ประวัติส่วนตัวหัวหน้าโครงการ (รศ.ดร. งามผ่อง คงคาทิพย์)
รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ ข้าราชการบำนาญ อายุ 60 ปี 6 เดือน ภูมิลำเนาเดิม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่อยู่ปัจจุบัน อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นบุตรของอาจารย์นิยม- นางอุบล ทองเป็นใหญ่ คู่สมรสชื่อ รศ. ดร. บุญส่ง คงคาทิพย์ มีธิดาชื่อ น.ส.อภิฤดี คงคาทิพย์ และบุตรชื่อ นายกีรติ คงคาทิพย์
รศ.ดร.งามผ่อง จบการศึกษาระดับประถมต้นจากโรงเรียนวัดตุ๊กตาภิทัยธารามประสิทธิ์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ปีพ.ศ. 2504 ระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนเพิ่มวิทยามูลนิธิ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ปีพ.ศ. 2509 ระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย อ.เมือง จ.นครปฐม ปีพ.ศ. 2511 ระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.,เคมี) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีพ.ศ. 2515 ระดับปริญญาโทสาขาเคมีอินทรีย์(วท.ม.,เคมีอินทรีย์)จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปีพ.ศ. 2519 และระดับปริญญาเอกสาขาเคมีอินทรีย์(Ph.D.,Organic Chemistry) จากมหาวิทยาลัย Queen’s University, Belfast ประเทศสหราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2524
ประวัติการทำงาน
รศ.ดร.งามผ่อง เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 หลังจากทำงานได้ 2 ปี ได้ลาศึกษาต่อทางด้านเคมีอินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2517-2519) และได้กลับมารับราชการ 1 ปี หลังจากนั้นได้ลาศึกษาต่อทางด้านเคมีอินทรีย์ที่มหาวิทยาลัย Queen’s University, Belfast ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2520-2524) ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปีพ.ศ. 2526-2531 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์เมื่อปีพ.ศ. 2541-2542
ผลงานวิจัยโดยสรุป
สรุปผลงานประดิษฐ์:ได้ทำการประดิษฐ์ตำรับอาหารไก่สูตรใหม่ที่ผสมสารสกัดสมุนไพร เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสต่างๆในไก่รวมทั้งไข้หวัดนก ที่สามารถขยายสู่เชิงพาณิชย์ได้
ที่มาของการประดิษฐ์:ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ได้มีการพัฒนา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการใช้สารปฏิชีวนะผสมลงในอาหารสัตว์เพื่อวัตถุประสงค์ในการเร่งการเจริญเติบโต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหาร และควบคุมโรคสัตว์ การใช้สารปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์เป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น ก่อให้เกิดมะเร็ง โลหิตจาง เป็นต้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรคซึ่งมีผลทำให้การใช้ยาในการรักษาโรคติดเชื้อในมนุษย์ไม่ได้ผล จากสาเหตุดังกล่าวประเทศนำเข้าเนื้อสัตว์ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป จึงได้ออกกฎหมายห้ามใช้สารปฏิชีวนะทุกชนิดในการเลี้ยงสัตว์ และในปัจจุบัน ไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีสารตกค้างของสารปฏิชีวนะดังกล่าว ดังนั้นประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตไก่เนื้อเพื่อส่งออกจึงต้องหันมาใช้อาหารไก่ที่ปราศจากสารปฏิชีวนะ ทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจ คือ การใช้สมุนไพรเพื่อทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะ ขมิ้นชัน (Curcuma longa) ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรทางเลือกที่มีศักยภาพสูง เพราะนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาในการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอย่างกว้างขวางแล้ว ยังสามารถกระตุ้นการกินและการย่อยอาหาร เร่งการเจริญเติบโต ตลอดจนช่วยบำรุงสุขภาพในแง่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย และที่สำคัญที่สุดคือไม่ทำให้มีสารตกค้างที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาหรือเป็นพิษต่อผู้บริโภค
โรคไข้หวัดนกเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งอีกปัญหาหนึ่งในการเลี้ยงไก่ โดยได้มีการระบาดโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 และทำให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่อย่างมหาศาล มูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ดังนั้นจากการที่คณะวิจัยได้ค้นพบสารยับยั้งเชื้อไข้หวัดนก 1 ชนิดในขมิ้นชัน และพบว่าสารสกัดขมิ้นชันสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดนกได้ ซึ่งจะทำให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้สารสกัดขมิ้นชันในการป้องกันเชื้อไข้หวัดนก
คุณสมบัติและลักษณะเด่น:
1.ตำรับอาหารไก่ตำรับใหม่ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้สารสกัดสมุนไพรขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบ เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนสารปฏิชีวนะ สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสและเพิ่มภูมิคุ้มกันในไก่ ตำรับอาหารนี้มีขนาดที่ถูกต้องและสะดวกในการใช้และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
2.ตำรับอาหารไก่ที่ประดิษฐ์นี้ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในไก่กระทงต่อโรคนิวคาสเซิล
3.สามารถพัฒนาสารสกัดสมุนไพรขมิ้นชันในรูปพร้อมใช้ ซึ่งออกฤทธิ์ลดความเครียด และเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบไม่เจาะจงได้ดี
4.สารสกัดขมิ้นชันในรูปพร้อมใช้มีสารsesquiterpeneที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 และสารสกัดสมุนไพรขมิ้นชันมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และได้รับการจดสิทธิบัตรนานาชาติ ซึ่งสิทธิบัตรนี้ครอบคลุม 28 ประเทศ
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์:
1.ได้นำตำรับอาหารไก่ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นนี้ไปเลี้ยงไก่โดยไม่ต้องใส่สารปฏิชีวนะ และสามารถป้องกันเชื้อไวรัสที่เกิดในไก่
2.ได้เผยแพร่ผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
3.ได้จดสิทธิบัตรนานาชาติจำนวน 1 ฉบับ ในชื่อเรื่อง VIRUS AND TARGET CELL INTERACTION INHIBITION, Patent Application No.: PCT/SG2008/000456
|