ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง เป็นหน่วยงานให้บริการวิชาการด้านการผลิตและวิเคราะห์ทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ดิน และปุ๋ยอินทรีย์
การวิเคราะห์ดินมีจุดประสงค์เพื่อให้รู้ถึงความเหมาะสมของดินในการปลูกพืช ความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือปริมาณธาตุอาหารที่พืชต้องการจากดินโดยเฉพาะธาตุปุ๋ยซึ่งมักพบว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการใช้ดินปลูกพืชว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง ควรใส่ปุ๋ยในปริมาณเท่าใด หรือถ้าใส่ปุ๋ยลงไปแล้วพืชจะเจริญเติบโตดีหรือไม่ สมบัติของดินพื้นฐานที่ต้องวิเคราะห์เพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว ได้แก่ ปฏิกิริยาดิน (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical conductivity, EC) ปริมาณอินทรียวัตถุ (Organic matter, OM) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (available P) และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (exchangeable K)
การวิเคราะห์ปุ๋ยอินทรีย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้รู้ถึงคุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์นั้นๆ ว่ามีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน เช่นใช้เป็นวัสดุเพาะกล้าหรือวัสดุปลูก เป็นต้น สมบัติสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical conductivity , EC) ปริมาณอินทรียวัตถุ (Organic matter , OM) อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N Ratio) และดัชนีการงอกของเมล็ดพืช (Germination Index, GI)
อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์สมบัติดินและปุ๋ยอินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ
2. การวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยา
ปัจจุบันเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพทางจุลชีววิทยา เป็นตัวกำหนดให้สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเราต้องสะอาด ปลอดภัย ผลิตอย่างถูกสุขลักษณะและปราศจากจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ดังนั้นการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อทำให้ น้ำ อาหาร ผลิตผลทางการเกษตรที่เรานำมาบริโภค-อุปโภค มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลและช่วยให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคและใช้ผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมั่นใจ
การวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาใน น้ำ อาหาร และผลิตผลทางการเกษตร ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การวิเคราะห์ปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด การวิเคราะห์ปริมาณยีสต์และรา การวิเคราะห์จุลินทรีย์บ่งชี้ ได้แก่ โคลิฟอร์มแบคทีเรีย และ อี. โคไล (Escherichia coli, E. coli) การวิเคราะห์จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) และเชื้อสแตไฟโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นต้น
ตัวอย่างส่งตรวจ ปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด E. coli
3. การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ/น้ำเสีย และสารพิษตกค้างในผลผลิตเกษตร
การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ / น้ำเสีย และสารพิษตกค้างในผลผลิตเกษตร
การให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค น้ำใช้เพื่อการเกษตร และวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสีย/น้ำทิ้ง ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำต่างๆ พารามิเตอร์สำหรับคุณภาพน้ำทั่วไปที่ให้บริการ เช่น พีเอช (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ความขุ่น (Tur) ความกระด้าง (Hn) คลอไรด์ (Cl-) ปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้ (TDS) ซัลเฟต (SO4-) ฟลูออไรด์ (Fl-) ไนเตรท (NO3-) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) และพารามิเตอร์สำหรับน้ำเสีย เช่น พีเอช (pH) ปริมาณสารแขวนลอย (SS) ปริมาณสารทั้งหมด (TS) บีโอดี (BOD) และซีโอดี (COD) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรด้วยชุดน้ำยาตรวจสอบยาฆ่าแมลง/สารพิษตกค้าง "จีที" (GT-Pesticide Residual Test Kit) ซึ่งสามารถตรวจหาสารพิษตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออกาโนฟอสเฟต (Organophosphate) คาร์บาเมต (Carbamate) และสารพิษอื่นๆที่เป็นสารยับยั้งเอนไซม์โคลินเอสเตอเรส (Cholinesterase Inhibitor)
4. การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช
เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยพื้นฐานประการแรกที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการปลูกพืช พืชจะมีการเจริญเติบโตงอกงามมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ การทดสอบวิเคราะห์คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ทำให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดีเลวมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การใช้เมล็ดพันธุ์ การเปรียบเทียบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ที่ราชการกำหนดขึ้น และเป็นประโยชน์ในการประเมินราคาเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการกำหนดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อการเพาะปลูก ตัวอย่างการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ได้แก่ การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบความชื้นของเมล็ดพันธุ์ การทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการตรวจสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์
1. การทดสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ เป็นการตรวจสอบองค์ประกอบทางกายภาพของเมล็ดพันธุ์ว่าเมล็ดพันธุ์แต่ละกองมีองค์ประกอบอะไร ปริมาณเท่าใด องค์ประกอบทางด้านกายภาพเหล่านี้ได้แก่ เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ เมล็ดพันธุ์อื่น และสิ่งเจือปนกับเมล็ดพันธุ์ โดยคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์นี้ สามารถตรวจสอบได้โดยการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์
2. การทดสอบความชื้นเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบความชื้นของเมล็ดพันธุ์ โดยวัดหาน้ำหนักแห้งเพื่อการคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ความชื้นโดยเปรียบเทียบกับน้ำหนักก่อนการอบลบน้ำหนักหลังอบหารด้วยน้ำหนักก่อนอบและคูณด้วย 100
3. การทดสอบความงอก จะใช้เฉพาะเมล็ดบริสุทธิ์เท่านั้น โดยทั่วไปแล้วจะทำการเพาะเมล็ดเป็นจำนวน 4 ซ้ำๆ ละ 100 เมล็ด สามารถทดสอบโดยใช้ทรายหรือใช้กระดาษเพาะ พิจารณาความสามารถในการงอกของเมล็ด โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการงอกทั้งหมดของเมล็ด ซึ่งค่านี้เป็นค่าที่ใช้สำหรับการประเมินความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์
|
|
ตัวอย่างการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช
|
5.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
การบริการผลิตและขยายพันธุ์พืชโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจำนวนมาก ต้นกล้าที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอกัน มีคุณภาพ ปราศจากโรค ตัวอย่างพืชที่ให้บริการ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย สับปะรด กล้วยไม้ อโกลนีมา เป็นต้น จำนวนต้นกล้าที่ผลิตขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการ การขยายพันธุ์พืชโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในช่วงแรกจำเป็นต้องทดลองหาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ เมื่อได้สูตรอาหารที่เหมาะสมแล้ว จากนั้นผลิตต้นกล้าตามจำนวนที่ผู้ใช้บริการต้องการ โดยคิดราคาต่อต้น ทั้งนี้ราคาของต้นกล้าพืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ความยากง่าย อัตราการเจริญเติบโต และจำนวนต้นที่ต้องการ
|
|
ตัวอย่างพืชที่นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น กล้วยไม้ และอโกลนีมา |
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สามารถให้บริการวิเคราะห์และผลิตต้นกล้า ให้แก่ อาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และประชาชน รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการ การฝึกงานนิสิตทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การจัดฝึกอบรมทางวิชาการและ วิชาชีพให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลวิชาการด้านการเทคโนโลยีทางการเกษตร ทรัพยากรชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริการแก่ชุมชน
การให้บริการฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและให้บริการวิชาการเทคโนโลยีทางการเกษตร ทรัพยากรชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการบริการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และผลิตทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกษตรทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
|