โครงการพัฒนาศัตรูธรรมชาติ (แมงมุมและไรตัวห้ำ) และ สารสกัดจากพืช (พืชป่าและวัชพืช) เพื่อควบคุมศัตรูพืช
The research studies for the development of biological control agents (spiders and predacious mites) and
plant extracts (from wild plant and weed) for pest and mite controls

                 ศัตรูพืชมีมากมายในระบบนิเวศเกษตร และเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องสู้รบปรบมืออยู่เสมอ ทั้งนี้เกษตรกรได้อาศัยทุกวิถีทางในการควบคุมศัตรูพืชดังกล่าวให้ลดน้อยถอยลงไป วิธีการควบคุมศัตรูพืชมีหลากหลายวิธี ทั้งที่เป็นภัยและมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อดีตกาลสำหรับศัตรูพืชแทบทุกชนิด รวมทั้งปัจจุบันสำหรับศัตรูพืชบางชนิดที่ควบคุมด้วยวิธีอื่นไม่ค่อยได้ผล เกษตรกรยังใช้สารเคมีที่ได้จากการสังเคราะห์ เพื่อการควบคุมให้ได้เห็นผลทันตา แต่ในระยะยาวแล้ว ต่างมีผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ดิน น้ำและอากาศที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่เกษตร ดังนั้น หลายปีมาแล้วจวบจน ปัจจุบันจึงมีการศึกษาและพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ในการควบคุมศัตรูพืชให้ได้ผลโดยการลดการใช้สารเคมีกลุ่มที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบผลสำเร็จมากมายโดยกลุ่มวิจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  ทั้งนี้ ตัวห้ำศัตรูธรรมชาติ และ สารสกัดจากพืช ต่างเป็นวิธีการที่สำคัญอันหนึ่ง ดังนั้นเพื่อการศึกษาวิจัยที่เพิ่มพูนความรู้ด้านนี้ให้มีมากขึ้น และ สามารถปรับใช้ให้เข้ากับในประเทศไทยของเรามากขึ้น จึงก่อให้เกิดโครงการพัฒนาศัตรูธรรมชาติในกลุ่มตัวห้ำ และสารสกัดจากพืชนี้ขึ้นมา

