พานทอง : คำฝอยไร้หนาม

Phantong : Spineless Safflower Variety

      

       คำฝอย (safflower : Carthamus tinctorius L.)  เป็นพืชฤดูเดียว อยู่ในวงศ์ Compositae เช่นเดียวกับทานตะวัน  และเบญจมาศ ลำต้นคำฝอยเป็นไม้เนื้ออ่อนตั้งตรง ความสูงระหว่าง 30 – 150 เซนติเมตร  มีรากแก้วใหญ่และหยั่งลึกลงในดินได้ลึกประมาณ 1.0 – 3.0 เมตร ขึ้นกับพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่ปลูก  ดังนั้นคำฝอยจึงเป็นพืชทนแล้งได้ดี และเจริญเติบโตในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี  มีรากแขนงมาก ลำต้นแตกกิ่ง  ที่ปลายยอดของกิ่งมีดอกเกิดขึ้นทุกกิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวเข้ม ไม่มีก้านใบ

       ช่อดอก (head) เป็นแบบ dense capitulum  ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ฐานรองช่อดอกแบนราบ หรือโค้งเล็กน้อยมีวงใบประดับ  (involucre) ดอกย่อยกลีบดอกรวมเป็นหลอด (tubular) ปลายแยกเป็นแฉก ไม่มีก้านดอก ไม่มีวงกลีบเลี้ยง (calyx) รังไข่มี 1 คาร์เพล และมี 1 ออวุล รังไข่อยู่ใต้วงกลีบดอก ช่อดอกมีดอกย่อย 20 – 180 ดอก ภายในเชื่อมติดกันล้อมรอบด้วยขนสีขาวสั้น ๆ (bristle) แต่ละดอกย่อยมี 1 เมล็ด กลีบดอกมีสีขาว  สีเหลือง  สีส้ม  สีแดง และสีส้มแดง

       ผลหรือเมล็ดเป็นแบบ achene  ผิวเรียบ  รูปร่างเมล็ดมีสันตามแนวยาว 4 สัน  ปลายเมล็ดแบนเรียบ  เปลือกหุ้มเมล็ด (hull) แข็ง ไม่ติดแน่นกับเนื้อเมล็ด มีสีขาว  เทา  น้ำตาลอ่อน และเป็นลายทาง  แต่ส่วนมากมีเมล็ดสีขาว จำนวนเมล็ดต่อช่อดอกประมาณ 15 – 20 เมล็ด หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสภาพแวดล้อมที่ปลูกโดยเฉพาะความชื้นในดิน คำฝอยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 – 150 วัน

       เมล็ดคำฝอยใช้สกัดน้ำมัน กลีบดอกที่มีสีเหลืองส้ม  สีส้ม  หรือแดง  นำมาตากแห้งใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ หรือสกัดสารสีส้ม เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร  ปัจจุบันใช้สีส้มของคำฝอยแทน saffron (หญ้าฝรั่น) ในการประกอบอาหารหลายชนิด  เนื่องจาก saffron มีราคาแพง และใช้เป็นสีย้อมผ้า และพรม  นอกจากนี้ดอกคำฝอยไร้หนามใช้เป็นไม้ตัดดอก  นิยมในประเทศต่าง  ๆในยุโรป  จีน และญี่ปุ่น  เมล็ดคำฝอยที่มีสีขาวผิวเรียบ นิยมใช้เป็นอาหารนก  เมล็ดคำฝอยที่สกัดน้ำมันแล้วนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี มีโปรตีนสูงประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์

