Jerusalem Artichoke (Helianthus tuberosus) หรือ Sunchoke ชื่อที่เรียกเป็นภาษาไทย เรียกว่า แห้วบัวตอง (สุรพงษ์, 2539) เนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกับทานตะวัน และมีดอกสีเหลืองคล้ายดอกบัวตอง แต่มีขนาดเล็ก มีหัว (tuber) รูปร่างคล้ายขิงอวบ เปลือกเป็นผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว และกรอบคล้ายแห้วเมื่อดิบ มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาเหนือ และได้มีการนำมาปลูกในแถบทวีปยุโรปอย่างแพร่หลาย ในเขตหนาว เขตกึ่งหนาว และเขตร้อน เช่น ในประเทศอินเดีย ต่อมา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย ได้นำพืช Jerusalem Artichoke ไปศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมีการตั้งชื่อภาษาไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้งเนื่องจากเหตุผลการที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวเย็น แต่ปลูกในแถบร้อนได้ดี มีความสามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก มีความแข็งแกร่งทนทาน จึงให้ชื่อนำหน้าพืชนี้ว่า “แก่น” และเป็นพืชที่ใกล้ชิดกับทานตะวัน จึงให้ชื่อพืชชนิดใหม่นี้ว่า “แก่นตะวัน” พืชนี้จัดเป็นพืชหัว พืชอาหารเพื่อสุขภาพ พืชสมุนไพรสัตว์ พืชพลังงานทดแทน และพืชเพื่อการท่องเที่ยว (สนั่น,2549) สำหรับประเทศไทยได้มีการนำมาปลูกบนสถานีเกษตรหลวงปางดะ มูลนิธิโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง และมีต้นทุนในการปลูกและการดูแลรักษาน้อย แม้ในบางพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ นอกจากนั้นยังสามารถนำหัวมาปลูกเป็นเป็นแปลงไม้ดอกประดับ เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ (สุพจน์, 2540) หัวที่ได้เมื่อต้นแก่แล้วสามารถนำหัวมาใช้ประโยชน์ในการเป็นอาหารของคนเราได้หลายอย่าง เนื่องจากในหัวของ Jerusalem Artichoke อุดมไปด้วยไวตามินบี เหล็ก และแคลเซียมสูง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาหารเสริมสุขภาพได้ชนิดหนึ่ง (ประภาส, 2543) หัวพืชชนิดนี้มีคาร์โบไฮเดรตซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูป inulin โดยเป็น polymer ของ fructose จึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำหัวพืชชนิดนี้มาบริโภค (Anonymous, 1984) นอกจากนี้ในหัวยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต inulin ซึ่งจะพบในหัวพืชชนิดนี้มากถึง 16-39 เปอร์เซ็นต์ (suzuki, 1993) โดย inulin จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำเชื่อมฟรุคโตสเข้มข้น (Fructose syrup) (Kosaric และคณะ, 1984 Stauffer และคณะ, 1975) เพื่อใช้เป็นสารให้ความหวานในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากในหัวของ Jerusalem Artichoke มีคาร์โบไฮเดรตซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูป inulin โดยเป็น polymer ของ fructose จึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และยังพบว่า การเสริมสารสกัดของพืชชนิดนี้ในอาหารสัตว์ เช่น สุกร, สุนัข จะช่วยลดปริมาณแอมโมเนียในระบบทางเดินอาหารและในสิ่งขับถ่าย ทำให้ลดปริมาณสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในสิ่งขับถ่าย
