ไม้ดอก-ไม้ประดับพันธุ์กลายที่ได้จากการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา
Ornamental Mutant Varieties Obtained from Mutation Induction Using Gamma Radiation

เบญจมาศ

         เบญจมาศพันธุ์กลาย ได้จากการนำเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงของเบญจมาศพันธุ์ Taihei ดอกสีม่วงแดง ไปฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันด้วยเครื่องฉายรังสีแกมมา มาร์ควันที่มีซีเซียม -137 เป็นต้นกำเนิดรังสี ใช้ปริมาณรังสี 40 เกรย์ แบ่งฉาย 2 ครั้งๆ ละ 20 เกรย์ เว้นระยะห่างกัน 53 วัน และฉายแบบโครนิกในห้องฉายรังสีแกมมาที่มีโคบอลต์ -60 เป็นต้นกำเนิดรังสี ในปริมาณ 62.8 และ 112 เกรย์ ขยายพันธุ์จากรุ่น M1V1 จนถึง M1V3  นำออกปลูกในเรือนเพาะชำ และแปลงปลูกของโครงการพัฒนาบ้านโป่งตามพระราชดำริ อ.สันทราย  จ.เชียงใหม่ ทำการคัดและประเมินคุณค่าของพันธุ์กลายที่มีศักยภาพเป็นการค้าได้ จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-1, พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-2, พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-3, พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-4, ซึ่งเปลี่ยนแปลงสีดอกจากสีม่วงแดง เป็นดอกสีขาว ดอกสีชมพูอมม่วง ดอกสีส้มอมเหลือง ดอกสีส้ม  ตามลำดับโดยมีขนาดดอก รูปทรงดอก ความสูงเฉลี่ยใกล้เคียงกับพันธุ์เดิม พันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-5 ดอกสีชมพูอมม่วงเช่นเดียวกับพันธุ์เดิม แต่ต้นเตี้ยกว่า เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้กระถาง และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60-6 ดอกสีเหลือง ขนาดดอกเล็กกว่าพันธุ์เดิม เหมาะสำหรับปลูกเป็นเบญจมาศดอกช่อ สำหรับการถ่ายทอดสู่เกษตรกรนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มอบเบญจมาศพันธุ์ใหม่ทั้ง 6 พันธุ์ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำไปทดสอบในพื้นที่ที่เหมาะสม และแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า ซึ่งจะลดการนำเข้าเบญจมาศจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

แพรเซี่ยงไฮ้  

         การปรับปรุงพันธุ์แพรเซี่ยงไฮ้ ทำโดยการนำกิ่งแพรเซี่ยงไฮ้ พันธุ์ดอกซ้อนสีส้ม พันธุ์ดอกลาสีบานเย็นดอกใหญ่  และพันธุ์ดอกซ้อนสีชมพูขาว  ไปฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลันจากเครื่องฉายรังสีแกมมามาร์ควันที่มีซีเซียม -137 เป็นต้นกำเนิดรังสี  ในปริมาณ 10, 20, 40 และ 60 เกรย์ ปลูกและทำการตัดยอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อคัดเลือกลักษณะกลายที่คงตัว สามารถคัดแพรเซี่ยงไฮ้พันธุ์กลายที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีดอกและรูปทรงดอกจำนวน 10 พันธุ์  คือ (1) จากพันธุ์เดิมดอกซ้อนสีส้ม ได้พันธุ์กลาย ชมพูประภารัจ  เป็นดอกลา กลีบดอกสีชมพู พันธุ์แพททิก เป็นดอกลา กลีบดอกสีส้มเหมือนเดิม  พันธุ์พิมชนก เป็นดอกซ้อน กลีบดอกสีชมพูเข้ม พันธุ์อรุณี เป็นดอกซ้อน กลีบดอกสีส้มเข้ม และพันธุ์ภัทรียา เป็นดอกกึ่งซ้อน กลีบดอกสีส้มเข้ม (2) จากพันธุ์เดิมดอกลาสีบานเย็นดอกใหญ่ ได้พันธุ์กลาย เกษตรศาสตร์ 60 เป็นดอกลาขนาดใหญ่ กลีบดอกสีชมพูมีขอบกลีบดอกสีขาว และ (3) จากพันธุ์เดิมดอกซ้อนสีชมพูขอบขาว ได้พันธุ์กลาย มก. 1 เป็นดอกลา กลีบดอกสีชมพูขอบขาวแถบใหญ่ขึ้น พันธุ์มก. 2 เป็นดอกลา กลีบดอกสีแดงอมม่วง พันธุ์มก.3 เป็นดอกซ้อน กลีบดอกสีชมพูเข้มขอบขาวแถบเล็กลง และพันธุ์ประทีป เป็นดอกกึ่งซ้อน กลีบดอกสีขาว ในการถ่ายทอดสู่เกษตรกร ได้ทำการเผยแพร่โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นอาชีพและบุคคลทั่วไปเป็นระยะ ๆ รวมทั้งนำไปเผยแพร่ในการจัดนิทรรศการ ตามสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์

พุทธรักษา

         การปรับปรุงพันธุ์พุทธรักษา เริ่มจากการนำเมล็ด หน่อ เหง้า และต้นพุทธรักษาไปฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลัน หรือฉายรังสีแบบโครนิก ในปริมาณ 15 -95 เกรย์ ตามความเหมาะสมกับตัวอย่างแต่ละชนิด ปลูกและคัดเลือกลักษณะกลายที่แปลกใหม่และสวยงามจนได้พันธุ์กลายที่คงตัว พุทธรักษาพันธุ์กลายที่คัดได้มีการเปลี่ยนแปลงสีดอก สีใบ รูปทรงดอก รูปร่างใบ และลักษณะทรงต้น โดยได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 37 พันธุ์ ดังแสดงไว้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 พุทธรักษาพันธุ์กลายที่ได้จากการฉายรังสีแกมมากับพันธุ์เดิมต่าง ๆ กัน