                 แมงมุม จัดเป็นสัตว์ขาข้อกลุ่มหนึ่งที่พบโดยทั่วไป ทั้งที่อยู่ในบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม ในป่า ในถ้ำ และ อื่น ๆ ทั้งนี้มันเป็นศัตรูของแมลงและสัตว์อื่น ๆ หลากหลายชนิดเพราะมันเป็นตัวห้ำที่ต้องล่าสิ่งอื่นเป็นอาหาร แต่โดยทั่วไปมนุษย์ไม่ใช่อาหารของมัน เราจึงไม่ต้องกลัว แมงมุมมีวิธีการหลากหลายชนิดในดำรงชีวิต และการล่าเหยื่อ และส่วนใหญ่จะสร้างสารพิษที่เฉพาะเจาะจงกับเหยื่อที่เป็นอาหารของมัน ดังนั้นต้องระวังนิดนะในการดูแลมัน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่พิษของมันไม่มีผลต่อมนุษย์ แต่บางคนอาจแพ้ หรือ น้อยตัวนักที่อาจมีพิษที่มีผลต่อมนุษย์ เราก็ควรทำความรู้จักและระวังกันไป นอกจากนี้แมงมุมอาศัยอยู่ในสถานที่ที่หลากหลาย และกินอาหาร หรือสัตว์ที่แตกต่างกัน เหยื่อของมันหลายชนิดเป็นศัตรูของมนุษย์ ได้แก่ ยุง มด แมลงวัน เป็นต้น รวมทั้งศัตรูของพืชที่เราปลูก ได้แก่ เพลี้ยกระโดด หนอนกระทู้ และ ด้วงโคโรลาโด เป็นต้น รวมทั้งงานวิจัยที่เป็นที่รู้จักกันโดยกรมวิชาการเกษตรของไทยเรา ถึงความสำคัญของแมงมุมในการควบคุมศัตรูพืชในนาข้าว แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยในบางระบบ ก็ทราบว่ามันก็กินกันเอง และ กินศัตรูธรรมชาติตัวอื่นบ้างในช่วงที่อาหารขาดแคลน แต่ไม่ต้องตกใจนะคะ มันกินกันเองบ้างเพื่อความอยู่รอดให้มันยังคงอยู่ในระบบ และ ควบคุมไม่ให้ผู้ล่าบางชนิดที่มาก ๆ มีขนาดประชากรที่มากไป จะได้อยู่ ด้วยกันได้แบบหลากหลายชนิด และ ช่วย ๆ กันทำงานจะได้ไม่ใช่มีแค่ชนิดใดชนิดหนึ่งเด่นไป แล้วเวลาศัตรูพืชมาแปลก ๆ ก็ควบคุมไม่อยู่เพราะมีอยู่น้อยแบบ แต่หากมีตัวควบคุมที่หลากหลาย ศัตรูพืชมาแปลก ๆ ก็ยังพอคุมกันได้จริงไหมคะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน งานวิจัยที่ทำไปแล้วในโครงการได้แก่ การสำรวจแมงมุมที่หลากหลายในระบบนิเวศเกษตร ได้แก่ในพื้นสวนยางพารา ในสวนสละ ในแปลงพริก ในหน่อไม้ฝรั่ง ในประเทศไทย ซึ่งต่อยอดจากการสำรวจแมงมุมในระบบผักเกษตรอินทรีย์ แปลงแตงกวา แปลงมันฝรั่ง และไร่ถั่วเหลือง ที่รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะพบแมงมุมในกลุ่มแมงมุมใยกลม แมงมุมสุนัขป่า แมงมุมตาหกเหลี่ยม แมงมุมปู แมงมุมถุง แมงมุมกระโดด เป็นต้น ซึ่งเมื่อศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน ก็จะมีความเฉพาะเจาะจง และ มีความสัมพันธ์ กับสภาพแวดล้อมด้วย รวมทั้ง แม้ว่าแปลงเกษตรกรรม บางครั้งเริ่มจากพื้นที่ว่างเปล่า แต่แมงมุมมีความสามารถและมีวิธีการที่จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบนิเวศเกษตร จากพื้นที่ธรรมชาติข้างเคียงด้วย ดังนั้น เราสามารถที่จะปรับที่อยู่อาศัยให้มันในแปลงเกษตรกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้ามาอยู่ของแมงมุมชนิดที่เราต้องการได้ ทั้งนี้ได้มีการสำรวจในแปลงที่มี การใช้สารเคมีเทียบกับที่ไม่มีการใช้สารเคมีในแปลงหน่อไม้ฝรั่งในบางตำบลของ จังหวัดนครปฐม และการเปรียบเทียบวิเคราะห์แปลงที่มีการใช้ฟางข้าวคลุมดิน กับไม่มีฟางข้าวคลุมดินที่มีผลต่อ กิจกรรม และความหนาแน่นของแมงมุมชนิดต่าง ๆ ที่พบในแปลง ผักที่เคนตักกี้ และ ในแปลงพริก ในไทย ด้วยพบว่าเมื่อมีฟางข้าวคลุม และมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงน้อย ก็จะมีแนวโน้มที่พบแมงมุมมากกว่าด้วย ขณะเดียวกัน เพื่อจะให้เกษตรกร และนักวิจัยรุ่นเยาว์รู้จักแมงมุมมากขึ้นเพื่อจะได้ร่วมกันศึกษา และส่งเสริมให้มีแมงมุมในระบบนิเวศเกษตรของเราต่อไป จึงได้ทำการพัฒนาคู่มือแมงมุมในระดับวงศ์ เป็นฉบับภาษาไทย  แต่ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวอย่างแมงมุมอยู่ค่ะ ขอความร่วมมือท่านที่สนใจ สามารถติดต่อได้ยังโครงการเพื่อส่งตัวอย่างแมงมุมที่ท่านอยากรู้จัก หรือ เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน หรือ จัดระบบที่เหมาะสมในการเพิ่มจำนวนแมงมุมในแปลงของท่าน หรืออยากเข้าร่วมทีมมาศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการใช้แมงมุมในการควบคุมศัตรูพืชต่อไปจนสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้น ก็ยินดีค่ะ

