วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีน้ำตาลกลูโคสเป็นองค์ประกอบซึ่งนำมาใช้ในการหมักเพื่อผลิตเอทานอล สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วัตถุดิบประเภทน้ำตาล เช่น กากน้ำตาล และน้ำอ้อย วัตถุดิบประเภทแป้ง เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ และวัตถุดิบประเภทลิกโนเซลลูโลส ซึ่งประกอบด้วยเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน เช่น ฟางข้าว กากอ้อย และซังข้าวโพด เป็นต้น การผลิตเอทานอลโดยกระบวนการหมักจากวัตถุดิบทางการเกษตรทั้ง 3 ประเภท สามารถสรุปได้ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 การผลิตเอทานอลโดยกระบวนการหมักจากวัตถุดิบทางการเกษตร
การผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น อ้อยและกากน้ำตาล สามารถนำวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการหมักด้วยเชื้อยีสต์ได้โดยตรง การใช้วัตถุดิบ 2 ชนิดนี้จึงทำให้ประสิทธิภาพในการหมักสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ อย่างไรก็ตามปริมาณอ้อยและกากน้ำตาลมีไม่แน่นอน และยังมีการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นด้วย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อราคาของวัตถุดิบ ทำให้สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น (อัตราการแปรรูปเอทานอล 1 ลิตร ใช้อ้อยประมาณ 12.5 กก. หรือกากน้ำตาล 4 กก.) อุตสาหกรรมเอทานอลจึงจำเป็นต้องมีทางเลือกของวัตถุดิบอื่นด้วย เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเอทานอลอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตมันสำปะหลังสูงถึง 20-25 ล้านตันหัวสดต่อปี และยังมีปริมาณหัวมันสำปะหลังส่วนเกินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพียงพอที่จะใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิตเอทานอลได้ (ตารางที่ 1)
อุตสาหกรรมเอทานอลเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานในประเทศไทย ปริมาณการใช้มันสำปะหลังจึงยังไม่มากนัก การใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอลสามารถใช้ได้ทั้งในรูปของหัวมันสด และมันเส้น (อัตราการแปรรูปเอทานอล 1 ลิตร ใช้หัวมันสดประมาณ 6 กก. หรือมันเส้น 2.5 กก.) โดยมันเส้นเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้นที่ได้จากการนำหัวมันสดในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่มีราคาต่ำมาแปรรูปเพื่อยืดอายุการเก็บ ทำให้สามารถจัดเก็บสต็อก และวางแผนการผลิตได้ตลอดปี
ตารางที่ 1 สถานภาพการผลิตและการใช้ประโยชน์จากอ้อยและมันสำปะหลังของประเทศไทย

|