ดร.ศิริวรรณ บุรีคำ
ได้รับการประกาศเกียรติคุณระดับดี ในการนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2553
สาขา ไม้ดอกไม้ประดับเนื่องในการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9
ผลงาน : การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญของกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ปลอดโรคไวรัส
จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

ประวัติส่วนตัว

วุฒิ

สาขา

ปี พ.ศ.ที่จบ

ชื่อสถานศึกษา

วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.)

Tropical Agriculture

2544

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม.)

เกษตรศาสตร์

2525

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)

เกษตรศาสตร์

2522

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติการทำงาน

                 
                 ตำแหน่งปัจจุบัน    นักวิจัย ระดับ 8 (ชำนาญการ) สังกัดงานเทคโนโลยีชีวภาพ ฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

งานวิจัย      

  • การกำจัดไวรัสจากเหง้าพุทธรักษาและผลิตต้นพันธุ์ปลอดไวรัสด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (2553-2554)
  • การคัดเลือก และขยายโคลนของต้นหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงอับละอองเรณู (2552-2554)
  • การปรับปรุงพันธุ์ยูคาลิปตัสเพื่อปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยการฉายรังสีแกมมาร่วมกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (2551-2553)      
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ปลอดโรคไวรัสและเทคนิคการตรวจสอบโรค (2550-2551)
  • การคัดเลือกสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) พันธุ์ดีโดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยวิธีฉายรังสีแกมมาร่วมกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (2549-2551)
  • การพัฒนาคุณภาพ และเทคนิคการผลิตเมล็ดเทียมของหน่อไม้ฝรั่งโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (2548-2550)
  • การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกวาวเครือขาว (2548-2549)
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตกล้วยไม้ของไทยโดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ (2547-2549)
  • การผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายบางชนิดให้ปลอดโรคใบด่าง (CyMV) โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการพัฒนาเทคนิคการตรวจโรคด้วยวิธีทางเซรุ่มวิทยา (2547-2548)
  • การศึกษาและเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์สารทุติยภูมิของพืชสมุนไพรไทยที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ (2545-2548)
  • The Improvement of Khao Dawk Mali 105, an Elite Aromatic Thai Rice, for Abiotic Stress Tolerance (1999-2001)

ผลงานวิจัยโดยสรุป

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญของกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ปลอดโรคไวรัส

 

                  ต้นกล้วยไม้ที่เป็นโรคใบด่างซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส cymbidium mosaic virus (CymMV) ใบแสดงอาการด่าง มีแผลไหม้ อาการจุดช้ำน้ำ หรือจุดด่างเป็นสีเหลือง ยอดบิด ลำต้นแคระแกร็น ดอกมีขนาดเล็กกว่าปกติ ลักษณะดอกไม่สมบูรณ์ กลีบดอกมีสีซีด หรือดอกด่าง ช่อดอกสั้น คุณภาพของดอกไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มูลค่าของผลผลิตลดลง เป็นอุปสรรคในการส่งออกของกล้วยไม้ตัดดอก อีกทั้งเชื้อไวรัส CymMV นี้สามารถเข้าทำลายต้นกล้วยไม้ได้หลายชนิด จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางและยากที่จะแก้ไขได้ (ธีระ, 2532) เนื่องจากเชื้อไวรัส CymMV เป็นโรคที่ไม่สามารถกำจัดได้โดยการใช้สารเคมี สามารถถ่ายทอดได้โดยติดไปกับหน่อ หรือต้นพันธุ์ที่เป็นโรค และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแต่ง ซึ่งในบางครั้งต้นกล้วยไม้ที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย ถ้านำต้นกล้วยไม้ที่เป็นโรคไวรัสมาใช้ในการขยายพันธุ์ ก็จะทำให้ต้นกล้วยไม้ที่ได้มีเชื้อโรคไวรัสติดไปเกิดการระบาดของโรค (Kim et al., 1970) Wong et al. (1994) รายงานว่า 50% ของกล้วยไม้สกุลหวายในประเทศสิงคโปร์ ที่พบมีเชื้อไวรัส CymMV เป็นต้นพันธุ์กล้วยไม้ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ดังนั้นการตรวจเชื้อไวรัส CymMV ก่อนนำต้นพันธุ์กล้วยไม้ไปขยายพันธุ์ ตลอดจนการผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ให้ปลอดโรคจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้สามารถลดอัตราการแพร่ระบาดของโรคลงได้ (Arditti & Ernst, 1993)

               การผลิตต้นพันธุ์กล้วยไม้ให้ปลอดโรคโดยอาศัยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญในสภาพปลอดเชื้อ ซึ่งทำได้โดยการนำหน่ออ่อนจากต้นกล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ Madame Pompadour มาฟอกฆ่าเชื้อในสารละลายคลอร็อกซ์ความเข้มข้น 20% และ 5% โดยปริมาตร เป็นเวลานาน 10 นาที และ 5 นาทีตามลำดับ ตัดเนื้อเยื่อเจริญขนาด 0.3 มม. จากตายอดของหน่อกล้วยไม้ภายใต้กล้องสเตอริโอในสภาพปลอดเชื้อ นำมาเพาะเลี้ยงในอาหารเหลวสูตร VW (Vacin & Went, 1949) ซึ่งมีน้ำมะพร้าวความเข้มข้น 15% โดยปริมาตร และในอาหารสูตร VW ไม่มีน้ำมะพร้าวแต่มี NAA ความเข้มข้น 0.1-1.0 มก.ต่อลิตร สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญที่มีการพัฒนาเป็นโปรโตคอร์มได้ในอัตราร้อยละ 14.3-64.3 ของจำนวนเนื้อเยื่อเจริญที่ใช้ในแต่ละการทดลอง พบว่าร้อยละ 26.5 ของจำนวนเนื้อเยื่อเจริญทั้งหมด มีการพัฒนาเป็นยอด และโปรโตคอร์มได้ ภายในเวลา 6 สัปดาห์ ทำการตรวจเชื้อไวรัสในน้ำคั้นจากใบกล้วยไม้ที่เจริญมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยวิธี ELISA (enzyme-linked immunosorbent assay) พบว่ามี clones กล้วยไม้ปลอดเชื้อไวรัส CymMV คิดเป็นร้อยละ 70.8 ของ clones กล้วยไม้ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญ และหลังจากทำการคัดเลือก clones ที่ปลอดเชื้อไวรัสด้วยเทคนิค (ELISA) แล้วจึงทำการเพิ่มปริมาณ และชักนำให้เกิดต้นที่มีรากสมบูรณ์พร้อมที่จะออกปลูกในสภาพธรรมชาติต่อไป

                  ทั้งนี้ผู้วิจัยขอขอบคุณ ผศ.ดร.รัชนี ฮงประยูร และคณะ (ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม) สำหรับการตรวจเชื้อไวรัส CymMV ในกล้วยไม้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญ

ภาพที่ 1  การพัฒนาของเนื้อเยื่อกล้วยไม้หวายมาดามปอมปาดัวร์ (D. pompadour) ที่อายุ 4 เดือนซึ่งเจริญมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญในอาหารเหลวสูตร Vacin & Went (VW; 1949) ที่เติม:- (1a-1b) น้ำมะพร้าว 15% โดยปริมาตร, (1c-1d) NAA 0.01 มก.ต่อลิตร และ (1e-1f) NAA 0.1 มก.ต่อลิตร


หน่วยงาน : ฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 0-2942-8740