การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา (D x P)  และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมแก่เกษตรกร
The research on breeding of Tenera (DXP) oil palm and appropriate  technology transfer of oil palm production to the farmer

          ปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis Jacp.)  เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของประเทศไทย การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรใน
ภาคใต้และเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค  ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ      แนวโน้มในอนาคตปาล์มน้ำมันจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล   เพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล  ซึ่งแนวโน้มมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงสุด เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันในกลุ่มพืชที่ให้น้ำมันที่สำคัญ  4  ชนิด คือ  ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง  Rapeseed  และทานตะวัน  พบว่าน้ำมันปาล์ม (crude palm oil) มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดคือ กิโลกรัมละ  10  -  11.50  บาท  ในขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองมีต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ  18  บาทซึ่งปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่ทนทานต่อผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากกว่าพืชอายุสั้นอื่นๆ ลงทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน  25-30  ปี

          พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในโลกจะอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่  20  องศาเหนือ – ใต้    ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาค  ที่ได้เปรียบและสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ดี และยังมีโอกาสขยายพื้นที่ปลูกได้ไม่ต่ำกว่า  5 ล้านไร่ เนื่องจากมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น  พื้นที่นาร้าง    และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อม (eco-friendly crop) เมื่อปลูกปาล์มน้ำมันเป็นระยะเวลายาวนานจะทำให้สภาพนิเวศน์ที่เสียหายไปกลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ    นอกจากนี้  ยังสามารถสกัดองค์ประกอบจากน้ำมันปาล์ม ได้แก่   กรดไขมันหลายชนิด  วิตามินอี  และวิตามินเอ นำมาใช้ประโยชน์และใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมอาหาร   อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง  อุตสาหกรรม Oleochemical  และพลังงานทดแทน    รวมทั้งเป็นพืชที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพราะไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs)  จึงสรุปได้ว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูงมากสำหรับประเทศไทย

           ประเทศไทยมีพื้นที่บางส่วนที่เหมาะสมที่จะปลูกปาล์มน้ำมันได้ดีให้ผลผลิตสูง  แต่ยังปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์ที่มีคุณภาพ  การจัดการสวนปาล์มอย่างถูกต้องและข้อจำกัดของเกษตรกรเองในเรื่องความรู้เรื่องการปลูกปาล์มที่ถูกต้องเหมาะสม  ดังนั้นการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวจึงมีความจำเป็นสำหรับพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน ซึ่งนับว่ามีบทบาทและมีความสำคัญต่อประเทศไทยในแง่ของพืช ที่ให้น้ำมันที่มีศักยภาพสูงในการให้ผลผลิต และการขยายพื้นที่ปลูกตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ดังนั้นในปี 2547 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับบริษัทเกษตร 23ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาวิชาการ เพื่อวิจัยและผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา (D x P) ที่ให้ผลผลิตสูงในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยใช้ต้นแม่พันธุ์ดูร่าที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์มาตรฐานลักษณะแม่พันธุ์ที่ดี โดยมีการคัดสายพันธุ์จากต้นดูร่าดั้งเดิม ที่หม่อมเจ้าสิทธิพร  กฤดากรนำเข้ามาปลูกที่ฟาร์มบางเบิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งมีเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงฟาร์มบางเบิดนำเมล็ดไปปลูกแพร่กระจายไม่ต่ำกว่า 20,000 ต้น โดยมีการปลูกจากเมล็ดต้นดูร่าไม่ต่ำกว่า 2 -3 รุ่น ทำให้มีการปรับตัวในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยกว่า 80 ปีทั้งนี้มีการตรวจสอบสายพันธุ์จากDNA เปรียบเทียบกับต้นดั้งเดิมที่เหลืออยู่ ในปัจจุบัน