กล่าวได้ว่าพืช Jerusalem Artichoke เป็นพืชที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจกันมาก สำหรับในประเทศไทยพืชนี้มีการปรับตัวได้ดี และให้ผลผลิตหัวสดสูง แม้จะเป็นพืชใหม่ในบ้านเรา ถ้าได้รับการพัฒนาศึกษาวิจัยให้ทราบถึงศักยภาพของพืชชนิดนี้ เนื่องจากมีประโยชน์มากมายทั้งเป็นวัตถุดิบในด้านอาหารเสริมสุขภาพของคน ด้านอุตสาหกรรมอาหารและใช้แปรรูปใช้ในทางปศุสัตว์เพื่อลดปริมาณสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในสิ่งขับถ่ายของสัตว์ เช่น สุกร ไก่ สุนัข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนตลอดจน จะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จึงเป็นพืชที่น่าจะได้มีการพัฒนาศึกษาวิจัย ให้ทราบถึงศักยภาพของพืชชนิดนี้ เพื่อพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีของการนำเอาพืชนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นนี้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จะเห็นประโยชน์ของพืชชนิดนี้มีคุณค่าสูงในการพัฒนา หากแต่เดิมพืชชนิดนี้ได้มีการพัฒนาการวิจัยและการปลูกในระยะแรกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2543 เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2551โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยเพื่อศึกษาพันธุ์ของ Jerusalem Artichoke (Helianthus tuberosus) ที่เหมาะสมในพื้นที่สูงของประเทศไทยจำนวน 16 สายพันธุ์หรือตำรับทดลอง (treatment) ได้แก่ ตำรับที่ 1 ตำรับใช้เปรียบเทียบ JA 1 (control) ตำรับที่ 2 ตำรับใช้เปรียบเทียบJA 2 (control) ตำรับที่ 3 JA 37 , ตำรับที่ 4 JA 38, ตำรับที่ 5 JA 67, ตำรับที่ 6 JA 102, ตำรับที่ 7 Hel 53 , ตำรับที่ 8 Hel 61, ตำรับที่ 9 Hel 62, ตำรับที่ 10 Hel 66, ตำรับที่ 11 Hel ,68ตำรับที่ 12, Hel 69 ,ตำรับที่13 Hel 231, ตำรับที่ 14 Hel 335, ตำรับที่ 15 CN 52867,ตำรับที่ 16 Kku.AC โดยการสุ่มตลอด
การปลูก Jerusalem Artichoke บนพื้นที่สูง ณ สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ในการปลูกทดสอบผลผลิตในปีที่ 1 แปลงทดลองที่ปลูกในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ทำการทดลองที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ แปลงทดลองบ้านห้วยน้ำขาว มีความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งทำการปลูกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 พันธุ์ Jerusalem Artichoke จำนวน 16 พันธุ์ พบว่าผลผลิตหัวสด จำนวนหัวเฉลี่ยต่อต้น ขนาดหัวใหญ่พิเศษ ขนาดหัวใหญ่ต่อต้น ขนาดหัวขนาดกลางต่อต้นเฉลี่ย ทั้ง16 พันธุ์มีความแตกต่างกันทางสถิติ พบว่าในพันธุ์ JA 102 ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยสูงสุดคือ 10,476 กิโลกรัมต่อไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์ Hel66 ,Hel231 ,Hel53 ( 10,464, 8,358, 8,320 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ ) โดยมีจำนวนหัวเฉลี่ยต่อต้นทุกสายพันธุ์พบว่ามีประมาณ 22.7 หัวต่อต้น โดยที่พันธุ์ JA21 มีจำนวนหัวเฉลี่ยต่อต้นต่ำสุดเพียง 2.8 หัวต่อต้น ขนาดหัวใหญ่พิเศษมีน้ำหนักต่อหัวประมาณ 36-100 กรัมต่อต้น พบว่าทุกพันธุ์มีขนาดหัวใหญ่พิเศษเฉลี่ย 9.4 หัว โดยพันธุ์Hel53 มีน้ำหนักขนาดหัวใหญ่พิเศษเฉลี่ยสูงสุดคือ 15.8 หัว และจำนวนหัวใหญ่ต่อต้นเฉลี่ยของ Jerusalem Artichoke ทั้ง 16 พันธุ์มีหัวใหญ่ต่อต้นเฉลี่ยประมาณ 4.5 หัวต่อต้นซึ่งหัวขนาดใหญ่จะมีน้ำหนักต่อหัวประมาณ 26-35 กรัมและพบว่าพันธุ์ JA102 มีหัวขนาดใหญ่ต่อต้นเฉลี่ยสูงสุดคือ 6.0 หัวและมีหัวขนาดกลางเฉลี่ยประมาณ 4.6 หัวต่อต้นโดยมีน้ำหนักต่อหัวประมาณ 16-25 กรัมซึ่งพันธุ์ JA67 มีหัวขนาดกลางเฉลี่ยสูงสุดต่อต้นคือ 6.7 หัว
การนำมาใช้ประโยชน์