       น้ำมันคำฝอยใช้สำหรับบริโภคและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นอุตสาหกรรมอาหาร  สีทาบ้าน  น้ำมันชักเงา  น้ำมันคำฝอยมีคุณสมบัติที่ดีโดยเฉพาะสำหรับการประกอบอาหาร เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงประมาณ 75 – 85 เปอร์เซ็นต์  โดยเฉพาะกรดไขมันเชิงเดี่ยวโอลิอิก (18:1 oleic) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (18:2 linoleic) สำหรับกลีบดอกคำฝอยประกอบด้วยสารคาร์ทามิน (carthamin) มีสีส้ม ละลายในสารละลายด่าง และสารสีเหลืองคาร์ทามิดิน (carthamidin) ละลายในน้ำ ซึ่งใช้เป็นชาสมุนไพร มีคุณสมบัติลดความดัน ช่วยให้ระบบการหมุนเวียนของโลหิตดี และช่วยปรับสภาพฮอร์โมนของผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ผลผลิตของกลีบดอกตากแห้ง ประมาณ 11 – 22 กก./ไร่  การเก็บกลีบดอกควรทำในเวลาเช้าและนำมาผึ่งแดดอ่อน ๆ หรือในที่ร่มที่มีลมและการระบายอากาศที่ดี เมื่อกลีบดอกแห้ง ควรนำไปอบที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 3 – 5 ชั่วโมง จะทำให้เก็บกลีบดอกได้นานไม่มีหนอนเกิดขึ้นหรือแมลงเข้าทำลาย

       พันธุ์คำฝอยที่ปลูกเป็นการค้าส่วนมากมีหนาม ที่ใบประดับรอบฐานรองช่อดอก และใบ   ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการปลูกและการเข้าไปปฏิบัติงานในแปลง  โดยเฉพาะถ้าปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวกลีบดอกมาใช้เป็นชาสมุนไพร โครงการปรับปรุงพันธุ์คำฝอย ภาควิชาพืชไร่นา  มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาพันธุ์คำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

       คำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง เป็นพันธุ์แท้ปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ (pure line selection) จากสายพันธุ์ Acc393 เกษตรกรที่ปลูกคำฝอยพันธุ์พานทองสามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อได้ ลักษณะเด่นของคำฝอยพันธุ์พานทอง คือมีช่อดอกขนาดใหญ่กลีบดอกสีส้มแดง  เมื่อนำมาตากแห้งมีสีแดงสด  น้ำชามีสีเหลืองสดใส และกลิ่นหอม  เมล็ดมีขนาดใหญ่เปลือกหุ้มเมล็ดสีขาวผิวเรียบ  มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง 90.85 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะประจำพันธุ์

อายุวันออกดอก
68 
วัน
ความสูง    
110
เซนติเมตร
จำนวนช่อดอกต่อต้น
40  
ช่อดอก
จำนวนเมล็ดต่อช่อเมล็ด 
16 – 18
เมล็ด
ผลผลิตเมล็ด
138
กก./ไร
น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 
41.3
กรัม
ผลผลิตกลีบดอกแห้ง
8 – 10
กก./ไร่
เปอร์เซ็นต์น้ำมัน
24.69

               

เปอร์เซ็นต์กรดไขมันในเมล็ดคำฝอยพันธุ์พานทอง

.
                 กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด                   9.5 %
                (Saturated Fatty Acid)
                                กรดปาล์มมิติก (Palmitic acid)                             6.94 %
                                กรดสเตียริก (Stearic acid)                                  2.21 %
                 กรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหมด              90.85 %
                (Unsaturated Fatty Acid)
                                 กรดโอลิอิก (18 : 1 oleic)                                  14.48 %
                                กรดลิโนลิอิก (18 : 2 linoleic)                             75.91 %
                                กรดลิโนลินิก (18 : 3 linolenic)                           0.45  %

 

ลักษณะต้น ดอก และเมล็ดของคำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง

 

คำฝอยอายุ 30 วัน

 ระยะออกดอก
 

ระยะดอกบาน 80 เปอร์เซ็นต์ มีกลีบดอกสีส้มแดง

  ช่อดอกคำฝอยที่ดอกย่อยบานหมดทั้งช่อดอก

 

กลีบดอกคำฝอยตากแห้ง มีสีส้มแดงสดใส

เปลือกหุ้มเมล็ดผิวเรียบมีสีขาว

 

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.จินดารัฐ วีระวุฒิ และ น.ส.อัญชุลี  คชชา
ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  0-2579-3130 ต่อ 130 โทรภายใน 1326, 1327