ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของสารสกัดเอทิลอะซีเตดจากผลมะขามป้อมจากแหล่งในประเทศไทย
Free Radical Scavenging Capacity, Tyrosinase Inhibition Activity and Total Phenolics Content of Ethyl Acetate Extracts from Indian Gooseberry (Phyllanthus emblica L.) in Thailand

        ปัจจุบันเครื่องสำอางจากสารสกัดพืชสมุนไพรกำลังเป็นที่นิยม สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงถูกนำมาศึกษาเป็นลำดับแรกๆ เพื่อใช้คัดเลือกหาประโยชน์จากสารสกัดสมุนไพร แล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยา โดยมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) เป็นพืชสมุนไพรในวงศ์ Euphorbiaceae ที่พบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไปในเอเซียเขตร้อน และป่าแดงทั่วไปในประเทศไทย (ชนิดาและคณะ, 2548) ซึ่งมะขามป้อมมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น สารออกฤทธิ์ในกลุ่ม alkaloids, benzenoids, ascorbic acid, furanoloatones, diterpenes, triterpenes, flavonoids, sterols, carbohydrates และ tannins โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญจากผลมะขามป้อมมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ collagenase และ tyrosinase จึงช่วยลดการทำงานของผิวหนัง, ป้องกันริ้วรอย (anti-ageing) ช่วยให้ผิวขาว (whitening agent) และกระตุ้นการสร้าง procollagen ที่มีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง (Takashi, 2008) ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในสารสกัดจากผลมะขามป้อมที่ได้รับความสนใจและนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ hydrolysable tannins ซึ่งเป็นสารกลุ่ม polyphenols ซึ่ง hydrolysable tannins ในสารสกัดมะขามป้อมนี้ประกอบไปด้วยสารสำคัญ 4 ชนิดคือ Emblicanin-A, Emblicanin-B, Pedunculagin, Punigluconin (Bhattacharya, 2000) อีกทั้งมีรายงานว่าสารสกัดมะขามป้อมด้วยตัวทำละลายแต่ละชนิดได้แก่ เอทานอล อะซีโตน และเอทิลอะซีเตด มีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการสร้างเมลานินได้ จึงมีการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวขาวและช่วยชะลอความแก่ เจลล้างหน้าและแผ่นแปะที่มีส่วนผสมสารสกัดมะขามป้อมที่ความเข้มข้น 0.5-1.0 % w/v (อุบลทิพย์, 2552) ดังนั้นมะขามป้อมจึงเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ แต่อย่างไรก็ตามหากจะนำผลมะขามป้อมมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการคัดเลือกผลมะขามป้อมจากแหล่งปลูกที่ให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ดี ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของสารสกัดมะขามป้อมจากแหล่งในประเทศไทย 4 แหล่ง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์ และมหาสารคาม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้สูงสุด

 

ผลการวิจัย

          มะขามป้อมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เก็บรวบรวมจากป่าธรรมชาติ ที่สามารถพบได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยลักษณะของผลมะขามป้อมในแต่ละแหล่งจะมีความแตกต่างกัน โดยพบว่าลักษณะผลมะขามป้อมจากจังหวัดกาญจนบุรีจะมีลักษณะสีเขียวอมเหลือง  ผิวขรุขระ  มีจุดลายน้ำตาล, ผลมะขามป้อมจากจังหวัดบุรีรัมภ์ มีลักษณะสีเขียว มีลายเส้นน้ำตาล ผิวขรุขระมาก, ผลมะขามป้อมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลักษณะสีเขียวใส  ผิวขรุขระ  มีจุดน้ำตาลไม่มาก และจากจังหวัดมหาสารคามมีลักษณะสีเขียวอมเหลือง ผิวขรุขระและมีจุดลายสีน้ำตาล ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันของผลมะขามป้อมอาจเนื่องมากจากทางด้านแหล่งที่ปลูก เช่น สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิและปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หรือลักษณะความผันแปรทางพันธุกรรมของพันธุ์มะขามป้อม จากนั้นนำสารสกัดมะขามป้อมในแต่ละแหล่งมาศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของสารสกัดเอทิลอะซีเตดจากผลมะขามป้อมทั้ง 4 แหล่งในประเทศไทยได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์ และมหาสารคาม พบว่าสารสกัดหยาบด้วยเอทิลอะซีเตดของผลมะขามป้อมเป็นของเหลวกึ่งแข็ง เหนียวมาก มีกลิ่นเฉพาะตัวของผลมะขามป้อมและมีสีเขียวเข้มจนถึงสีน้ำตาลเข้มขึ้นกับแหล่งที่ปลูก โดยมีร้อยละของสารสกัดมะขามป้อมที่ได้จากประจวบคีรีขันธ์, กาญจนบุรี, มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ได้แก่ 2.32, 1.87, 1.28 และ 0.95 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดเท่ากับ 597±18.8, 345±13.1, 494±19.5 และ 496±5.51 มิลลิกรัมแกลลิคแอซิดต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ หลังจากนั้นตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดจากผลมะขามป้อมด้วยเอทิลอะซีเตดมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (SC50) เท่ากับ 0.025±0.002, 0.037±0.002, 0.030±0.001 และ 0.032±0.001 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (IC50) เท่ากับ 0.403±0.055, 0.293±0.051, 0.710±0.026 และ 0.151±0.072 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ

 

 

 
คณะผู้วิจัย
 นางสาวสุพนิดา วินิจฉัย1   นายนคร เหลืองประเสริฐ2  นางนวลปรางค์ ไชยคุป2  และ นางสาวจันทิมา หอมกลบ3
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร : 0-2942-8600-3