เทคโนโลยีการผลิตไหมและการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตจากไหม
Silk production technology and value added of silk products

                ไหม (silkworm)  เป็นแมลงที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ รังไหมซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติใช้ทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอต่างๆ สกัดสารจากรังไหมสามารถใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางและอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดักแด้ไหมมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยโปรตีนและไขมันประเภทไม่อิ่มตัว ใช้เป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เป็นสิ่งทอหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ  การเลี้ยงไหมทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่สร้างรายได้สำหรับดำรงชีวิต ทำให้เกษตรกรไม่ละถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น มีโอกาสในการสร้างครอบครัวและชุมชนที่เข้มแข็ง มั่นคง พึ่งพาตนเองได้  นอกจากนั้นไหมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอและการสร้างผลิตภัณฑ์จากไหม

หนอนไหมหม่อน
รังไหมหม่อน
การสาวไหมหม่อนแบบพื้นบ้าน
เส้นใยไหมหม่อน

                ไหมที่เลี้ยงกันมากที่สุดคือ ไหมหม่อน (Mulberry silkworm) ซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหาร การเลี้ยงไหมหม่อนเป็นเหมือนวัฒนธรรมของไทย ที่ได้มีการสืบสานต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี เสริมสร้างภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรมาช้านาน แต่ไหมที่ให้เส้นใยยังมีอีกหลายชนิด เช่น ไหมอีรี่ ไหมมูก้าและไหมทาซาร์ โดยไหมอีรี่เป็น non-mulberry silkworm เพียงชนิดเดียวที่มนุษย์สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิตเช่นเดียวกับไหมหม่อน โดยไหมอีรี่กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร การเลี้ยงไหมอีรี่จึงเป็นอาชีพเสริมทางเลือกที่มีศักยภาพสูงสำหรับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย

หนอนไหม
ดักแด้ไหมอีรี่
เส้นใยไหมอีรี่
ผ้าทอมือไหมอีรี่

                ในปัจจุบันการเลี้ยงไหมในประเทศไทย มีปริมาณลดน้อยลง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ การแข่งขันกันทางการตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผลิตไหมได้ในราคาที่ถูกกว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการประกอบอาชีพ ทำให้ลูกหลานของเกษตรกรไทยรุ่นใหม่หันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ละเลยอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไหมพันธุ์ไทยแท้ที่ให้เส้นใยที่สวยงามกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเมื่อไม่มีผู้เลี้ยงดำรงสายพันธุ์ ภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยที่ช่วยรังสรรค์ผ้าไหมไทยที่ถักทอและสร้างลวดลายแบบต่างๆ ได้หลากหลาย อาจไม่มีผู้สานงานต่อ ประเทศไทยอาจเสียความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจากไหมในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้เข้าประเทศอย่างมากในแต่ละปี

                องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากผลงานวิจัย และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมให้เจริญก้าวหน้า  เพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า การคัดเลือกสายพันธุ์ไหมที่ดีมีคุณภาพ เป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงไหม ทำให้ได้ผลผลิตเส้นใยและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเพื่อการอนุรักษ์ไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป การพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยง การควบคุมกำจัดโรคของไหม การใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบต่างๆ ของไหมอย่างครบวงจร และการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากไหมให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อเพิ่มมูลค่าทำให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้มีผู้เลี้ยงไหมและทำธุรกิจด้านไหมมากขึ้น นอกจากนั้นการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการผลิตผลิตภัณฑ์จากไหมเชิงอุตสาหกรรม จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานไหมจากเกษตรกรต้นน้ำถึงผู้บริโภคปลายน้ำ งานวิจัยด้านไหมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ

                มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการเรียนการสอน การวิจัยและการให้บริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับไหมมาโดยตลอด บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้สร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์แก่สังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ถูกนำไปส่งเสริม เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง สรุปผลงานวิจัยโดยสังเขป คือ :

               ก.  งานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ 
                ผลงานวิจัยด้านการปรับปรุงสายพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์ไหมหม่อน ทำให้ได้สายพันธุ์ไหมที่มีคุณภาพดี เช่น พันธุ์เหลืองพิรุณ ได้สายพันธุ์ไหมหม่อนที่แข็งแรงทนทานต่อโรคเต้อที่เกิดจากเชื้อนิวคลีโอโพลีฮีโดรไวรัส และวิธีการตรวจสอบโรคในระยะเริ่มแรกด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ เพื่อช่วยระงับการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมหม่อน ได้ศึกษาโรคต่างๆ ของไหมและการป้องกันกำจัดโรค รวมทั้งการสร้างไหมดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานต่อโรค ทำให้ได้องค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร องค์กรภาครัฐและเอกชน

