สตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80
Strawberry Pharachatan 80

ข้อมูลประจำพันธุ์ทางพฤษศาสตร์
ชนิดพืช                                 สตรอเบอรี (Strawberry : Fragaria x ananassa Duch.)
ชื่อพันธุ์/สายพันธุ์               พระราชทาน 80 (Pharachatan 80)
แหล่งที่มาและประวัติของพันธุ์
              สตรอเบอรีพันธุ์ พระราชทาน 80 หรือ รหัส 01-16 ได้ถูกคัดเลือกครั้งแรกในฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2545 ที่แปลงทดลองของสถานีวิจัยดอยปุย (พิกัดที่ตั้ง 18 ° 48’ 39’’ N, 98° 53’ 5’’ E สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการนำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเพาะและปลูกทดสอบ ตามโปรแกรมการผสมพันธุ์ของโครงการวิจัย การผสมพันธุ์และคัดเลือกสตรอเบอรี (รหัสโครงการที่ 3025 - 3038 ระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2545 งบประมาณวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง)

              ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สตรอเบอรีพันธุ์ พระราชทาน 80 ก็ได้ถูกขยายต้นพันธุ์โดยวิธีผลิตต้นไหลแบบธรรมดาและการเพาะเลี้ยงต้นเนื้อเยื่อปลอดโรค เพื่อใช้ปลูกทดสอบในพื้นที่แปลงทดลองของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมทางด้านการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต คุณภาพของผลผลิตและรสชาติที่พึงพอใจด้วยการใช้วิธีสุ่มจากตัวแทนผู้บริโภค ความทนทานต่อศัตรูพืช รวมทั้งการผลิตไหลและต้นไหลสำหรับการขยายต้นพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในช่วงเวลานับจากนี้

ประเภท   เป็นสตรอเบอรี่รับประทานผลสด

ระบบรากต้นที่สมบูรณ์  โดยปกติมีรากหลักประมาณ 20 - 30 ราก แต่อาจมีรากที่เรียกว่า Primary root ได้ถึง 100 ราก และมีรากแขนงเล็กๆ Rootlet นับเป็นจำนวนพันรากซึ่งถือว่าเป็นต้นที่มีระบบรากที่ดี ราก Primary root เริ่มเจริญจากส่วนลำต้นและเจริญอย่างรวดเร็วจนอาจมีความยาวหลายนิ้ว เนื้อเยื่อตรงกลางราก (Stele) เป็นสีขาวและชี้ถึงความสมบูรณ์ของต้น รากโดยทั่วไปมีอายุประมาณ 1 ปี

    
ภาพที่ 1   ระบบรากของสตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80

ต้น    Crown หรือ ลำต้นเป็นส่วนที่สั้นโดยปกติมีขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และส่วนนอกจะถูกปกคลุมโดยการซ้อนกันของส่วนที่เรียกว่าหูใบ (Stipules) เนื้อเยื่อส่วนแกนกลางของลำต้นเป็นบริเวณที่เสียหายได้ง่ายและมีสีขาว ความสูงของทรงพุ่ม 20 - 30 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ย 27 เซนติเมตร รวมทั้งมีการแตกของลำต้นสาขา (Branch crown) ในปริมาณระดับปานกลางด้วย

ใบ      การเกิดของใบจนกระทั่งแทงออกมาจะใช้เวลาประมาณ 8 - 12 วันขนาดของใบที่เจริญเติบโตเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ส่วนใบแต่ละใบมีชีวิตอยู่ได้นาน 1 - 3 เดือน ใบส่วนใหญ่เป็น 3 ใบย่อย (Trifoliate) รูปกลม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย สีเขียวปานกลาง ใบย่อยกว้าง 6.5-8 เซนติเมตร ยาว 8.5-9 เซนติเมตร จำนวนใบมากว่า 25 ใบต่อต้น มีก้านใบหนาและความยาวปานกลางเฉลี่ย 11-14.5 เซนติเมตร ทรงพุ่มตั้งตรงและกว้าง 25 - 35 เซนติเมตร

(a)
(b)

ภาพที่ 2 (a)  ลำต้นของสตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80 และ (b)   ใบของสตรอเบอรีพันธุ์พระราขชทาน 80

ดอก    ช่อดอกสมบูรณ์ประกอบด้วย 1 ดอกของดอก Primary 2 ดอกของดอก Secondary 4 ดอกของดอก Tertiary และ 8 ดอกของดอก Quaternary แต่อาจพบช่อดอกหลายๆรูปแบบ ดอกเกือบทั้งหมดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect-flowered หรือ Hermaphrodite) จำนวนช่อดอกมากกว่า 7 ช่อต่อต้น เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 2.2-3 เซนติเมตร เกสรตัวเมียถูกจัดเรียงแบบเวียนอย่างมีระเบียบบนส่วนของฐานรองดอก ซึ่งสังเกตจากลักษณะของเมล็ดที่อยู่บนผลถูกจัดเวียนอย่างมีระเบียบเช่นกัน ละอองเกสรตัวผู้ทนทานต่อสภาพเย็นปานกลาง เกสรตัวผู้ 25-29 อัน ดอกที่สองและสามมีขนาดใกล้เคียงกัน สีของกลีบดอกเป็นสีขาว ความหนาของก้านดอกในช่อแรกมีขนาดปานกลาง และดอกที่หนึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าใบ จำนวนช่อดอกเฉลี่ย 8 ช่อต่อต้น กลีบเลี้ยง  สีเขียวอ่อนถึงเขียว ขนาดใหญ่ จำนวน 10-13 กลีบ

