ฝ้ายขาวพันธุ์ใหม่และฝ้ายสีธรรมชาติสายพันธุ์ใหม่
New White Cotton Variety and  New Naturally Colored Cotton Lines

ฝ้ายขาวพันธุ์ มก. 1

แหล่งที่มาและประวัติ

       ศ.ดร.ประภารัจ หอมจันทน์ และ ศ. อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ ร่วมกันทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายเพื่อให้ได้ฝ้ายพันธุ์ต้านทานแมลงและให้ผลผลิตดี จนได้ฝ้ายพันธุ์ มก. 1 ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมากับเมล็ดฝ้ายพันธุ์สฤษดิ์1    

         ในช่วงปี พ.ศ. 2535-39 ได้ทำการปลูกเมล็ด M1- M5 ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ  อ.ปากช่อง นครราชสีมา    เพื่อทำการคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง  ต้านทานต่อหนอนเจาะสมอฝ้าย  
ปี  2540-ปัจจุบัน ได้ทำการปลูกในชั่วต่อ ๆ มา และทำการคัดเลือกต้นที่มีลักษณะทางพืชไร่ดี คือต้นไม่สูงนัก ไม่มีกิ่งกระโดง ให้ผลผลิตต่อต้นสูง  และต้านทานต่อเพลี้ยจักจั่นฝ้าย     

ลักษณะประจำทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท   ฝ้ายพันธุ์กลาย  ชื่อวิทยาศาสตร์  Gossypium hirsutum วงศ์ Malvaceae

ต้น มีทรงต้นค่อนข้างโปร่ง คล้าย ๆ กับพันธุ์ฝ้ายศรีสำโรง 60   แต่ทรงพุ่มใหญ่กว่าความสูงต้นเฉลี่ย 120 ซม   มีกิ่งกระโดง 0-1 กิ่ง ทุกส่วนของต้นมี gland (เห็นเป็นจุดดำ)

ดอก     เป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาวนวล   ก้านอับละอองเกสรตัวผู้สีขาวนวล อับละอองเกสรตัวผู้สีเหลือง  เกสรตัวเมียสีเหลือง

สมอและเมล็ด    สมอค่อนข้างกลมและโต จำนวนสมอเฉลี่ย 33 สมอ/ต้น น้ำหนักสมอเฉลี่ย 18.6 กรัม/สมอ  อายุ เก็บเกี่ยว 110-160 วัน   เป็นฝ้ายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง  ความสูงต้นค่อนข้างสม่ำเสมอ    น้ำหนัก 100 เมล็ดเฉลี่ย 12 กรัม ผลผลิตปุยทั้งเมล็ดเฉลี่ย 302.5 กก.ต่อไร่   (ระยะปลูก แถวx ต้น = 1x1 ม.) 

ลักษณะดีโดยรวม
                   ต้านทานต่อหนอนเจาะสมอฝ้าย และเพลี้ยจักจั่นระดับปานกลาง ให้ผลผลิตดี  % ปุยเฉลี่ยสูง  คุณภาพเส้นใย (fiber length,  micronaire , fiber strength, fiber uniformity) อยู่ในระดับดี 

ฝ้ายสีธรรมชาติสายพันธุ์ใหม่

         จากผลการทำงานการวิจัยและพัฒนาฝ้ายสีธรรมชาติ   โดยมีที่ปรึกษาโครงการ คือ  อ. จรัสพร ถาวรสุข  และผู้ดำเนินงานวิจัย คือ ศ. ดร. ประภารัจ หอมจันทน์    รศ. ดร.งามชื่น รัตนดิลก     ศ.อรุณี  วงศ์ปิยะสถิตย์  และอ. กรรณีย์  ถาวรสุข     ด้วยวิธี backcross เพื่อถ่ายทอดลักษณะที่ดี  และอีกวิธีหนึ่งคือการคัดเลือกในสภาพไร่   ซึ่งได้ทำการพัฒนาพันธุ์ฝ้ายสีธรรมชาติที่นำพันธุ์มาจากฝรั่งเศส  ทำให้ได้สายพันธุ์ฝ้ายสีน้ำตาล และสีเขียวสายพันธุ์ใหม่ ที่ต้านทานแมลงและเส้นใยคุณภาพดี อันนำมาทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอฝ้ายซึ่งไม่ต้องฟอกย้อมด้วยสารเคมี/สารจากวัสดุธรรมชาติ  เป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งทอและลดปัญหาการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม 

                   ทั้งนี้ได้นำผลมาถ่ายทอดและส่งเสริมการปลูกฝ้ายสีธรรมชาติ    โดยเริ่มแต่วิธีการปลูกไปจนถึงการเผยแพร่การทำผลิตภัณฑ์ฝ้ายสีธรรมชาติ ช่วยให้เกษตรกรสูงอายุได้ถ่ายทอดภูมิปัญญากระบวนทำฝ้ายตั้งแต่การหีบไปจนถึงการทอผืนสู่เกษตรกรรุ่น ลูกหลาน  และให้เกษตรกรมีรายได้เสริมและอยู่ได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง                          

 

 
คณะผู้วิจัย
อ. จรัสพร ถาวรสุข    ศ.ดร. ประภารัจ หอมจันทน์   รศ. ดร.งามชื่น รัตนดิลก   ศ.อรุณี  วงศ์ปิยะสถิตย์  และ อ. กรรณีย์  ถาวรสุข
ภาควิชากีฏวิทยา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942- 8350