วิธีวิจัย

           1 .การรวบรวมสายพันธุ์แม่ ดูร่า จากแหล่งพันธุ์ที่ทราบพันธุ์ประวัติชัดเจน  เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์แม่ที่มีลักษณะตรงตามต้องการ โดยจัดทำแปลงรวบรวมสายพันธุ์ดูร่า ภายในพื้นที่ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร  ส่วนสายพันธุ์คัดเลือกสายพันธุ์พิซิเฟอร่า จากประชากรปาล์มน้ำมันที่มีการถ่ายทอดมาหลายชั่วรุ่น(จาก แหล่งคัดเลือกสายพันธุ์พิซิเฟอร่าของบริษัทเอกชน)จากนั้นนำมาทดสอบคู่ผสมและคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเด่น ตามคุณสมบัติ ที่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า ของกรมวิชาการเกษตร
          2. คัดเลือกต้นพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่(Individual Selection) ที่เป็นพ่อและแม่พันธุ์ของลูกผสมที่ดีเด่น จากประชากรสายพันธุ์พ่อและสายพันธุ์แม่ (Family Selection) ที่ผสมตัวเองในแปลงพ่อและแม่พันธุ์(seed garden) โดยพิจารณาต้นพันธุ์ที่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้นที่ใช้สำหรับผลิตเมล็ดลูกผสม (D x P) ต่อไป
          3. นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการจับคู่ผสมแม่และพ่อพันธุ์ D x P มาผ่านขบวนการเพื่อให้เมล็ดงอกแล้วปลูกทดสอบในแปลงทดลองของสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรเพื่อทดสอบผลผลิตแต่ละคู่ผสม เก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ข้อมูลผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต  เพื่อใช้เปรียบเทียบหาคู่ผสมที่ต้องการ

ผลการวิจัย

           1.  คัดเลือกต้นแม่พันธุ์ดูร่า จากแปลงดูร่าที่ปลูกจากเมล็ดที่ได้จากต้นดูร่าดั้งเดิมภายนอกสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร และต้นดูร่าที่มีภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อย่างน้อย 15 ต้น เพื่อใช้เป็นต้นแม่พันธุ์
          2. หลักเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือก ได้แก่ การตรวจสอบ DNA เปรียบเทียบกับต้นแม่พันธุ์ (ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน ดำเนินการ) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับต้นแม่พันธุ์ เช่น การวัดการเจริญเติบโต ลำต้น ทางใบ จำนวนทางใบ ความกว้างและความสูงของลำต้น/ปี การเก็บองค์ประกอบผลผลิตน้ำมันปาล์มแต่ละต้น ได้แก่ จำนวนทะลายต่อต้น/ปี  น้ำหนักทะลายต่อปี ปริมาณน้ำมันต่อทะลาย ปริมาณน้ำมันต่อต้น/ปี (ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน วิเคราะห์ข้อมูล)
          3. คัดสายพันธุ์ดูร่า จากข้อมูลที่ได้นำมาผสมเพื่อคัดสายพันธุ์แม่ pure line โดยใช้วิธีผสมกับต้นพ่อดูร่า
          4. นำต้นดูร่าที่ได้จาก ข้อ 3. มาเพาะลงแปลงแม่พันธุ์ภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร
          5.  เพาะเมล็ดคู่ผสมเทเนอร่าที่ได้จากการผสม DXP จำนวน 60 คู่ผสม ลงในถุงเพาะและลงปลูกในแปลงทดสอบ
          6. ทำการทดสอบลูกผสมในแปลงทดสอบ 16 คู่ผสม
          7. สร้างแปลงแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่ปลูกภายในพื้นที่สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรรวม 25 ไร่