ผล    ส่วนฐานของดอกเรียกว่า Receptacle หรือฐานรองดอกซึ่งพัฒนาไปเป็นส่วนที่สามารถรับประทานได้เป็นเนื้อของผล ส่วนเมล็ดอยู่ระดับเดียวเสมอกันกับผิวของผล ไม่จมหรือนูนเกินผิวของผล โดยมีขนสองสามเส้นติดที่ผิวด้านนอกผล น้ำหนักผลเฉลี่ย 12 - 15 กรัม ขนาดกว้างและยาวเฉลี่ยมากกว่า 3 เซนติเมตร รูปร่างของผลสวยงาม (Berry shape) โดยทั่วไปเป็นรูปทรงกรวย (Conic) ถึงทรงกลมปลายแหลม (Globose conic) ไม่พบผลที่เป็นลักษณะขรุขระและรูปทรงแบนเหมือนหงอนไก่ Fasciation ดังนั้นจึงมีพันธุกรรมที่ต้านทานต่อลักษณะอันไม่พึงประสงค์นี้ได้ เนื้อผลสีแดงสดใส ความแน่นของเนื้อผล (Firmness) มีระดับปานกลางคือเฉลี่ย ความแน่นเนื้อ 1.213 กิโลกรัม รสชาติดีมากและมีกลิ่นหอมจัดเมื่อผลสุกเต็มที่

เมล็ด  เกสรตัวเมียถูกจัดเรียงแบบเวียนอย่างมีระเบียบบนส่วนของฐานรองดอก ซึ่งสังเกตจากลักษณะของเมล็ดที่อยู่บนผลถูกจัดเวียนอย่างมีระเบียบเช่นกัน Achene ซึ่งมักถูกเรียกว่าเมล็ด (Seed) ได้เจริญพัฒนาเต็มที่ก่อนผลแก่หลายวัน เนื่องจากผลค่อนข้างใหญ่และมีรูปร่างปกติจึงมีจำนวนเมล็ดต่อผลมาก ทำให้ช่องว่างของผิวระหว่างเมล็ดค่อนข้างแคบจึงทนทานต่อการขนส่ง

ภาพที่ 3  ดอกของสตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80

ภาพที่ 4  ผลของสตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80

ภาพที่ 5  เมล็ดของสตรอเบอรีพันธุ์พระราชทาน 80

ลักษณะอื่นๆ
                จัดเป็นสตรอเบอรีประเภทวันสั้น (Short day type) และต้องการความหนาวเย็นปานกลาง (ประมาณ 15 – 18 °C) เป็นช่วงเวลา 20-30 วันสำหรับกระตุ้นให้เกิดการสร้างตาดอกของเนื้อเยื่อเจริญที่ปลายยอดของลำต้น ระยะเวลาจากดอกบานถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่ากับ 70  วัน ผลผลิตต่อต้นสูงสุด 400 กรัม หรือประมาณ 3 ตันต่อไร่ (คำนวณจากการปลูก 10,000 ต้นต่อไร่) มีกลิ่นหอมชวนรับประทานคล้ายพันธุ์พระราชทาน 70 และ 72 แต่เนื้อผลมีสีสรรสวยงามและความแน่นเนื้อมากกว่า การให้ไหลและต้นไหลอยู่ในระดับมากเฉลี่ยราว 60 - 80 ต้นไหลต่อต้นแม่หนึ่งต้น นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถทนทานต่อโรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)และราแป้ง (Powdery Mildew) สามารถปลูกเป็นการค้าได้ในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตร

ลักษณะประจำพันธุ์พระราชทาน 80

  • ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้         12.85  ๐Brix
  • ความแน่นเนื้อ                             1.213   Kg.
  • ผลผลิต                                      400  กรัมต่อต้น
  • น้ำหนักผลเฉลี่ย                          12-15 กรัม/ผล

เมื่อจำแนกตามระดับชั้นมาตรฐาน

เกรด Extra           มากกว่า 25 กรัมขึ้นไป       4.25 %
เกรด 1                12-20 กรัม                      12.71 %
เกรด 2                11-14 กรัม                      11.36 %
เกรด 3                10 กรัม                           13.80 %
เกรด 4                9 กรัม                             18.21 %
เกรด U                6-8 กรัม                         39.69 %

 

 
คณะผู้วิจัย
ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์1, Hiroshi Akagi2, นายเวช เต๋จ๊ะ1และ น.ส.เบ็ญจารัชด  ทองยืน1
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยอาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง
2นักวิจัยอาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง
โทร. 0-2579-6959