ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 104,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่กลับมีฐานะยากจน มีหนี้สินเกือบทุกคนโดยเกษตรกรมักกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และไม่สามารถหลุดพ้นจากหนี้ได้ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งกับธนาคารและตัวเกษตรกรเอง ในปี 2551 ทาง ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิปลอดภัยโดยการใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์เป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากในปีที่ผ่านมาปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชมีราคาสูงขึ้นมาก แม้ราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้นแต่ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งในปี 2551 ทางโครงการได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่และลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ทำนาให้รู้จักวิธีการนำมูลสัตว์มาใช้ในการปลูกพืชโดยการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์แบบแผนใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก ประหยัด ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าปุ๋ยและสารเคมี
จากการเก็บข้อมูลในปี 2551 แปลงสาธิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการข้าวในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม พบว่า การใช้มูลสัตว์ในรูปของน้ำสกัดมูลสุกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ 4-31 เปอร์เซ็นต์ (52-424 บาท/ไร่) และเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกได้ 27-118 เปอร์เซ็นต์ (41-312 ก.ก./ไร่) โดยเกษตรกรมีความพึงพอใจมากเนื่องจาก 1) ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าวได้ 2) ข้าวมีคุณภาพดี เมล็ดใส แกร่ง ได้น้ำหนัก แข็งแรงและไม่เป็นโรค 3) วิธีการทำและใช้ปุ๋ยง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพดี 4) เป็นวิธีที่ช่วยบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน 5) ปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในปี 2552 ทางคณะทำงานได้ดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ซ้ำในพื้นที่เดิมให้เกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันก็ขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ อีกรวม 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อำนาจเจริญ เชียงใหม่ เชียงราย สระแก้ว พัทลุง และสงขลา ซึ่งการใช้น้ำสกัดมูลสุกรในการฉีดพ่นนาข้าวของเกษตรกรทุกจังหวัดก็ให้ผลดีคือสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าวได้เช่นเดียวกัน
แนวทางการใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าว
- การใช้มูลสุกรหรือมูลโคนมแห้งในอัตรา 200-250 กก./ไร่ หมักตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดินและเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดิน ส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายตอซังทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ การย่อยสลายของตอซังเป็นไปอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ย่อยสลายเมล็ดข้าวร่วง ข้าวดีด ดอกหญ้า ต้นหญ้ารวมทั้งวัชพืช ไม่ให้มีโอกาสโตขึ้นมาแข่งกับข้าวที่จะปลูกต่อไป
- การใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางด้วยน้ำ 20 เท่าแช่เมล็ดข้าวช่วยให้ข้าวงอกเร็ว เนื่องจากมีอาหารสะสมในเมล็ดข้าวจึงโตเร็วและคลุมต้นหญ้าได้ก่อน
- การใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางน้ำ 10-20 เท่าฉีดพ่นทางใบอัตรา 40 ลิตรต่อไร่ ทุก 15 วัน จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ช่วยให้ต้นข้าวได้รับธาตุอาหารอย่างสม่ำเสมอ เติบโตและให้ผลผลิตดี
การใช้น้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 100 ลิตรต่อไร่รดให้พืชทางดินโดยให้พร้อมกับน้ำที่ปล่อยเข้าสู่แปลงนา เมื่อข้าวอายุ 30 และ 60 วัน ช่วยให้ข้าวทุกต้นได้รับธาตุอาหารครบสมบูรณ์และเพียงพอยิ่งขึ้น
ภาพเกษตรกรตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี
นายบุญจันทร์ ต้นสิน ที่อยู่ 43 ม. 10 ต.สมสะอาด อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โทรศัพท์ 083-3669716
ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 40 ไร่
เข้าโครงการส่งเสริมการใช้มูลสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวเป็นปีที่ 2 โดยในปี 2552 ใส่มูลกระบือเป็นปุ๋ยรองพื้น แล้วไถกลบตอซัง และฉีดพ่นน้ำสกัดมูลสุกร 5 ครั้ง
|