ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสมเปิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Open-Pollinated Field Corn Varieties of Kasetsart University

      โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสมเปิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ทศวรรษ และประสบความสำเร็จในการนำหลักพันธุศาสตร์มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ และได้เผยแพร่พันธุ์ผสมเปิดที่ดีให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป เมล็ดพันธุ์มีราคาถูก และเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ 1-3 ชั่ว สู่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ได้แก่ พันธุ์สุวรรณ 1 (พ.ศ. 2518), พันธุ์สุวรรณ 2 (พ.ศ. 2522), พันธุ์สุวรรณ 3 (พ.ศ. 2530) และพันธุ์สุวรรณ 5 (พ.ศ. 2536) พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 3 และพันธุ์ลูกผสมต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการปรับปรุงการเขตกรรม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการปลูกข้าวโพดในปีเพาะปลูก 2518/19-2534/35 มีผลผลิตเฉลี่ย 372 กก.ต่อไร่ ผลผลิตรวมเฉลี่ย 3.45 ล้านตัน และมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 6,059 ล้านบาท สูงกว่าปีเพาะปลูก 2501/02-2517/18 ร้อยละ 19, 181 และ 293 ตามลำดับ

      พันธุ์สุวรรณ 1 และสุวรรณ 2 มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกร้อยละ 100.00-95.10 ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2529 มีปริมาณการส่งออกรวม 29.481 ล้านตัน และมีมูลค่าในการส่งออก 81,996.447 ล้านบาท  พันธุ์สุวรรณ 1 และสุวรรณ 3 มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกร้อยละ 95.00-57.70 ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2535 มีปริมาณการส่งออกรวม 5.519 ล้านตัน และมีมูลค่าในการส่งออกรวม 17,070.6 ล้านบาท   พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 3 และสุวรรณ 5 มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกร้อยละ 49.10-22.50 ในช่วงปี พ.ศ. 2536-2539 มีปริมาณการส่งออกรวม 0.209 ล้านตัน และมีมูลค่าในการส่งออกรวม 855.94 ล้านบาท  ดังนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2539 พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 และสุวรรณ 5 มีปริมาณการส่งออกรวม 35.210 ล้านตัน มีมูลค่ารวม 99,932.987 ล้านบาท

      พันธุ์สุวรรณ 1 ได้รับการรับรองพันธุ์อย่างเป็นทางการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2517 ในระยะแรกศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ปีละประมาณ 300 ตัน และกรมวิชาการเกษตรผลิตปีละประมาณ 100 ตัน  การผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ในเชิงอุตสาหกรรม เริ่มในปี พ.ศ. 2521 โดยโครงการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของกองขยายพันธุ์พืช  กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์คัด และเมล็ดพันธุ์หลัก จากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตรมาผลิต และส่งเสริมสู่เกษตรกร ในปี พ.ศ. 2524 กรมส่งเสริมการเกษตรผลิตได้ประมาณ 1,850 ตัน  ในปี พ.ศ. 2522 บริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์  เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ได้เริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ปีละประมาณ 2,000 ตันในระยะแรก และเพิ่มเป็นปีละประมาณ 4,000-5,000 ตันในระยะต่อมา  และมีบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์  จำกัด และ บริษัท คาร์กิลล์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 เป็นผลให้พันธุ์นี้แพร่กระจายสู่เกษตรกรอย่างรวดเร็ว  นับเป็นจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย  บริษัทเมล็ดพันธุ์ในประเทศ และบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ได้ใช้พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 3 และสุวรรณ 5 เป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีในการพัฒนาสายพันธุ์แท้ที่มีเมล็ดสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง เมื่อนำไปผสมกับสายพันธุ์แท้ที่มีเมล็ดสีเหลืองหัวบุบหรือกึ่งหัวบุบของข้าวโพดเขตอบอุ่น หรือกึ่งเขตร้อน ทำให้ได้พันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง และต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง โดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว

พันธุ์สุวรรณ 1     ให้ผลผลิต 550-850 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานโรคราน้ำค้าง ลำต้นสูง 2.00-2.30 เมตร เมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน
พันธุ์สุวรรณ 2     ให้ผลผลิตต่ำกว่าสุวรรณ 1 เล็กน้อย อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ปลูกจำนวนต้นต่อไร่ได้มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 โดยมีการหักล้มน้อย ต้านทานโรคราน้ำค้าง เมล็ดสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง
พันธุ์สุวรรณ 3  ให้ผลผลิตเฉลี่ย 600-900 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณร้อยละ8 ต้านทานโรคราน้ำค้างและราสนิม สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้กว้าง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ลำต้นสูง 2.00-2.20 เมตร ระบบรากและลำต้นแข็งแรง ใบมีสีเขียวเข้ม ฝักมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ เมล็ดสีส้มเหลืองและเป็นชนิดหัวแข็ง ซังมีสีขาวและมีซังสีแดงปนอยู่บ้างเล็กน้อย
พันธุ์สุวรรณ 5 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 907-945 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 (7%) และสุวรรณ 3 (4%) ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป ต้านทานโรคราน้ำค้างและโรคราสนิม อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ลำต้นสูงใหญ่ 2.10-2.40 เมตร ระบบรากและลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวเข้ม ฝักยาวและใหญ่สม่ำเสมอ เมล็ดสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็งถึงกึ่งหัวแข็ง ให้น้ำหนักต้นสดและน้ำหนักแห้งสูงเหมาะในการทำพืชอาหารสัตว์ ส่งเสริมให้ใช้เป็นข้าวโพดหมัก ซึ่งเป็นอาหารหยาบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนม

พันธุ์สุวรรณ 1

พันธุ์สุวรรณ 2

พันธุ์สุวรรณ 3

พันธุ์สุวรรณ 5

ฝักพันธุ์สุวรรณ 1, สุวรรณ 2, สุวรรณ 3  และ สุวรรณ 5

 

 

 
คณะผู้วิจัย
ศ.ดร.สุจินต์ จินายน1 ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์1 Charles L. Moore2 Surinder K. Vasal2 รศ.อุดม ภู่พิพัฒน์3 Ernest W. Sprague2 Bobby L. Renfro2
Edwin J. Wellhausen4 นายวีระศักดิ์ ดวงจันทร์5 นายธวัชชัย ประศาสน์ศรีสุภาพ1 นายบรรพต ทัศนสุวรรณ1 ดร.สรรเสริญ จำปาทอง5 ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว1
และ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ 5
1ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2Inter-Asian Corn Program, Rockefeller Foundation
3ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4CIMMYT
5
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-4436-1770-6