โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
Raptor Rehabilitation and Release Project

            โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

  1. ฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อ ที่อ่อนแอเนื่องจากขาดอาหารบาดเจ็บหรือพลัดหลงในฤดูหนาว และนำส่งจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือจากประชาชนทั่วไปด้วยการตรวจสุขภาพ วินิจฉัยรักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อ กอปรด้วย อีแร้ง นกอินทรี เหยี่ยว นกเค้าแมว เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หากนกมีสภาพพร้อมจะดำรงชีวิตด้วยตนเอง
  2. ให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า เช่น สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
    องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น ด้านการฟื้นฟูสุขภาพของนกให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม ในกรณีมีนกล่าเหยื่อโดยเฉพาะชนิดที่กำลังถูกคุกคาม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ บาดเจ็บ ขาดอาหารหรือได้รับการส่งมอบหรือบริจาคจากประชาชนทั่วไปเพื่อให้นกได้รับการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และสวัสดิภาพของสัตว์ป่า

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อตรวจสุขภาพ บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อ เช่น บินตก พลัดหลงทิศทางในฤดูหนาวหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือโรคต่างๆ ให้มีสุขภาพแข็งแรง พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นที่อยู่และฤดูกาลที่เหมาะสมต่อชนิดของนกล่าเหยื่อ
  2. เพื่อคัดเลือกสัตว์ป่าที่มีความหลากหลายของพันธุกรรมเพิ่มเติมในประชากรของนกชนิดนั้น ในกรงเลี้ยง เช่น สวนสัตว์ ส่งผลให้มีหลากหลายของพันธุกรรมมากขึ้น หากนกตัวนั้นที่เมื่อได้รับการฟื้นฟูสุขภาพแล้วแต่ไม่พร้อมที่จะดำรงชีวิตด้วยตนเองในธรรมชาติ เช่น พิการถาวร แต่เป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์
  3. เป็นสถานที่ฝึกสอนและฝึกฝนเวชปฏิบัติของนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ และหน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบำบัดโรคสัตว์ปีก (Avian Veterinarian) โดยเฉพาะนกในธรรมชาติ เพื่อเป็นกำลังเสริมในฐานะบุคลากรด้านสุขภาพสัตว์ป่า สำหรับงานอนุรักษ์สัตว์ป่าในอนาคต
  4. เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่าง ๆ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

แนวทางการดำเนินงาน

  1. รับนกล่าเหยื่อหรือนกชนิดอื่นจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสุขภาพและมีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญนกชนิดที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered species) ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ
  2. ฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อ ถ่ายพยาธิภายในและพยาธิภายนอก ตรวจดรคภายในด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น โลหิตวิทยา เคมีคลินิกและระดับตะกั่วในเลือด และพิสูจน์ว่าปลอดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ทดสอบประสิทธิภาพการบินในกรงฝึกบิน และสำหรับนกล่าเหยื่อที่เข้าฟื้นฟูตั้งแต่ยังเป็นลูกนก จะมีการทดสอบการล่าเหยื่อมีชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่านกตัวนั้นจะสามารถล่าเหยื่อได้ด้วยตนเองในธรรมชาติ
    เมื่อนกที่ได้รับการฟื้นฟูมีสภาพพร้อมที่จะดำรงชีวิตในธรรมชาติทั้งในแง่สุขภาพและพฤติกรรมการล่าเหยื่อ จะดำเนินการปล่อยในถิ่นอาศัยและฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของนกชนิดนั้น  โดยจะดำเนินการขออนุญาตปล่อยนกล่าเหยื่อคืนสู่ธรรมชาติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นรายๆ ไป
  3. ในกรณี นกล่าเหยื่อได้รับการฟื้นฟูจนพ้นภาวะวิกฤตต่อชีวิตแล้ว แต่พิการอย่างถาวร เช่น ตาบอด ขาขาดหรือปีกถูกตัดเพื่อรักษาชีวิต หรือมีพฤติกรรมเชื่องต่อมนุษย์เนื่องจากสูญเสียสัญชาติญาณระวังภัย
    ทำให้นกไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้เมื่อถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ
    จำเป็นต้องเลี้ยงไว้บนพื้นฐานของความเมตตาต่อสัตว์ และสามารถก่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
    โดยใช้นกตัวดังกล่าวเป็น “ตำรามีชีวิต” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกล่าเหยื่อในธรรมชาติกับเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาหรือประชาชนที่สนใจ หรือส่งมอบให้สวนสัตว์รับไว้
    ในกรณีที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะขยายพันธุ์ในอนาคตเพื่อการอนุรักษ์นกชนิดนั้นในอนาคต
    โดยหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ จะดำเนินการขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นรายๆ ไป
  4. จัดทำทะเบียนประวัตินกล่าเหยื่อแต่ละตัวที่เข้ารับการฟื้นฟู
    เมื่อนกมีสุขภาพแข็งแรงและมีสภาพขนสมบูรณ์แล้วจะตรวจวัดเพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านชีวรูปพรรณ
    (Biometric data) และใส่ห่วงขา (leg banding/ringing) หรือรหัสอื่นๆ เช่น รหัสปีก (wing tag)
    หรือเครื่องส่งสัญญาณวิทยุหรือดาวเทียมตามความเหมาะสมของขนาดตัวของนก
    เพื่อเฝ้าติดตามนก หากมีผู้พบเห็นหรือจับนกได้อีกครั้ง เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ด้านปักษีวิทยา
    เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นหรือการเคลื่อนที่ของนกที่ปล่อยคืนธรรมชาติ และส่งมอบให้กับสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการอนุรักษ์นกล่าเหยื่อชนิดนั้นๆ ที่อาจจะยังมีข้อมูลดังกล่าวไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

