การพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้เกษตรไทย
Development of Thai Agricultural Knowledge Base
             ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกษตรไทย เป็นฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมสารสนเทศและองค์ความรู้ด้านเกษตรของประเทศไทย ทั้งที่เป็นผลงานวิชาการและบทความรู้ทั่วไปด้านการเกษตรในรูปสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดีย จากการรวบรวมสารสนเทศด้านการเกษตรของประเทศไทย พบว่าสารสนเทศด้านการเกษตรประมาณร้อยละ 60 เป็นสารสนเทศที่เป็นผลงานวิจัยหรือเป็นเอกสารรายงานที่เป็นผลการค้นคว้าทดลองด้านการเกษตร และบทความเผยแพร่ผลงานวิจัย  ส่วนอีกร้อยละ 40 เป็นบทความรู้ทั่วไป จากผลการศึกษาวิเคราะห์สารสนเทศที่รวบรวมได้ โดยจำแนกตามหมวด ตามสาขา และตามคำสำคัญ พบว่า สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับพืชศาสตร์ มีจำนวนมากที่สุดคือ ร้อยละ 36  ของสารสนเทศในฐานข้อมูลทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สาขาสัตวศาสตร์ (ร้อยละ 13)  หากจำแนกสารสนเทศตามหมวด พบว่าหมวดการผลิตพืช มีจำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 12.8) เมื่อจำแนกสารสนเทศตามชื่อพืชและชื่อสัตว์ พบว่า สารสนเทศในกลุ่มพืช ได้แก่เรื่อง ข้าว มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ถั่วลิสง ตามลำดับ ในกลุ่มสัตว์ สารสนเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ โค มีจำนวนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สารสนเทศที่เกี่ยวกับ สุกร ไก่ และกุ้ง ตามลำดับ

            ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้สารสนเทศที่เป็นนักวิจัย ต่อการใช้ทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการวิจัยด้านการเกษตร  พบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ประสบปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังนี้  ทรัพยากรสารสนเทศไม่เพียงพอ (76%), ทรัพยากรสารสนเทศไม่ตรงกับความต้องการ (69%), ไม่รู้วิธีการสืบค้น (62%), ทรัพยากรสารสนเทศกระจัดกระจาย และไม่รู้แหล่งทรัพยากร (65%)

         ในส่วนของการพัฒนาฐานข้อมูล พบว่าปัญหาสำคัญที่เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน คือการขาดมาตรฐานของโครงสร้างฐานข้อมูล ปัญหาอันดับรองลงมาได้แก่ การจำแนกหมวดหมู่ใช้หลักเกณฑ์คนละรูปแบบ คำดรรชนีที่ใช้เป็นคนละมาตรฐาน ขาด Protocol ในการสืบค้นและแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลร่วมกันในคราวเดียว และไม่สามารถแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

           จากการศึกษาเปรียบเทียบมาตรฐานในการพัฒนาฐานข้อมูล ทั้งในเรื่องของโครงสร้างฐานข้อมูล ระบบการจัดหมวดหมู่ และมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้ผลสรุปดังนี้ โครงสร้างฐานข้อมูลผลงานวิจัยด้านการเกษตร ควรใช้มาตรฐานโครงสร้างของ AGMES (Agricultural Metadata Element Sets) ซึ่งอิงตามมาตรฐาน Dublin Core ที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนสารสนเทศในระดับสากล, การจำแนกหมวดหมู่ ควรใช้ระบบ AGRIS/CARIS  Subject Categorization Schemes, การกำหนดดรรชนี ควรกำหนดโดยใช้อรรถาภิธานศัพท์เกษตร ตามมาตรฐาน AGROVOC Thesaurus ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)   ในส่วนของ Protocol ในการสืบค้นและแลกเปลี่ยนข้อมูลควรใช้เทคโนโลยี Web service และ XML, การดำเนินการในการพัฒนาฐานข้อมูลควรลดความซ้ำซ้อนลง โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพในการประสานงานเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในแต่ละสาขา

            ในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาสารสนเทศเกษตรไทย จากการศึกษาและการสำรวจความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสารสนเทศ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ ระบบการจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างฐานข้อมูลที่อ้างอิงถึงมาตรฐานเดียวกัน การมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงและการให้บริการสารสนเทศในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนความสนับสนุนและความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติงาน

            จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลและคลังความรู้เพื่อการวิจัยด้านการเกษตร ดังนี้ ควรจำแนกทรัพยากรแต่ละประเภทตามสาขาวิชาให้สอดคล้องกับการวิจัยด้านการเกษตร  เพื่อให้สามารถจำแนกสารสนเทศตามสาขาวิชาเชี่ยวชาญเฉพาะได้  ควรวิเคราะห์และจัดสรรทรัพยากรสารสนเทศ ตามความจำเป็นเร่งด่วนก่อน เนื่องจากทรัพยากรสารสนเทศไม่เพียงพอและไม่มีงบประมาณในการจัดหาทรัพยากรให้ครบทุกสาขา,  ควรจัดการฝึกอบรมให้กับนักวิจัยที่ยังไม่ทราบวิธีการสืบค้นข้อมูล และทำการรวบรวมแหล่งสารสนเทศทั้งบนอินเตอร์เน็ต และฐานข้อมูลจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึงด้วยการสืบค้นในครั้งเดียว

           ตัวอย่างคลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตร ที่พัฒนาขึ้นโดยดำเนินการตามผลการศึกษาดังกล่าว ได้แก่

   คลังความรู้เพื่อการวิจัยด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://kubag.lib.ku.ac.th

คลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยอ้อย
http://kubag.lib.ku.ac.th/sugar/

คลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยข้าว
http://kubag.lib.ku.ac.th/rice/    

คลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยข้าวโพด
http://kubag.lib.ku.ac.th/corn/    

คลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยยางพารา http://kubag.lib.ku.ac.th/rubber/

คลังความรู้และฐานข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่

 

 

คณะผู้วิจัย
ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ, น.ส.ถิรนันท์ ดำรงค์สอน, น.ส.วันเพ็ญ ศรีจันทร์กุล, น.ส.สุราภรณ์ คงผล และน.ส.สุพรรณี หงษ์ทอง
ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 02-9428616 ต่อ 331