เครื่องผลิตไบโอดีเซล KUB-200 และการควบคุมคุณภาพไบโอดีเซลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        เครื่องผลิตไบโอดีเซล KUB-200 ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเครื่องผลิตไบโอดีเซลสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของมหาวิทยาลัย  โดยมี 3 หน่วยงานหลักร่วมในการวิจัยและพัฒนาได้แก่ 1.กองยานพาหนะ อาคารและสถานที่ 2.คณะวิทยาศาสตร์ (ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปาล์มน้ำมัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และ 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)  และในขณะนี้ได้พัฒนามาเป็นเครื่องผลิตไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KUB-200 ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบระดับชุมชนที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะดำเนินการผลิต และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและสังคมแล้ว

        เครื่องผลิตไบโอดีเซล KUB-200 มีกำลังการผลิต 200 ลิตร/รอบ สามารถผลิตไบโอดีเซลได้จากน้ำมันพืชใช้แล้ว น้ำมันปาล์ม น้ำมันสบู่ดำ  โดยใช้ปฏิกิริยาการผลิตเป็นปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน  จุดเด่นสำคัญของเครื่อง KUB-200 คือสามารถเลือกระบบกำจัดสิ่งปนเปื้อนในไบโอดีเซลได้ 2 ระบบ คือ ระบบคอลัมน์เรซินแลกเปลี่ยนไอออนที่ไม่ต้องล้างน้ำ และระบบที่ล้างนี้พร้อมเครื่องบำบัดน้ำเสีย  ซึ่งคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ของทั้ง 2 ระบบ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของไบโอดีเซลชุมชนที่กำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงาน  นอกจากนี้จุดเด่นอีกข้อคือ การบริการควบคุมคุณภาพไบโอดีเซลที่ผลิตโดยเครื่อง KUB-200 โดยห้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน  รวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์


เครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KUB-200)

การควบคุมคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซล

        ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปาล์มน้ำมัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ให้บริการแก่ชุมชุนหรือผู้สนใจที่ใช้เครื่องต้นแบบ KUB-200 ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล  โดยทำการทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิต  เพื่อให้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  รวมทั้งการบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้โดยใช้วิธีมาตรของ ASTM ซึ่งค่าคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลที่วิเคราะห์คือ ค่าต่าง ๆ ดังนี้

    • ค่าความหนืด ณ อุณหภูมิ 40 °C วิเคราะห์โดยมาตรฐานของ ASTM D445
    • ค่าจุดวาบไฟ วิเคราะห์โดยมาตรฐานของ ASTM D93
    • ค่าปริมาณน้ำและตะกอน วิเคราะห์โดยมาตรฐานของ ASTM D2709
    • ค่าความเป็นกรด วิเคราะห์โดยมาตรฐานของ ASTM D664
    • ค่ากลีเซอรีน วิเคราะห์โดยมาตรฐานของ ASTM D6584

    รูปแสดงห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล

     

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร. วิทยา  ปั้นสุวรรณ
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปาล์มน้ำมัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร
.  0-2562-5555 ต่อ 2120