การพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งอินูลินและน้ำตาลอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากเยรูซาเล็มอาร์ทิโชค
Process Development for Inulin and Inulo-oligosaccharides Production from Jerusalem Artichoke

       แก่นตะวัน (Helianthus tuberosus)  เป็นพืชตระกูลเดียวกับทานตะวัน  มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยไม่นานนัก  เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก  เนื่องจากเป็นพืชที่มีดอกสวยงาม  มีการสะสมอินูลินในหัวใต้ดินมากถึงร้อยละ 14-19 ของน้ำหนักหัวสด (Franck and Leenheer, 2002)  อินูลินจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินอาหาร  ปัจจุบันประชากรไทยให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพและบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น  จึงมุ่งศึกษาพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งอินูลินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวัน เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่พืชแก่นตะวันและสร้างเศรษฐกิจทางอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ

       โอลิโกแซ็กคาไรด์เป็นสารเติมแต่งในอาหารที่มีศักยภาพสูงในปัจจุบัน มีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงคุณภาพของอาหารทั้งในด้านกลิ่นรส ลักษณะทางเคมีกายภาพ และมีผลดีต่อสุขภาพ เช่น เป็นสารให้ความหวานที่ช่วยป้องกันฟันผุ และให้พลังงานต่ำ (สาโรจน์, 2541) โดยโอลิโกแซ็กคาไรด์มีโครงสร้างประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลตั้งแต่สามถึงสิบโมเลกุล

       โอลิโกแซ็กคาไรด์หลายชนิดพบได้ในแหล่งอาหารธรรมชาติ ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม และน้ำผึ้ง เป็นต้น ประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาโอลิโกแซ็กคาไรด์เป็นที่รู้จักและแพร่หลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนด Foods for Specified Health Use (FOSHU) ซึ่งมีฟรุกโท- กาแลกโท- ซอยบีน- และพาลาทิโนส-โอลิโกแซ็กคาไรด์รวมอยู่ด้วย และในปีเดียวกันก็ได้มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 450 ชนิดที่ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดโดยมีโอลิโกแซ็กคาไรด์เป็นส่วนประกอบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 บัญชีรายชื่อดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 58 ชนิด โดยเป็นรายชื่อของโอลิโกแซ็กคาไรด์ 34 ชนิด อาทิ แลกทูโลส แลกโตซูโครส ไซโล- และ ไอโซมอลโต-โอลิโกแซ็กคาไรด์ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ ช่วยเสริมสร้างภาวะแวดล้อมที่ดีของระบบทางเดินอาหาร และช่วยเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์บิฟิโดแบคทีเรียที่มีคุณประโยชน์ในลำไส้ ในประเทศญี่ปุ่นจัดได้ว่าโอลิโกแซ็กคาไรด์และเส้นใยอาหารได้เข้ามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และเริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจและห่วงใยต่อสุขภาพอนามัย

       อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จัดเป็นสารเติมแต่งให้ความหวานเพื่อสุขภาพ (functional food) เช่นเดียวกันกับโอลิโกแซ็กคาไรด์ชนิดอื่นๆ (Roberfroid, 1993, Roberfroid, 1998 และ Yun, 1996) โดยผลิตได้จากการย่อยสลายอินูลินด้วยวิธีทางเอนไซม์ (Kim, et al., 1997, Yun, et al., 1997b) ดังแสดงในภาพที่ 1 และ 2 โดยการควบคุมปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสด้วยเอนไซม์อินูลิเนส อินูลินซึ่งเป็นพอลิเมอร์ของน้ำตาลฟรุกโทส และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ พบว่ามีอยู่มากในผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิดด้วยกัน เช่น chicoy, dahlia และ Jerusalem artichoke ดังนั้นการผลิตอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จึงเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลผลิตทางการเกษตร และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศอีกประการหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการเพาะปลูก “แก่นตะวัน” (Jerusalem artichoke) ซึ่งจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่นี้ของประเทศไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่จะรองรับกับปริมาณผลผลิตของเยรูซาเล็มอาร์ทิโชคนี้ได้

