เชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังของสถานีวิจัยลพบุรี
Cassava Germplasm of Lop-Buri Research Station

              สถานีวิจัยลพบุรี สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านมันสำปะหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ได้รับความอนุเคราะห์เชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังจาก อาจารย์ ดร.โอภาษ บุญเส็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านมันสำปะหลัง ของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 256 พันธุ์/สายพันธุ์ นำมาปลูกรวบรวมพันธุ์ ณ สถานีวิจัยลพบุรี ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2550 คัดเลือกเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังที่สามารถปรับตัว และเจริญเติบได้ดี มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี นำมาปลูกทดสอบผลผลิต เพื่อคัดเลือกหาพันธุ์/สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิต และเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสดสูง สำหรับนำมาสร้างลูกผสมที่ให้ผลผลิต และเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสดสูง เพื่อส่งเสริม และแนะนำให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี พ.ศ. 2551-2552 สถานีวิจัยลพบุรี ได้รับงบประมาณสนับสนุน จากสถาบันวิจัย และพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้จัดทำโครงการประเมินเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ และแผนงานวิจัย และพัฒนามันสำปะหลัง ของสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-ถึงปัจจุบัน  

              การปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ให้ได้พันธุ์ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการปรับปรุงพันธุ์นั้น จำเป็นต้องพิจารณาหาแหล่งพันธุกรรมมันสำปะหลัง ที่สามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่มีอยู่ในพ่อแม่ไปยังลูกได้ ในงานวิจัยมันสำประหลังของประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก ที่โครงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังประสบความสำเร็จ และมีมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ๆ แนะนำให้เกษตรกรปลูกอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาพันธุกรรม และจัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมเป็นอย่างมาก ในประเทศไทย มีเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังที่ได้สำรวจ เก็บรวบรวม และนำเข้าจากต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมากในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังที่ดีในโครงการปรับปรุงพันธุ์ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากยังขาดข้อมูลความดีเด่นของเชื้อพันธุกรรมต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้  การประเมินคุณค่าเชื้อพันธุกรรมมันสำปะหลังเพื่อจำแนกกลุ่มพันธุ์ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของโครงการปรับปรุงพันธุ์ โดยทั่วไปโครงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง มักมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้คือ 1) ผลผลิตหัวมันสด และคุณภาพแป้งสูง  การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภายในประเทศมีอยู่อย่างจำกัด  นอกจากการเพิ่มผลผลิตหัวมันสดแล้วคุณภาพแป้งก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  2) ต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูที่สำคัญ การเสื่อมของพันธุ์สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเข้าทำลายของโรค และแมลง โรคที่พบได้แก่ โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคใบไหม้ สำหรับแมลงที่พบ ได้แก่ ไรแดง ปลวก เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยขาว และเพลี้ยหอยดำ  3) ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สภาพแล้งในเขตเกษตรอาศัยน้ำฝน  4) มีลักษณะทางการเกษตรที่ดีเหมาะกับการเพาะปลูก เช่น งอกได้ดี ทรงต้นสูงใหญ่ แข็งแรง ไม่แตกกิ่งมาก และค่อนข้างตรง หัวเรียงกันสม่ำเสมอ ถอนง่าย เป็นต้น

1.แปลงผสมพันธุ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี


2.แปลงผสมพันธุ์ สถานีวิจัยเพชรบูรณ์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. แปลงรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพันธุ์มันสำปะหลัง สถานีวิจัยลพบุรี
สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มก.

 

4.แปลงทดสอบ/เปรียบเทียบพันธุ์ มันสำปะหลังลูกผสมพันธุ์ก้าวหน้า/พันธุ์ดีเด่นของโครงการฯ
สถานีวิจัยลพบุรี สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 





คณะผู้วิจัย
นายสกล ฉายศรี1 นายโอภาษ บุญเส็ง2 นางพชรดา ฉายศรี1 นายประภาส ช่างเหล็ก3 นายสุเมศ ทับเงิน4ดร.กิ่งกานท์ พานิชนอก4 และ นายสุทัศน์ แปลงกาย1
1
สถานีวิจัยลพบุรี สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มก.
2
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3
สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มก.
4สถานีวิจัยเขาหินซ้อน สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มก.
โทรศัพท์ 089-8015737 โทรสาร 036-795080