ใช้เป็นอาหารประเภทหลักผัก หัวสดมีรสชาติคล้ายแห้ว นำมาประกอบอาหารคาว หวาน ได้หลายชนิด หัวเป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลฟลุ๊กโต้สทีต่อกันเป็นโมเลกุลยาว เมื่อเก็บหัวแก่นตะวันไว้ในห้องเย็นจะทำให้หัวแก่นตะวันมีความหวานมากขึ้น “อินนูลิน” มีคุณสมบัติช่วยเจริญอาหาร กระตุ้นการหลั่งของน้ำดี ขับปัสสาวะ ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ สร้างภูมิคุ้มกันโรค อินนูลิน เป็นสารเยื่อไยอาหาร ไม่ถูกย่อยในกระเพาะ และลำไส้เล็ก จึงอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีความรู้สึกหิว กินอาหารได้น้อยลงจึงช่วยลดความอ้วนได้ จึงนับว่าเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพ
หัว ใช้เสริมในอาหารสัตว์ มีผลต่อการเจริญเติบโต ลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษในระบบทางเดินอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ลดการใช้สารปฏิชีวนะและมูลสัตว์มีกลิ่นเหม็นน้อยลง จึงถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรในสัตว์
หัวใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์ ผลผลิตหัวสด 1 ตัน สามารถผลิต เอทานอลได้ 80-100 ลิตร นำไปผสมเบนซิน เพื่อผลิตแก๊ซโซฮอล์ จึงจัดเป็นพืชพลังงานทดแทน
แก่นตะวันจะมีดอกบานเมื่ออายุประมาณ 60 วัน และทั้งแปลงปลูกจะมีต้นออกดอกประมาณ 2 เดือน ดอกมีสีเหลืองคล้ายบัวตอง มีความสวยงามไม่แพ้ทุ่งบัวตอง หรือทุ่งทานตะวันเลยทีเดียว จึงนับได้ว่าเป็นพืชเพื่อการท่องเที่ยวได้อีกชนิดหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก่นตะวันเป็นพืชล้มลุก เพาะปลูกในเขตร้อนได้ดี มีขนคล้ายหนามกระจายทั่วลำต้น และใบ จึงต้านทานต่อแมลงได้ดี ความสูงประมาณ 1.5 - 2.0 เมตร ลักษณะหัว คล้ายหัวของขิงหรือข่า และมีดอกคล้ายดอกบัวตอง
พันธุ์แก่นตะวัน
หลังจากนำพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูกทดสอบจำนวน 24 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ พบว่าสายพันธุ์ KKU Ac 008 ให้ผลผลิตหัวสดสูง 2-3 ตัน /ไร่ ทั้งการปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง หัวใหญ่ มีแขนงน้อย รสชาติหวานเหมาะที่จะรับประทานหัวสด และอุตสาหกรรม จึงได้แนะนำพันธุ์นี้สำหรับเกษตรไทยใช้ปลูก โดยใช้ชื่อพันธุ์แก่นตะวันพันธุ์ใหม่นี้ว่า “พันธุ์แก่นตะวัน #1”
ฤดูปลูกแก่นตะวัน
ปลูกได้ทุกฤดู ต้นฤดูหรือปลายฤดูฝนในพื้นที่ไร่ ควรมีการให้น้ำฝนทิ้งช่วง และในสภาพนาให้น้ำชลประทานในฤดูแล้ง ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 60-65 วันหลังปลูก อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100-140 วัน หรือสังเกตจากดอกร่วงเกือบหมด และลำต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และต้นเริ่มแห้ง
การปลูกและการดูแลรักษา
ตัดหัวแก่นตะวันเป็นชิ้นขนาดประมาณ ยาว 3-5 ซม. แล้วนำมาบ่มในแกลบดำชื้นเพื่อชักนำให้เกิดต้นอ่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ นำต้นอ่อนมาปลูกให้ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร ขณะปลูกดินควรมีความชื้นสูง โดยดินที่เหมาะสม คือ ดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี
การกำจัดวัชพืชทำ 1-2 ครั้ง เมื่อต้นมีความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25 กก./ไร่ การเก็บเกี่ยวโดยใช้พลั่วขุด และถอนด้วยมือผลผลิตหัวสด ประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูปลูก แหล่งปลูก และการจัดการผลิต
แก่นตะวัน ไม้ดอกประดับบ้าน พืชอาหารสมุนไพร
แก่นตะวันมีดอกบานเมื่ออายุประมาณ 2 เดือน และมีดอกทยอยบานอยู่ประมาณ 2 เดือน จึงเหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง หรือแปลงปลูกในบ้านเพื่อใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับบ้านเรือนให้สวยงาม เมื่อต้นเริ่มแก่เก็บเกี่ยวล้างทำความสะอาดหัว ใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับใช้รับประทานเพื่อสุขภาพ สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 6-8 เดือน




|