       การผิตแป้งอินูลินและอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวัน (Helianthus tuberosus)  เป็นทางเลือกหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าของแก่นตะวัน  กรรมวิธีการสกัดแป้งอินูลินเป็นกระบวนการสกัดแบบเปียกซึ่งใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย  น้ำสกัดจากแก่นตะวันที่ได้สามารถแปรรูปด้วยการทำแห้งเพื่อผลิตเป็นแป้งอินูลิน  ใช้เป็นสับสเทรตในการผลิตเอนไซม์อินูลิเนสและการแปรรูปเป็นน้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์  น้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ที่ได้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผงโดยวิธีการทำแห้งแบบพ่นฝอยโดยใช้มอลโทเด็กซ์ทรินเป็นสารตัวพา หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมเข้มข้นโดยวิธีการระเหยภายใต้สุญญากาศ  ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวันมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น

jerusalem-artichokes

    1. การผลิตอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์

           การผลิตแป้งอินูลินและอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวัน (Helianthus tuberosus)  เป็นทางเลือกหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าของแก่นตะวัน  กรรมวิธีการสกัดแป้งอินูลินเป็นกระบวนการสกัดแบบเปียกซึ่งใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย  น้ำสกัดจากแก่นตะวันที่ได้สามารถแปรรูปด้วยการทำแห้งเพื่อผลิตเป็นแป้งอินูลิน  ใช้เป็นสับสเทรตในการผลิตเอนไซม์อินูลิเนสและการแปรรูปเป็นน้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์  น้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ที่ได้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผงโดยวิธีการทำแห้งแบบพ่นฝอยโดยใช้มอลโทเด็กซ์ทรินเป็นสารตัวพา หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมเข้มข้นโดยวิธีการระเหยภายใต้สุญญากาศ  ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวันมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น

           แป้งอินูลินที่สกัดโดยวิธีของวันเพ็ญ (2548) และ Bacon และคณะ (1951) ได้ผลได้ของแป้งอินูลินร้อยละ 8.95 และ 0.49 ตามลำดับ แป้งที่ผลิตได้เมื่อผ่านการบดเป็นผง มีสีเหลืองนวลจนถึงสีน้ำตาล เนื่องจากผ่านการอบแห้งจึงทำให้สีเข้มขึ้น สามารถละลายได้ทั้งในน้ำร้อนและน้ำเย็น แสดงได้ดังรูปที่ 1

    img-084
    น้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์
    IMG_2618
    IMG_2626
    แป้งอินูลินหลังอบแห้ง

    แป้งอินูลินหลังจากบด

    2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์   

    การพัฒนาผลิตภัณฑ์อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์แบ่งออกเป็น

           (1) การผลิตน้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์เข้มข้น โดยนำน้ำเชื่อมเริ่มต้นที่เตรียมได้ 100 มิลลิลิตร ทำการระเหยภายใต้สุญญากาศ โดยควบคุมอุณหภูมิไว้ที่  45 oC  ความดัน -27 มิลลิเมตรปรอท จนกระทั่งเหลือปริมาตรสุดท้าย 40 มิลลิลิตร          
           (2) การผลิตอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ผง ด้วยวิธีการทำแห้งแบบพ่นฝอย โดยใช้น้ำเชื่อมเริ่มต้นที่เตรียมได้ 600 มิลลิลิตร ผสมกับมอลโทเด็กซ์ทรินเท่ากับร้อยละ 30 โดยน้ำหนักต่อปริมาตร  ละลายให้สมบูรณ์ก่อนที่จะทำแห้งแบบพ่นฝอย โดยการควบคุมอุณหภูมิลมร้อนขาเข้าและออกเท่ากับ 160  และ 75-86 oC ตามลำดับ

           โครงการวิจัยสามารถพัฒนากรรมวิธีการผลิตอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ผง และการผลิตน้ำเชื่อม     อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์เข้มข้น ที่มีความเหมาะสมสำหรับการนำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมอาหาร   โดยนำน้ำเชื่อมอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์    ทำการระเหยภายใต้สุญญากาศ จะได้ผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมเข้มข้นที่มีสีน้ำตาลเข้ม     และมีลักษณะหนืด   ถ้าผ่านวิธีการทำแห้งแบบพ่นฝอยจะได้ผลิตภัณฑ์ผงที่มีสีขาว ซึ่งคำนวณผลได้ของปริมาณอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากการทำแห้งได้เท่ากับร้อยละ 98

     

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล1 อัครชัย ปรักกมะกุล1 รศ.ดร.วิรัตน์ วาณิชย์ศรีรัตนา1
ผศ.ดร.ประมุข ภระกูลสุขสถิต1 และ ผศ.ดร.ธนะบูลย์ สัจจาอนันตกุล2
1ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
2ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
Email: zor_ai20@yahoo.com; sarote.s@ku.ac.th*; wirat.v@ku.ac.th; fagipmp@ku.ac.th; tanaboon.s@ku.ac.th