“ทาร์ตไท” หรือ “ขนมครกกึ่งสำเร็จรูป” เป็นผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารประจำปี 2553 หัวข้อ “Globalize Thai Food to Creative Economy” จากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สมาคมสภาวิชาการอุตสาหกรรมเกษตร และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในงาน Food Innovation Asia Conference 2010
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาหารว่างเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยพัฒนาอาหารว่างไทย ซึ่งมีคุณลักษณะแสดงถึงเอกลักษณ์ของไทยให้เป็นอาหารว่างสากลสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยใช้แป้งข้าวกล้องงอกจากข้าวกล้องพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นวัตถุดิบหลัก และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพในการส่งออก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ขนมครกกึ่งสำเร็จรูป ประกอบด้วยสองส่วน คือ เปลือกทาร์ต หรือ ส่วนของถ้วยขนมครก และหน้าทาร์ตผงกึ่งสำเร็จรูป จากการพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิต ได้ส่วนผสมในส่วนของแป้งทั้งของเปลือกทาร์ต และหน้าทาร์ต ทำจากแป้งข้าวกล้องงอก ร้อยละ 100 ซึ่งมีกรรมวิธีการเตรียมที่สะดวกและง่ายต่อการนำมาบริโภค โดยผสมน้ำอุ่นลงในส่วนผสมผงของหน้าทาร์ต คนให้เข้ากัน จากนั้นเข้าเตาไมโครเวฟเป็นเวลา 2 นาที เทหน้าทาร์ตลงในเปลือก ตกแต่งหน้าต่างๆ ด้วยผักหรือผลไม้ตามใจชอบ ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไทมีกลิ่นหอมของกะทิและแป้งข้าว ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของขนมไทย และมีเนื้อสัมผัสกรอบด้านนอก นุ่มใน เหมาะสำหรับเป็นอาหารว่างสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปมีอายุการเก็บรักษาประมาณ 5 เดือน เมื่อบรรจุในถุงอลูมิเนียม ฟลอยด์ลามิเนต ที่อุณหภูมิห้อง (30+2oC) จากการวิเคราะห์คุณภาพของทาร์ตไท พบว่า ผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วยเปลือกทาร์ต 8 ชิ้น (32 กรัม) และหน้าทาร์ตผงสำเร็จรูป (88 กรัม) มีกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริค (Gamma-aminobutyric acid, GABA) เท่ากับ 2.70 mg
ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไทที่พัฒนาขึ้นนี้นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไปสู่ความเป็นสากล เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ เหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไป สามารถทำการตลาดได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชน์ หรือจำหน่ายเป็นชุดอาหารในร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการผลิตในระดับนำร่องโดยใช้เครื่องมือในการขึ้นรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
|