สรุป

  1. ขั้นตอนและขบวนการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสม เทเนอร่า (DxP = T)  ได้คู่ผสม จำนวน 16 คู่ผสม
  2. ปลูกทดสอบคู่ผสม 16 คู่ผสม ภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรและพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยโดยคัดเลือกคู่ผสมที่มีศักยภาพสูง 6 คู่ผสม
  3. จัดสร้างแปลงแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่ปลูกภายในพื้นที่สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรรวม 25 ไร่
    จากการปลูกทดสอบคู่ผสมในแปลงทดสอบที่มีการให้ระบบน้ำชลประทานพบว่าคู่ผสม number 17/2 เริ่มออกดอกช่อแรกเมื่อต้นปาล์มอายุ 12 เดือนหลังปลูก และทุกคู่ผสม(ที่มีการให้น้ำ)จะออกดอกเมื่อต้นปาล์มอายุ 18-20 เดือน สำหรับแปลงทดสอบคู่ผสมที่ไม่มีการให้น้ำยังไม่เริ่มออกดอกเมื่อต้นปาล์มอายุ 18 เดือน แต่จะเริ่มออกดอกเมื่อต้นปาล์มอายุ 31 เดือน ขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต ผลผลิตน้ำมันในทะลายต่อพื้นที่  เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกคู่ผสมดีเด่นต่อไปและคาดว่าจะสามารถเผยแพร่เมล็ดพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2554

แสดงภาพและขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่า (DxP )

ลักษณะต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ตรงตามความต้องการและการให้ผลผลิตที่เหมาะสม

ขั้นตอนการผสมเกสรในการปรับปรุงพันธุ์ นำเกสรที่ได้จากต้นพ่อพันธุ์ (พิสิเฟอร่า)  ฉีดผสมเกสรในถุงที่ห่อช่อดอกตัวเมีย (ซึ่งการผสมเกสร ควรผสมในช่วงเวลาเช้าเนื่องจากเกสรจะบานตอนเช้าทำให้มีโอกาสติดผลได้ดี) ใช้เวลาในการผสมเกสร 3 วัน หลังจากผสมเกสรแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้นำถุงครอบช่อดอกออก เพื่อให้ดอกที่ได้รับการผสมเจริญเติบโตจนสุกแก่ (ประมาณ 165 วัน) แล้วนำเมล็ดเข้าสู่ขบวนการเพาะเมล็ดพันธุ์ต่อไป

ต้นปาล์มและทะลายปาล์มน้ำมันหลังการผสมเกสร
ติดพร้อมทำการเก็บเกี่ยวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีต่อไป

หลังจากได้เมล็ดที่สุกแก่ ทำการสีเปลือก (mesocarp) ออก เพื่อคัดแยกเมล็ด  อบที่ความร้อน 40 C  นำมาแช่น้ำ ขั้นตอนในช่วงนี้ใช้เวลาประมาณ  60 วัน  หลังจากนั้นแบ่งใส่ถุง ๆ ละ  1  กก.  นำเข้าห้องเพาะอุณหภูมิ  35 C  เป็นเวลา  7  วัน  คัดแยกเมล็ดที่งอกออกมา  นำเมล็ดที่ยังไม่งอกเข้าห้องเพาะต่อ  วันที่ 10 นำเมล็ดมาคัดแยกอีกครั้ง   จะได้เมล็ดที่งอก  ประมาณ 60-80% ที่เหลือ จะคัดทิ้งเพราะเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์หรืองอกยากจะทิ้งไป  เมล็ดที่งอก นำมาเลี้ยงต่อในห้องมืดโดยบรรจุในถุงพลาสติกใสประมาณ  4  วัน  จะได้เมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะเพาะชำในถุงต่อไป

ต้นกล้าปาล์มน้ำมันอายุ 1 เดือนหลังจากเพาะเมล็ด  จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นถุง  7 x14 นิ้ว (มีการคัดต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ออก 10 -20 %) โดยต้นกล้าที่พร้อมปลูกมีอายุตั้งแต่ 8 -14 เดือน จึงพร้อมเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร

แปลงทดสอบคู่ผสม ในสถานีวิจัยสิทธิ

 

 

 
คณะผู้วิจัย
นายสุดประสงค์  สุวรรณเลิศ1  นายสกล  ฉายศรี2 นายประภาส  ช่างเหล็ก3  น.ส.นิภา  เขื่อนควบ1  น.ส.ระวิวรรณ  โชติพันธ์ 1  และ นายเจษฎายุทธ  ไชยบุรี1
1สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 สถานีวิจัยลพบุรี   สถาบันอินทรียจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3สถานีวิจัยเพชรบูรณ์   สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร . 08 1868 2022