ศาสตราจารย์ อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์
ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น ประจำปี 2552”
จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาพืชไร่นา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก University of the Philippines at Los Banos ประเทศฟิลิปปินส์ รับราชการเป็นอาจารย์ของภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2550

          ในระหว่างรับราชการ งานหลักคือการสอนนิสิตในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รายวิชาที่สอนจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยจะเน้นการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นสำคัญ นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์  ยังได้เริ่มทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีข้อมูลและผลงานที่จะนำมาใช้ประกอบการสอนในรายวิชาต่างๆ งานวิจัยที่ทำจะเป็นงานทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยเทคนิคการกลายพันธุ์หรืออาจเรียกว่าเป็นการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ สิ่งก่อการกลายที่ใช้คือสารเคมีและรังสีแกมมา แต่จะใช้รังสีแกมมามากกว่าสารเคมี เนื่องจากภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป มีต้นกำเนิดรังสีที่ใช้งานได้ทั้งการฉายแบบเฉียบพลันและแบบโครนิกและยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รวมทั้งสิ่งแวดล้อมกว่าการใช้สารเคมี

           พืชที่นำมาฉายรังสีเมื่อเริ่มทำงานวิจัยใหม่ๆ คือพุทธรักษา ต่อมาก็ได้ฉายรังสีไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด โดยเฉพาะไม้ใบประดับ ทำให้ได้พันธุ์กลายหลายพันธุ์ เมื่อได้ประสบการณ์จากการวิจัยเบื้องต้นแล้ว ต่อมาศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ ศาสตราจารย์  ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ และศาสตราจารย์  ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร์ ก็ร่วมกันเขียนคำขอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนอุดหนุนวิจัยจากแหล่งทุนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมี ศาสตราจารย์  ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งก็ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เพื่อทำการวิจัยการใช้รังสีแกมมาในการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองให้ต้านทานโรคราสนิมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ทำความเสียหายแก่ถั่วเหลืองที่ปลูกในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมาก ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างถั่วเหลืองพันธุ์กลายที่ต้านทานโรคราสนิมถั่วเหลือง และได้ตั้งชื่อพันธุ์กลายนั้นว่าพันธุ์ “ดอยคำ” หลังจากนั้นจึงทำการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูก ซึ่งเกษตรกรก็ใช้พันธุ์ “ดอยคำ” ปลูกในท้องที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิมมาจนถึงปัจจุบัน

            นอกจากถั่วเหลืองแล้ว ศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ ยังได้ร่วมงานกับนักวิจัยอีกหลายท่านทั้งในหน่วยงานเดียวกันและต่างหน่วยงาน เพื่อใช้รังสีในการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียว ฝ้าย ไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด ได้แก่ แอฟริกันไวโอเลต แพรเซี่ยงไฮ้ พุทธรักษา ปทุมมา ชวนชม ฯลฯ ตลอดระยะเวลา 38 ปี ที่ได้ทำงานวิจัยการใช้รังสีในการปรับปรุงพันธุ์พืช จึงสามารถนำพันธุ์กลายที่ได้ไปขึ้นทะเบียนพืชพันธุ์ใหม่ไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ/หรือกรมวิชาการเกษตรหลายพันธุ์ ได้แก่  ถั่วเหลืองต้านทานโรคราสนิม 1 พันธุ์ (พันธุ์ดอยคำ)  แพรเซี่ยงไฮ้ 10 พันธุ์ (พันธุ์ชมพูประภารัจ  แพททิก  มก.2 ฯลฯ)  พุทธรักษา 37 พันธุ์ (พันธุ์ เหลืองอรุณี  ส้มสิรนุช  ธีระ ฯลฯ) ชวนชม 2 พันธุ์ (พันธุ์ซุปเปอร์เรด และ ซุปเปอร์ไวท์) และ ฝ้ายที่ต้านทานเพลี้ยจักจั่น 1 พันธุ์ (มก 1)        

                 ผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งทางด้านวิชาการและบริการสังคม ได้แก่ การเขียนผลงานเชิงวิชาการหรือบทความตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ นิตยสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ การนำผลงานไปเสนอในการประชุมทางวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ การไปเป็นวิทยากรในการประชุม/สัมมนา การจัดฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  การแนะนำพืชพันธุ์ใหม่สู่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ผลงานวิจัยที่ได้ นอกจากจะตีพิมพ์/เผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญคือนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยเทคนิคการกลายพันธุ์ รวมทั้งเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “การกลายพันธุ์ : เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช” สำหรับผู้สนใจงานด้านการกลายพันธุ์ของพืชอีกด้วย

                จากการทำงานวิจัยโดยใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชจนมีผลงานอย่างต่อเนื่อง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)ได้พิจารณาให้ศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ เป็นนักนิวเคลียร์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2552  และได้เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานจากศาสตราจารย์ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ในวันเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552

                    ปัจจุบัน ศาสตราจารย์อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ เป็นที่ปรึกษาของศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี และอาจารย์พิเศษ ของภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาลูกผสมโดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์

IMG_0397.JPG

IMG_0398.JPG

IMG_3501.JPG

Picture2.jpg

Picture3.jpgq





หน่วยงาน : ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2562-5555 ต่อ 1202