มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่….ห้วยบง 80
The New Cassava Variety….Huay Bong 80

                มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 80” เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ที่พัฒนามาโดยความร่วมมือระหว่างภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย  เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ในปี 2535  พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่มีแป้งเฉลี่ยสูงถึง 27.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 ผลผลิตหัวสดใกล้เคียงกับพันธุ์ห้วยบง 60 แต่สูงกว่าเกษตรศาสตร์ 50 มีลักษณะทรงต้นสูง แตกกิ่งน้อย เหมาะสมกับการปลูกของเกษตรกร ตลอดจนผลผลิตหัวสดเหมาะกับการใช้แปรรูปทำมันเส้น แป้ง และเอทานอล  แต่ไม่เหมาะกับการบริโภคโดยตรงเนื่องจากมีปริมาณไซยาไนด์สูง

                พันธุ์ “ห้วยบง 80” เป็นพันธุ์ที่ยื่นจดทะเบียนรับรองสิทธิบัตรต่อกรมวิชาการเกษตร ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ในนามของมูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้ามนำพันธุ์นี้ไปส่งปลูกยังต่างประเทศ หรือการค้าขายพันธุ์ดังกล่าว เป็นสิทธิของมูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลักษณะเด่นของมันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 80

1.  ให้ผลผลิตหัวสดสูงใกล้เคียงกับพันธุ์ห้วยบง  60 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.9-5.5 ตัน/ไร่
2.  ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ยสูง  27.3  เปอร์เซ็นต์  สูงกว่าพันธุ์ห้วยบง 60  และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50
3.  เปอร์เซ็นต์ความงอก และความอยู่รอดสูง
4.  ลำต้นสูง และมีการแตกกิ่งน้อย สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และเก็บต้นพันธุ์เพื่อใช้ปลูกต่อไป และสามารถนำไปปลูกในระยะปลูกถี่ขึ้น
5.  ผลผลิตตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เหมาะกับการส่งเสริมในเขตที่มีศักยภาพของผลผลิตสูง หรือเหมาะกับเกษตรกรก้าวหน้า
6.  มีแป้ง   มันแห้ง   และไซยาไนด์ในหัวสูงเป็นพันธุ์ที่สำหรับใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมแป้ง มันเส้น และเอทานอล
7. แป้งมีความหนืดสูง สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมทั่วไป

ข้อแนะนำในการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 80

                มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 80” เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ เมื่อได้รับพันธุ์ ห้วยบง 80 นี้แล้ว ควรจะทดลองปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์ดีพันธุ์อื่นที่ใช้อยู่ หากได้รับผลผลิตสูงกว่าและลักษณะอื่นเป็นที่พอใจ จึงขยายปลูกเป็นจำนวนมาก

                ลักษณะของสายพันธุ์นี้จะแตกกิ่งน้อยและลำต้นค่อนข้างจะตรงมากกว่าพันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ทำให้สะดวกต่อการตัดเก็บต้นพันธุ์และสามารถเพิ่มจำนวนต้นปลูกต่อไร่ให้สูงขึ้นได้(ถี่ขึ้น)

                นอกจากนั้นการที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือสูตร 16-8-16 หรือ 15-15-15 อัตรา  25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะที่ดินมีความชื้น) หรือใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ หว่านก่อนพรวนดินปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอายุน้อยกว่า 10 เดือน

ตารางเปรียบเทียบผลผลิตหัวสดและแป้งของพันธุ์มันสำปะหลังที่นิยมปลูกกับพันธุ์ “ห้วยบง 80” ผลผลิตของ
“ห้วยบง 80”  ทดลองปี 2542 – 2552  จำนวน  93  แปลง

พันธุ์

ผลผลิต
(กก./ไร่)

ปริมาณ
แป้ง

ปริมาณ
มันแห้ง

ผลผลิตแปรรูป
(กก./ไร่)

หัวสด

หัวแห้ง

%

RDMC (%)

มันเส้น 2/

แป้ง

ห้วยบง 80

5,027

1,948

27.3

38.4

2,254

1,384

ห้วยบง 60

5,062

1,853

25.6

36.6

2,155

1,308

เกษตรศาสตร์ 50

4,855

1,806

25.5

36.8

2,087

1,255

ระยอง 5

4,496

1,664

24.2

37.1

1,946

1,105

ระยอง 72 1/

4,836

1,673

22.6

34.2

1,945

1,116

ระยอง 90 1/

4,152

1,555

25.1

37.2

1,809

1,065

 หมายเหตุ            1/  เฉลี่ยจาก  59  แปลง
                             2/  มันเส้นคำนวณที่ความชื้น 14%

ลักษณะประจำพันธุ์

ยอดสีเขียวอ่อน

ลำต้นสีเขียวเงิน   ไม่แตกกิ่ง

สีเปลือกหัว  น้ำตาลอ่อน

สีเนื้อหัว  สีขาว

 

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.วิจารณ์  วิชชุกิจ1  ศ.ดร.เจริญศักดิ์  โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์1  รศ.ดร.เอ็จ   สโรบล1  ผศ.จำลอง  เจียมจำนรรจา1  นายประภาส  ช่างเหล็ก2  รศ.ดร.กล้าณรงค์  ศรีรอต3
ดร.เกื้อกูล  ปิยะจอมขวัญ3   รศ.วัชรี  เลิศมงคล1   นายจำลักษณ์ ศรีปัญญา1  และ สุภาวดี บุญมา1        
1ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน  กรุงเทพมหานคร 10900
2สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรุงเทพมหานคร 10900
3หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและ
อุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กรุงเทพมหานคร 10900