                  นับตั้งแต่พุทธศักราช 2550 ที่โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้รับการจุดประกายจากโครงการฟื้นฟูสุขภาพแร้งดำหิมาลัย ชื่อ อนาคิน จนนำร่องให้เกิดความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2551 จนถึงเดือนมกราคม พุทธศักราช 2554 ช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพนกล่าเหยื่อ จำนวน 91 ตัว จากรายชื่อนกลเป็นนกล่าเหยื่อในเวลากลางวัน (Diurnal birds of prey/raptor) 20 ชนิด (จากจำนวน 55 ชนิดที่มีรายงานพบในประเทศไทย) ประกอบด้วย เหยี่ยว 44 ตัว นกอินทรี 3 ตัว และอีแร้ง 12 ตัว และนกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน (Nocturnal birds of prey/raptor) 7 ชนิด

ประกอบด้วย นกแสก 19 ตัว และนกเค้า ชนิดต่างๆ 13 ตัว และผลการดำเนินโครงการ ดังนี้

  1. ฟื้นฟูนกล่าเหยื่อให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 39 ตัว
  2. ตายเนื่องจากบาดเจ็บสาหัสหรือป่วยด้วยโรคร้ายแรง จำนวน 31 ตัว
  3. พิการหรือสูญเสียสัญชาติญาณสัตว์ป่า จนไม่พร้อมที่จะกลับไปดำรงชีวิตด้วยตนเองในธรรมชาติ จึงเลี้ยงไว้เป็น “ตำรามีชีวิต” จำนวน 9 ตัว
  4. กำลังรับการฟื้นฟูสุขภาพ จำนวน 12 ตัว


           
และจากการติดรหัสปีกที่อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 1 ตัวจากจำนวนทั้งหมด 10 ตัวที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 พบว่า อีแร้งสีน้ำตาหิมาลัย 1 ตัว บินอพยพกลับไปประเทศจีนถึงมณธลจี้หลิน ด้วยระยะทาง 3900 กิโลเมตร โดยประมาณ ภายในเวลา 3-4 เดือน

             นอกเหนือจากการดำเนินการช่วยเหลือนกล่าเหยื่อในประเทศไทยที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ในแง่สวัสดิภาพของสัตว์ป่าแล้ว การฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติยังเสมือนเป็นการอนุรักษ์นกล่าเหยื่อ โดยการลดความสูญเสียนกล่าเหยื่อในฐานะหน่วยพันธุกรรมของประชากรนกล่าเหยื่อในธรรมชาติ ให้ยังคงความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยการนำนกที่รับบาดเจ็บ  ขาดอาหารหรือถูกทำร้าย เช่น การยิง หรือล่า จากน้ำมือมนุษย์ ให้สามารถกลับไปทำหน้าที่นักล่า ผู้ควบคุมประชากรของสัตว์อื่นๆในระบบนิเวศในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งมีโครงการรองรับคลังพันธุ์กรรมของนกล่าเหยื่อในประเทศไทย  (Genetic Archive of Endangered Raptor Species in Thailand) เพื่อรวบรวมข้อมูลพันธุกรรมของนกล่าเหยื่อในประเทศไทยที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการวิจัย และการฟื้นฟูประชากรของนกล่าเหยื่อ ในกรณีที่มีประชากรลดลงมากจนน่าเป็นห่วงว่าจะสูญพันธุ์ และจำเป็นต้องมีกระบวนการเพิ่มจำนวนประชากรของนกล่าเหยื่อบางชนิดในอนาคต.

ไฟล์ภาพ ประกอบโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

1.อีแร้งดำหิมาลัย ภาพ : ไชยยันต์ เกษรดอกบัว


2.อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ภาพ : กำธร จันทร์สุวรรณศร

    อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ปล่อยคืนธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วันที่ 9 เมษายน 2552
    ภาพ : สมิทธิ์ สุติบุตร์

    4.
      แผนที่แสดงเส้นทางบินของอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จากจุดปล่อยที่ประเทศไทยไปประเทศจีน
      แผนที่ : จตุพร สวัสดี

      5.ขั้นตอนการใส่ห่วงขาประจำตัวของนกล่าเหยื่อที่รับการฟื้นฟูสุขภาพ

      6.นกอินทรีทุ่งหญ้าสเต็ป ปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วันที่ 28 เมษายน 2553
      ภาพ : กำธร จันทร์สุวรรณศร
คณะผู้วิจัย
ผศ.ดร.นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว1 รศ.ดร.นสพ.วรวิทย์ วัชชวัลคุ1 นางตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง2 นสพ.ดร.พรชัย สัญฐิติเสรี1
1หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์  คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 
2 สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
โทร 02-5790058-9 ต่อ 6606