิ่งแห้งออกไปหรือใช้สารไล่พ่นตามโคนต้น

3.การสำรวจอาณาจักรหรือครอบครัวมดแดง
                 จากการศึกษาพบว่า อาณาจักรมดแดงสามารถครอบครองต้นไม้แตกต่างกันตั้งแต่ 1 – 30 ต้นขึ้นไป ดังนั้นต้องมีการสำรวจอาณาจักรมดแดงในพื้นที่เป็นอันดับแรก เพราะถ้าไม่ดำเนินการในขั้นตอนนี้จะทำให้ไม่รู้ว่ามีกี่อาณาจักร แต่ละอาณาจักรครอบครองต้นไม้กี่ต้น เป็นอาณาจักรใหญ่หรือเล็ก ทำให้ยากแก่การจัดการด้านต่างๆ เพราะมดแดงต่างอาณาจักรจะกัดกัน ทำให้ต้องสูญเสียบางอาณาจักรได้ แต่ละอาณาจักรต้องแยกออกจากกันชัดเจน ภายในอาณาจักรเดียวกันควรมีการเชื่อมโยงด้วยเชือกหรือไม้พาดระหว่างต้นเพื่อให้มดแดงเดินไปมาหาสู่กันสะดวกและรวดเร็ว

4.การให้อาหารมดแดง
                 จากการศึกษาพบว่า มดแดงจะกินอาหารสดมากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง มดแดงจะกินสัตว์ขนาดเล็กที่ใกล้ตายหรืออ่อนแอหรือกำลังจะตายหรือตายใหม่ๆหรือยังไม่เน่า โดยส่วนมากเป็นแมลงที่อาศัยบริเวณนั้นเป็นหลัก ซึ่งอาหารจากธรรมชาติจะไม่เพียงพอต่ออาณาจักรขนาดใหญ่ จึงควรมีการให้อาหารเพิ่ม หลักการคือ อาณาจักรใหญ่ให้ปริมาณอาหารมาก อาณาจักรเล็กให้ปริมาณน้อย อาหารที่ให้ควรมีขนาดเล็ก ง่ายแก่การขนกลับรัง น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับมดแดงในฤดูแล้ง ต้องให้น้ำตลอดทั้งฤดู โดยการแขวนขวดน้ำขนาด 1 ลิตรไว้ตามลำต้น นอกจากนี้ควรมีการให้น้ำหวาน (เข้มข้น 80 %) บ้างโดยเฉพาะหน้าแล้ง เพราะเป็นแหล่งพลังงานของมดแดงที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้ โดยนำน้ำหวานใส่ขวดขนาดเล็กอุดด้วยสำลีมัดติดกับกิ่งแบบคว่ำลง มดแดงจะมากินน้ำหวานบริเวณลำลี อาหารจะช่วยทำให้ราชินีสมบูรณ์สามารถผลิตไข่ได้มากขึ้นต่อปี

5.การเก็บไข่มดแดง
                 จากการสอบถามและสังเกตพบว่า มดแดงจะเริ่มวางไข่มดแดงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมและกลายเป็นตัวหนอนและดักแด้ (ที่เรียกว่าไข่มดแดง) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงต้นพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นการเก็บไข่มดแดงจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน รังที่ควรเก็บจะเป็นรังขนาดกลางถึงใหญ่ จากการสังเกตพบว่า รังที่มีไข่มดแดงจะห้อยหรือโน้มลง ส่วนมากเป็นรังขนาดกลางและใหญ่ที่อยู่รอบนอกเรือนยอด รังขนาดเล็กอาจมีบ้าง นอกจากนี้ยังสังเกตจากใบที่ทำรังเริ่มแห้ง ถ้าใบแห้งหมดทั้งรัง จะไม่มีไข่มดแดง ต่อมาจะย้ายรังไปสร้างรังใหม่ การเก็บไข่มดแดงจะต้องคำนึงถึง ราชินีมดแดงหรือแม่รังต้องไม่ถูกรบกวนหรือถูกเก็บมาด้วย ไม่ควรฆ่ามดแดงเพราะจะทำให้อาณาจักรอ่อนแอและล่มสลาย ไม่ควรทำลายรังให้แตกหมดทั้งรัง เพราะมดแดงจะซ่อมแซมรังใหม่และสามารถเก็บได้อีก     

6.การดูแลหลังเก็บไข่มดแดง
                 จากการสำรวจพบว่า หลังจากเก็บมดแดงแล้ว สภาพอาณาจักรจะอ่อนแอเพราะมดงานบางส่วนถูกทำลาย ทำให้ง่ายแก่การเข้าทำลายของมดอื่นที่เข้มแข็งกว่าหรือมดแดงที่มีอาณาจักรใหญ่กว่า นอกจากนี้อาหารประเภทเนื้อและน้ำจะขาดแคลนอีกด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอก่อนถึงฤดูฝน โดยปกติช่วงนี้ ต้นไม้จะไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง อากาศร้อน จึงควรรดน้ำ ตัดแต่งกิ่งที่แห้งออก เพราะกิ่งแห้งเป็นที่อาศัยของมดชนิดอื่นที่สามารถไล่มดแดงได้  

แนวทางการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง
                จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลได้แก่ จำนวนมดงาน ความสมบูรณ์ของต้นไม้ และปริมาณอาหาร ทั้ง 3 ปัจจัยจะต้องสอดรับกัน หลักการเพิ่มผลผลิตคือ จะต้องทำให้มดแดงสร้างรังขนาดใหญ่มากต่อต้นให้มากที่สุด เช่น รังละ 1 - 2 กิโลกรัม ต้นละ 3 – 4 รัง จากการศึกษามีเทคนิคดังนี้

1.ต้นไม้
                 ต้นไม้ต้องมีความสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี จะต้องแตกใบใหม่เพราะช่วงนี้มดแดงจะเร่งสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อไว้เก็บไข่มดแดง นั่นคือ ถ้ารังใหญ่มากเท่าใดก็จะเก็บไข่มดแดงได้มากเท่านั้น ถ้าเป็นใบแก่มดแดงไม่สามารถสร้างรังขนาดใหญ่ได้ สร้างได้แต่รังขนาดเล็กเท่านั้น เรือนยอดต้องได้รับแสงทุกด้าน เพราะมดแดงชอบสร้างรังรอบนอกเรือนยอดที่ถูกแสงและสร้างได้รอบเรือนยอด ต้นไม้ไม่ควรสูงเกิน 5 – 6 เมตร เพราะจะง่ายแก่การจัดการ ภายในเรือนยอดไม่ควรให้ร่มทึบหรือมีใบหนาแน่นมากเกินไปจนแสงส่องผ่านไม่ได้ ใบควรเรียงต่อเนื่องกัน เพราะทำให้ง่ายแก่การสร้างรังขนาดใหญ่มาก ถ้ามีใบไม่ต่อเนื่องกันหรืออยู่ห่างๆกัน จะได้รังขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งจะได้ไข่มดแดงน้อยตามไปด้วยแม้จะมีรังขนาดเล็กจำนวนมากก็ตาม การครอบครองต้นไม้เพื่อให้มดแดงสามารถสร้างรังขนาดใหญ่อยู่ระหว่าง 5 – 8 ต้น เพราะถ้าครอบครองมากไปจะมีประชากรมดแต่ละต้นไม่มากพอที่จะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้และสิ้นเปลืองต้นไม้เพราะมดแดงไม่ได้ใช้ทุกต้นสร้างรังถ้าครอบครองต้นจำนวนมากๆ

2.การให้อาหาร
                อาหารจะต้องให้ถูกช่วง กล่าวคือช่วงที่ต้องให้มาก คือ ช่วงก่อนถึงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม ช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน และช่วงหลังเก็บไข่มดแดง คือเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ต้องให้อาหารในปริมาณที่มากและบ่อยๆ ช่วงนี้มดแดงต้องการอาหารมากสำหรับสร้างประชากรมดให้มากเพื่อรองรับการสร้างรังขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราชินีมดมีความสมบูรณ์ ถ้าราชินีมดสมบูรณ์จะผลิตไข่ได้มากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การให้อาหารมากควรกระทำระหว่างเดือนกันยายน – มิถุนายน นั่นคือ ก่อนเก็บไข่มดแดง ระหว่างเก็บไข่มดแดง และหลังเก็บไข่มดแดง ช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้บ่อยก็ได้ เพราะหาอาหารได้ง่าย อาหารที่ดี เช่น ปลาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือกุ้งฝอย เป็นต้น

3.ประชากรมดแดง
                มดแดงจะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้ต้องมีจำนวนมากพอต่อต้น ซึ่งพิจารณาได้จากปริมาณมดแดงที่เดินตามต้น ถ้ามีการเดินน้อยไม่ต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีปริมาณไม่มากพอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้มดแดงเพิ่มประชากร การเพิ่มประชากรมดแดงขึ้นอยู่กับอายุของอาณาจักรและความพร้อมของราชินี โดยต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอแล้วจะผลิตมดแดงออกมามาก โดยเฉพาะก่อนจะถึงฤดูวางไข่มดแดง เพราะจะต้องมีมดแดงมาสร้างรังจำนวนมากเพื่อรองรับไข่มดแดง จะเห็นได้ว่า อาหารมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรมดแดง นอกจากนี้ต้องคอยดูแลอย่าให้ศัตรูธรรมชาติเข้ามารบกวนหรือไล่มดแดงออกจากต้นนั้นไป โดยเฉพาะมดต่างๆที่อาศัยตามกิ่งไม้ตาย ต้องกำจัดออกไปด้วยการตัดแต่งกิ่งแห้งนั้น

สรุปผลการวิจัย

                 จากผลที่ได้ทั้งหมดทำให้ทราบว่าการผลิตไข่มดแดงให้เพิ่มขึ้นต่อรังต่อต้นจะต้องประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ ความเหมาะสมของของต้นไม้กับจำนวนประชากรมดแดง เขียนความสัมพันธ์ได้ดังนี้

 




คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 087-8768427