ชื่อพันธุ์เดิม

ลักษณะพันธุ์เดิม

ชื่อพันธุ์กลาย

GISC 1

ดอกสีชมพูอมส้ม

ชมพูพีรนุช  นฤปวัจก์ ภัทรียา วราภรณ์ 

GISC 2

กลีบดอกสีแดง

แดงฤทธี ไพโรจน์ สุมินทร์

GISC 4

ดอกสีส้ม

นงพร 

GISC 5

ดอกสีแดงขอบกลีบมีสีเหลืองแถบเล็ก

ปราโมทย์ วารุณี

GISC 6

ดอกสีชมพู

ครีมประพันธ์พงษ์ นวลฉวี

GISC 10

ดอกสีแดงมีกระสีเหลืองจำนวนมากกระจายอยู่บนกลีบดอก

นภาวรรณ  แดงวิโรจ ชมพูพรรณี

GISC 11

ดอกสีแดงอมส้ม

พิมพ์เงิน  ส้มรังสี อัญชุลี 

GISC 12

ดอกสีแดงสด

เหลืองอรุณี  สุทธีรา

เหลืองอรุณี

ดอกสีเหลือง

พิมพ์รังสี

GISC 22

ดอกสีแดงอมส้ม ขอบกลีบดอกมีแถบสีเหลือง 

นฤทุม รังสิต ประทีป

GISC 24

ดอกสีส้ม

ส้มสิรนุช วันวิสา เพ็ญพิตร อรวรรณ จำลอง

ส้มสิรนุช

ดอกสีส้มอ่อน

แสงเทียน

GISC 30

ดอกสีส้มแดง

รัชนีกร  อรจิต 

GISC 43

ดอกสีส้มอมชมพู

เพ็ญศรี

GISC 70

ดอกสีส้มอ่อน

พิบูลศิลป์ 

GISC 89

ดอกสีชมพูมีขีดสีเหลืองบนกลีบดอก

ธรารัตน์

GISC 95

ดอกสีแดงเข้ม

ธีระ  วิญญู

         สำหรับด้านการถ่ายทอดสู่เกษตรกรนั้น ได้ทำการเผยแพร่โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการได้ทำการเผยแพร่โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นอาชีพและบุคคลทั่วไปเป็นระยะ ๆ รวมทั้งนำไปเผยแพร่ในการจัดนิทรรศการ ตามสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์

ชวนชม

         การปรับปรุงพันธุ์ชวนชม ดำเนินการโดยนำเมล็ดชวนชมพันธุ์ยักษ์ใบเรียว ดอกสีชมพูอ่อน ขอบกลีบดอกสีแดง ใบยาวรูปแถบ สีเขียว ใบห่อขึ้น ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีสี เส้นกลางใบสีขาว ไปฉายรังสีแกมมาแบบเฉียบพลัน ปริมาณ 200 เกรย์ นำเมล็ดที่ฉายรังสีไปปลูกที่สวนชวนชม เอ็น.เอส ดี ถนนพุทธมณฑลสาย 2  เขตบางแค แขวงบางแคเหนือ กรุงเทพฯ  ของนายสมภพ ยมกกุล สมาชิกโครงการ “การวิจัยเชิงถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วยรังสีแกมมาสู่เกษตรกร” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ศาสตรจารย์อรุณี  วงศ์ปิยะสถิตย์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีนักวิจัยร่วมโครงการจำนวน 12 คน ปฏิบัติดูแลชวนชมตามความเหมาะสม เมื่อต้นเจริญเติบโตจนออกดอก สามารถคัดเลือกต้นที่มีลักษณะกลายพันธุ์ที่แปลกใหม่ และแตกต่างไปจากพันธุ์เดิมจำนวน 2 พันธุ์  ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพืชพันธุ์ใหม่ไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตรแล้ว คือ พันธุ์ซุปเปอร์เรด (Super Red)  ดอกสีแดง  ใบห่อขึ้นเช่นเดียวกับพันธุ์เดิม แต่ขอบใบมีสีแดง เส้นกลางใบมีสีขาวปนสีแดงเล็กน้อย และพันธุ์ซุปเปอร์ไวท์ (Super White) ดอกสีขาว ใบรูปหอกกลับ สีเขียวเข้ม ใบห่อขึ้น  ขนาดใบกว้างกว่าพันธุ์เดิม ขอบใบเรียบ ไม่มีสี เส้นกลางใบสีขาว สำหรับการถ่ายทอดสู่เกษตรกร ได้ทำการเผยแพร่โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และพิมพ์เผยแพร่ผ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

 

 
คณะผู้วิจัย
ผศ.ดร.พีรนุช จอมพุก  ศ.ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร์  รศ.อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์  อ.คทารัตน์ ชูศรีเอี่ยม  ผศ.ดร.วันวิสา สุดประเสริฐ  อ.ฤทธี มีสัตย์ 
นายประพันธ์พงษ์ ขวัญธรรมชาติ  รศ.ดร.ประภารัจ หอมจันทน์  รศ.ดร.วาสนา   วงษ์ใหญ่  รศ.จิตราพรรณ  พิลึก  นางอรวรรณ วงษ์วานิช  นายศิรฎา ทิมประเสริฐ
นายสมคิด โพธิ์พันธุ์  นายเศรษฐพงษ์ เลขะวัฒนะ   นายสมภพ ยมกกุล และ นายสุรินทร์ ดีสีปาน
ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 
0-2942-8652