ไพลจัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Zingiber cassumunar Roxb. มีชื่อพ้องคือ Zingiber purpureum Roscoe และมีชื่อท้องถิ่นต่างๆ กันไป เช่น ภาคเหนือ เรียก "ปูเลย" ภาคกลางเรียก "ไพล" หรือ "ว่านไฟ" แม่ฮ่องสอนเรียก "มิ้นสะล่าง" (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, 2552) ไพลเป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันตามบ้านเรือนเพื่อใช้ในการประกอบเป็นยาไทยแผนโบราณ ไพลเป็นไม้ลงหัว มีเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน เนื้อในเหง้ามีสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบเรียวยาว ปลายใบแหลม ดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นแท่งกลมยาวปลายแหลมออกจาก เหง้าใต้ดิน กระจายพันธุ์โดยการใช้เหง้า ชอบดินเหนียวปนทราย แสงแดดพอควร และมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ไพลสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตไพลสด 94,578 กิโลกรัม ผลผลิตไพลสามารถจำหน่ายได้ในรูปของ ไพลสด ไพลแห้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำมันไพล และน้ำมันหอมระเหยจากไพล (องค์การเภสัชกรรม, 2552) เหง้าไพลประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสารสำคัญที่ทำหน้าที่ในการออกฤทธิ์ เช่น sabinene (27-34%), γ-terpinene (6-8%), α-terpinene (4-5%), terpinen-4-ol (30-35%) และ(E)-1-(3,4- dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD) (12-19%) (Pongprayoon et al., 1997) น้ำมันหอมระเหยไพลมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยมีรายงานเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ และการติดเชื้อของสาร terpinen-4-o1 และพบว่า สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) ในน้ำมันหอมระเหยไพล มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดบวม ปวดเมื่อย และต้านการอักเสบได้ดี (Jeenapongsa et al., 2003) นอกจากนี้เหง้าไพลยังมีสาร cassumunarin A, B และ C ซึ่งเป็น complex curcuminoids ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีอีกด้วย (Masuda and Jitoe, 1994) นอกจากไพลจะถูกใช้เป็นยาถูนวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยแล้ว ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น ใช้เป็นยากันยุง ยาทาแผลพุพอง หนองฝี หรือโรคผิวหนัง งานวิจัยการเก็บรวบรวมพันธุ์ไพล การปลูก และการวิเคราะห์ผลผลิตเหง้า ผลผลิตน้ำมัน และสารสำคัญของไพลพันธุ์ต่างๆ เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำมันหอมระเหยไพล ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้จะช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตน้ำมันหอมระเหยจากไพลในกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น จากการศึกษารวบรวมพันธุ์ไพล จำนวน 21 สายพันธุ์ จากแหล่งเก็บในประเทศไทย และนำมาปลูกที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติภายใต้การดำเนินการวิจัยของศูนย์วิทยาการเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรแห่งชาติ พบว่า ผลผลิตน้ำหนักสดเหง้าไพลที่เก็บเกี่ยวเมื่อไพลมีอายุ 2 ปี จากไพล 21 สายพันธุ์ มีผลผลิต (กรัม/ต้น) 930.90 - 6227.7 กรัมต่อต้น ผลผลิตน้ำหนักสด 3.97-26.57 ตันต่อไร่ โดยไพลสายพันธุ์ S 13 ให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด
การศึกษาการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากไพล โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า การกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าไพล ด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (water distillation) นั้น ไพลสายพันธุ์ S 7 ให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันหอมระเหยสูงที่สุด คือ 2.8 (v/fresh w) ในขณะที่ไพลสายพันธุ์ S 13 ให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยต่อไร่สูงที่สุดคือ 469.25 กิโลกรัมต่อไร่
การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญในน้ำมันหอมระเหยไพล พบว่า ในน้ำมันหอมระเหยไพลมีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก 15 ชนิด คือ α-pinene (0.93-1.58%), sabinene (27.14-41.93%), β-myrcene (1.10-1.44%), α-terpinene (1.28-1.64%), m-cymene (1.10-2.67%), γ-terpinene (2.92-4.27%), cis-sabinene hydrate (0.48-0.76%), terpinolene (0.55-0.75%), trans-sabinene hydrate (0.54-0.82%), terpinen-1-ol (0.25-0.44%), terpinen-4-ol (16.09-24.47%), terpinyl acetate (0.28-0.38%), β-sesquiphellandrene (0.80-1.82%), DMPBD (15.63-29.57%) และ4-(2,′4′,5′-trimethoxyphyenyl)but-1,3-diene (0.99-3.65%)
จากการศึกษาการเก็บรวบรวมสายพันธุ์ และวิเคราะห์สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยไพลทำให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ไพลที่ให้ผลผลิตเหง้าไพล และน้ำมันหอมระเหยที่มีปริมาณสารสำคัญสูง ส่งผลให้ได้น้ำมันไพลที่มีคุณภาพสูง จึงเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันหอมระเหยไพลในการที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งมีแนวทางในการนำน้ำมันหอมระเหยไพลที่มีคุณภาพสูงมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ เจลแต้มสิวไพล ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสุคนธบำบัด น้ำมันเหลือง และบาล์มไพล สำหรับบรรเทาการปวดเมื่อย เคล็ดยอก เป็นต้น

|
|
แปลงปลูกไพลที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ |
เหง้าไพล |
|
|

|
สเปรย์ต้านสิวที่ลำตัว
(Plai anti-acne body spray) |
เจลแต้มสิว
(Plai anti-acne gel) |
|

|
น้ำมันนวดสุคนธบำบัด บรรเทาอาการปวดเมื่อย
(Plai aroma oil : pain relief) |
ยาหม่องไพล
(Plai blam) |

|

|
น้ำมันเหลือง
(Plai yellow oil) |
สเปรย์ดับกลิ่นเท้า
(Plai foot deodorant spray) |
การใช้ประโยชน์น้ำมันหอมระเหยไพลในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดต่างๆ |
|