                 ทั้งนี้ในพริกได้รับความเสียหายจากไรขาว ซึ่งเป็นไรศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่สำคัญของพริกในไทย และในต่างประเทศ โครงการได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสาะหาศัตรูธรรมชาติของไรขาว และ พร้อม ๆ กับทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลของไรขาวต่อความเสียหายของพืชที่เป็นพืชอาหารของไรขาว ได้แก่ พริก และสบู่ดำ  ทั้งนี้ไรขาวตัวเล็กมาก แมงมุมจับมันกินคงลำบาก และไม่อิ่ม จึงต้องมองหาแนวทางใหม่ในการกำจัด บัดนี้ได้ทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไรตัวห้ำบางชนิดมาเพื่อการควบคุมศัตรูพืชชนิดนี้ พร้อม ๆ กับการใช้สารเคมีที่สกัดจากพืชป่า และ วัชพืช ไปด้วยกัน  จากการศึกษาวิจัยทดสอบแยกส่วนกัน โดยที่ผ่านมา คือจับคู่ไรตัวห้ำบางชนิด ดูว่ากินไรขาวได้ไหม โตดีไหม และ เราจะเลี้ยงเพิ่มจำนวนตัวห้ำเหล่านั้นได้อย่างไร  และ จับคู่ทดสอบสารสกัดจากพืชต่าง ๆ จากวิธีการสกัดสารต่าง ๆ กับการอยู่รอด การลดลงของการวางไข่ของไรขาว และการหนีของไรขาวจากแหล่งที่อยู่ที่มีสารสกัด เพื่อคัดเลือกสารที่เป็นไปได้ในการควบคุมไรขาว  ทั้งนี้ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการเลี้ยงเพิ่มจำนวนตัวห้ำ Amblyseius cinctus Corpuz and Rimando เพื่อปล่อยลงแปลงในสภาพไร่ ได้ทดสอบความสามารถในการควบคุมไรขาวโดยไรตัวห้ำดังกล่าว  พบว่าสามารถลดประชากรของไรขาว และ เพิ่มผลผลิตของพริกในแปลงเกษตรกรได้ด้วย และหากการควบคุมเริ่มต้นตั้งแต่แรก ๆ ของการทำลาย ก็จะสามารถช่วยต้นพืชให้พื้นและกลับคืนมาให้ผลผลิตได้ดีกว่าควบคุมภายหลังมาก แต่มันจะทนทานต่อการใช้สารเคมีที่อาจจะต้องใช้คู่กันได้ดีเพียงไร ก็ต้องทำการศึกษาต่อไปอีก ขณะนี้ สารที่เป็นไปได้ที่ไปลดอัตราการวางไข่ของไรขาวจากพืชป่าบางชนิด ก็มี แต่ประสิทธิภาพยังสูงไม่มากนัก และกำลังทดสอบความเป็นพิษของสารดังกล่าวต่อไรตัวห้ำอยู่ จึงยังต้องสืบหากันต่อไป ทั้งนี้ระบบในการทดสอบได้เขยิบเลื่อนจากพริก ซึ่งมีศัตรูพืชหลากหลายแบบมาเป็นในสบู่ดำก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้ในการควบคุมในระบบที่ความเสียหายจากศัตรูไม่หลากหลายนัก และ เป็นระบบที่ปกติพยายามส่งเสริมการลดการใช้สารเคมีอยู่แล้ว จึงคาดว่าองค์ความรู้นี้ จะช่วยนำพาให้เราหาแนวทางควบคุมไรขาวในพริก และ ในพืชเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ที่โดนไรขาวทำลายในประเทศเราได้ต่อไป

                 ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ว่าแบบนี้คือไรขาวระบาดแล้วยัง ทางเราตั้งใจจะพัฒนาคู่มือการสังเกตอาการระบาดของไรขาวให้ท่านเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ท่านได้ตรวจสอบและควบคุมได้ทันการ โปรดติดตามตอนต่อไป หากท่านอยากทราบผลการศึกษาที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เบื้องต้นก่อน หรือสนใจจะร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้นี้ ไม่ว่าจะแจ้งเบาะแสการระบาดของไรขาวในระบบพืชเศรษฐกิจใด ๆ เพื่อเราจะได้ไปทดสอบใช้วิธีของเราควบคุมดู เพื่อดูประสิทธิภาพในสภาวะจริง ๆ หรือ การเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการที่ท่านประสบความสำเร็จในการควบคุมไรขาวของท่านเพื่อนำมาผนวกเข้ากับการใช้วิธีการผสมผสานในการควบคุมไรขาว และ ศัตรูพืชอื่น ๆ ในระบบที่มีอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาอยู่  หรือ พืชชนิดไหนที่ท่านคิดว่าเราน่าจะลองมาสกัดทดสอบการฆ่าไรขาวดู ท่านสามารถแจ้งให้เราทราบได้ที่ที่อยู่ข้างต้น หรือ e-mail: faaspnv@ku.ac.th

คณะผู้วิจัย
ดร.พัชนี วิชิตพันธุ์ และคณะ
สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม 73140
โทร 034-281106 ต่อ 7677 หรือ 08-1982-6500