ปฏิกรณ์เคมีเพื่องานพลังงาน
Chemical Reactors for Application in Energy Area

            งานด้านพลังงานต้องอาศัยปฏิกรณ์เคมีเป็นอุปกรณ์สำคัญเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงสารตั้งต้นชนิดต่างๆให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีประโยชน์ หรือเพื่อใช้กำจัดสารเจือปนในเชื้อเพลิง ตัวอย่างเช่น ปฏิกรณ์เคมีชนิดก๊าซบับเบิล (Bubble Column) เพื่อกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกจากก๊าซชีวภาพ  ปฏิกรณ์เคมีชนิดฟลูอิไดซ์เบดเพื่อเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้น เช่น ไดเมทิลอีเธอร์ (Dimethyl ether, DME)   และปฏิกรณ์เคมีชนิดฟลูอิ-ไดซ์เบดเพื่อเปลี่ยนสารไฮโดรคาร์บอนที่เป็นส่วนประกอบของเศษพลาสติกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

ปัจจุบันนี้ ปฏิกรณ์เคมีที่ใช้แพร่หลายแบ่งได้เป็นหลายชนิด เช่น การแบ่งตามเฟสในปฏิกรณ์เป็นปฏิกรณ์สำหรับการเกิดปฏิกิริยาระหว่างก๊าซ-ของเหลว ก๊าซ-ของแข็ง ก๊าซ-ของเหลว-ของแข็ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้งาน และรูปร่างของปฏิกรณ์เคมี ตัวอย่างปฏิกรณ์ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ปฏิกรณ์ฟลูอิไดซ์เบด ปฏิกรณ์เบดนิ่ง ปฏิกรณ์บับเบิล ปฏิกรณ์แก๊สลิฟท์  การเลือกใช้ปฏิกรณ์ชนิดใดจะพิจารณาจากลักษณะของการเกิดปฏิกิริยาเคมี  ร่วมกับการถ่ายเทมวล และความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานั้น

1. ปฏิกรณ์การผลิตก๊าซไดเมทิลอีเธอร์สำหรับทดแทนดีเซล

            ไดเมทิลอีเธอร์ (Dimethyl ether, DME) เป็นพลังงานทดแทนสะอาดที่สามารถนำมาใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (liquefied petroleum gas, LPG) ดังนั้น จึงสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการขนส่งและแจกจำหน่ายได้  ไดเมทิลอีเธอร์สามารถผลิตได้จากก๊าซสังเคราะห์โดยตรง โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา CuO-ZnO-Al2O3/HZSM-5 ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบไบฟังก์ชัน (bi-function) กลุ่มงานวิจัยกระบวนการผลิตดีเอ็มอีได้ทำการออกแบบกระบวนการ และสร้างเครื่องสังเคราะห์ไดเมทิลอีเธอร์จากก๊าซสังเคราะห์โดยใช้ปฏิกรณ์ปฏิกรณ์แบบ เบดนิ่ง (fixed bed) และปฏิกรณ์แบบฟลูอิไดซ์ (fluidized bed) ที่ความดันสูง พร้อมทั้งทำการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา งานวิจัยนี้ศึกษาสมรรถภาพของปฏิกรณ์ และข้อมูลการออกแบบปฏิกรณ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรม

yoto2.gif

รูปที่  1.1  แผนผังการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ ของไดเมทิลอีเธอร์


รูปที่ 1.2  ปฏิกรณ์ปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง และปฏิกรณ์แบบฟลูอิไดซ์

 

2. ปฏิกรณ์การกำจัดไฮโดรเจนซัลไฟด์ในก๊าซชีวภาพ

            ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซชีวภาพใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการปล่อยของเสียและน้ำเน่าสู่สิ่งแวดล้อม  ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การนำมาใช้มีปัญหาการกัดกร่อนของเครื่องยนต์และท่อนำก๊าซ  เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เจือปนอยู่ ซึ่งเป็นก๊าซกรดที่กัดกร่อนวัสดุเกือบทุกชนิด  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบำบัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกก่อน  เพื่อยืดอายุเครื่องยนต์ อุปกรณ์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง  โดยกลุ่มวิจัยได้ทำการออกแบบและสร้างปฏิกรณ์การกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ โดยทำปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยสารละลายเหล็กคีเลท ข้อดีของกระบวนการนี้คือไม่จำกัดความเข้มข้น และปริมาณของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์  ประสิทธิภาพในการบำบัดมากกว่า 98%  และยังสามารถฟื้นสภาพสารเคมีได้  ผลิตภัณฑ์เป็นกำมะถันที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

รูปที่ 2.1 บ่อก๊าซชีวภาพของฟาร์ม

IMG_0072

รูปที่ 2.2 ถังปฏิกรณ์แบบหมุนเวียนอัตโนมัติ

 

3. ปฏิกรณ์การเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

            กระบวนการไพโรไลซิสสามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยอาศัยการแตกสลายด้วยความร้อน โดยมีหรือไม่มีตัวเร่งปฎิกริยา ภายใต้สภาวะที่ปราศจากตัวออกซิไดซ์ กระบวนการนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการกำจัดขยะพลาสติกด้วยวิธีเผา และฝั่งกลบ ผลิตภัณฑ์หลักที่ได้จากการไพโรไลซิสประกอบด้วยก๊าซ และไฮโดรคาร์บอนเหลว  ปฏิกรณ์ชนิดฟลูอิดไดซ์เหมาะสมสำหรับการแตกตัวนี้ เนื่องจากมีการถ่ายเทความร้อน และมวลดี น้ำมันเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 40.37 โดยมวล โดยแบ่งเป็นแก๊สโซลีน (C5-C12) เคโรซีน (C13-C17) และแก๊สออยล์ (>C18) เป็นร้อยละ 26.74,  63.11 และ 10.15 ตามลำดับ


รูปที่ 3.1 ปฎิกรณ์ไพโรไลซิส ชนิด ฟลูอิไดซ์เบต

รูปที่ 3.2 ปฎิกรณ์ไพโรไลซิส

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.สุนันท์ ลิ้มตระกูล  นางสาวปูทอง  รัตนมาลัย  รศ.ดร.เทอดไทย วัฒนธรรม   นางสาววราภรณ์  บุญชู   นายชนินทร์  สระเพชร   นายเกียรติประชา  ศรีคำเบ้า  
นายวรัญญู  ตันฑณเทวินทร์  นายฐิติชัย  เหรียญทอง

หน่วยเชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิศวกรรมปฏิกิริยาเคมีและการจำลองแบบ  ภาควิชาวิศวกรรมเคมี 
คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
โทร. 0-2942-8555 ต่อ 1210