                ข. พัฒนากรรมวิธีการเลี้ยงไหมและอุปกรณ์การเลี้ยงไหม
                มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่เน้นพัฒนากรรมวิธีการเลี้ยงไหมหม่อนและไหมอีรี่อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มต่อการลงทุน มีงานวิจัยด้านพืชอาหารของไหม เช่น การปลูก การดูแลและคัดเลือกสายพันธุ์หม่อนที่มีคุณภาพ เพื่อใช้เป็นพืชอาหารเลี้ยงไหม การควบคุมแมลงและโรคของหม่อน การตรวจสอบธาตุอาหาร โลหะหนัก และสารยับยั้งการดูดซึมธาตุอาหารในหม่อน การระบุเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับกลไกการตอบสนองต่อความเค็มของหม่อน นอกจากนั้นยังได้พัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเลี้ยงไหม

                ค. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหมและการอนุรักษ์
                มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทอจากไหม ได้วิจัยการผลิตผ้าไหมเนื้อพลิ้ว การทอผ้ายกดอก การทอผ้าด้วยกี่ทอมือแจ๊กการ์ด  การพัฒนาเส้นด้ายไหมอีรี่ผสมเส้นใยสั้นชนิดอื่น เช่น ฝ้าย การตกแต่งสำเร็จผืนผ้า การศึกษาคุณสมบัติการทนยับของผ้าไหม การย้อมสีเส้นใยไหม การกำจัดสีย้อมและโลหะหนักที่ใช้ในการผลิตผ้าไหมโดยวิธีทางชีวภาพ รวมถึงกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ green products ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทางเลือกทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบเสื้อผ้าแพรภัณฑ์ การอนุรักษ์ผ้าไหมและลวดลายถักทอที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ให้องค์ความรู้เรื่องผ้าไหมกับสังคม และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผ้าไหมไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก

             ง.  การใช้ประโยชน์จากไหมอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม
                มีผลงานวิจัยด้านการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบต่างๆ ของไหมอย่างครบวงจรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่นกรรมวิธีการสกัดสารต่างๆ จากไหมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยได้ศึกษาการสกัดสารเซอริซินและสารเลซิตินจากรังไหมและน้ำกาวที่ได้จากกระบวนการลอกกาวเส้นไหม การสกัดโปรตีนไฮโดรเสทจากรังไหมอีรี่ด้วยเทคโนโลยีเอนไซม์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของโปรตีนไฮโดรไลเสทจากไหมอีรี่ การแยกและสกัดโปรตีนไหมจากกระบวนการสาวไหม การทำเอนไซม์ไฟโบรอิเนสให้บริสุทธิ์จากน้ำย่อยของหนอนไหม นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากดักแด้และหนอนไหมในการผลิตอาหารโปรตีนสูงและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสำหรับคน และได้พัฒนาสูตรอาหารปลาที่ทำจากดักแด้และหนอนไหมอีรี่คัดทิ้ง รวมทั้งการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบหม่อน   

             จ. การศึกษาด้านสังคมและเศรษฐศาสตร์ของไหม
                ผลของการเลี้ยงไหมอีรี่ที่มีต่อสังคมในชุมชนของเกษตรกร เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา ได้มีงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์ทั้งผลที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว มีผลงานการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตไหมอีรี่เพื่อการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม การวิเคราะห์ราคาขายและจุดคุ้มทุนการผลิตเส้นไหมอีรี่ในงานหัตถกรรม การวิเคราะห์ผลตอบแทนการเลี้ยงไหมอีรี่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ นอกจากนั้นยังช่วยในการจัดเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ และจัดระบบการบริหารจัดการเครือข่าย ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินอาชีพการเลี้ยงไหมอีรี่ได้อย่างมั่นคงและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการช่วยเกษตรกรจัดชั้นมาตรฐานรังไหมและเส้นไหมอีรี่ เพื่อให้เกษตรกรและภาคเอกชนโรงงานปั่นเส้นไหมได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการซื้อและขาย

                มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ได้พยายามสร้างองค์ความรู้ด้านไหม และพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านการดำเนินงานวิจัย เพื่อให้สามารถใช้ประกอบการเรียนการสอน การทำงานวิจัยต่อยอด และการให้บริการแก่เกษตรกร องค์กรภาครัฐ เอกชนและบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมและสิ่งทอจากไหมของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

 
คณะผู้วิจัย
คณาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม
โทร.   034-281-268