ถั่วฝักยาว พันธุ์กำแพงแสน 20
Yard long bean var. Kamphaengsaen 20

       ในปี พ.ศ 2524-2530 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ล. อโณทัย ชุมสาย ได้รวมรวมพันธุ์ถั่วฝักยาวจากทั่วประเทศกว่า 200 สายพันธุ์ เก็บรักษาไว้ที่งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ท่านได้ทำการพัฒนาจนได้ถั่วฝักยาวพันธุ์ มก. 7 ซึ่งมีผลผลิตสูง ต่อมาในปี พ.ศ 2531-2536 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม พิลึก ได้คัดเลือกสายพันธุ์ถั่วฝักยาวที่มีอยู่เดิมและนำเข้ามาใหม่อีกจำนวนหนึ่งมาปลูกเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ มก. 7 และพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง ที่แปลงทดลองงานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช พบว่าลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละสายพันธุ์นั้น มีการพัฒนาของพันธุกรรมจนได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดและตั้งชื่อว่า ถั่วฝักยาวพันธุ์ มก. 8  ให้ผลผลิตสูง จำนวนฝักต่อต้นสูง ฝักสีเขียวอ่อน มีรสหวาน ความยาวฝักประมาณ 55-60 เซนติเมตร ผลผลิตเฉลี่ย 1.5 ตันต่อไร่ แต่เนื่องจากยังมีลักษณะของฝักที่มีเนื้อไม่หนา ฝักฟองเร็ว จึงทำให้เก็บรักษาได้ไม่นาน

การพัฒนาพันธุ์

       นักวิจัยในงานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ จึงได้นำสายพันธุ์ดังกล่าวมาทำการปรับปรุงพันธุ์ โดยทำการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ มก. 8 กับพันธุ์ RW 24 ใช้พันธุ์ มก. 8 เป็นพันธุ์แม่ และใช้ถั่วฝักยาวสายพันธุ์ RW 24 เป็นพันธุ์พ่อ และได้ตั้งชื่อตามวาระครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน ในชื่อพันธุ์กำแพงแสน 20 เป็นพันธุ์ถั่วฝักยาวให้ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์ มก. 8 แต่ฝักสีเขียวเข้ม ขนาดฝักอวบหนา และน้ำหนักฝักดี การปลูกทดสอบลูกผสมที่แปลงทดลองงานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยปลูกคัดเลือกต้นที่มีฝักคุณภาพดี สีเขียวเข้มปานกลาง ผลผลิตสูงมีช่วงเก็บเกี่ยวที่นานขึ้น ใช้เวลาคัดเลือกลูกผสมถึงชั่วที่ 5 สายพันธุ์ค่อนข้างมีความสม่ำเสมอ จากนั้นนำไปปลูกเปรียบเทียบกับสายพันธุ์การค้า ในพื้นที่แปลงเกษตรกร พบว่า ถั่วฝักยาวพันธุ์กำแพงแสน 20 แม้ว่าจะออกดอกช้า แต่มีความยาวฝักสม่ำเสมอ น้ำหนัก และจำนวนเมล็ดต่อฝักมากกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ

ลักษณะประจำพันธุ์

       ถั่วฝักยาวพันธุ์กำแพงแสน 20 มัลักษณะเด่น คือ ฝักมีสีเขียวเข้มปานกลาง รสหวานกรอบ เนื้อไม่กระด้าง ความยาวฝักสดเฉลี่ย 50.93 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนกว้าง 0.81 เซนติเมตร และมีส่วนหนาของฝัก 0.66 เซนติเมตร เริ่มออกดอกแรกเมื่ออายุ 36 วัน ดอกบานเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุ 45 วัน เก็บฝักแรกเมื่ออายุ 55 วัน จำนวนฝักดีต่อต้นโดยเฉลี่ย 20.47 ฝัก มีน้ำหนักฝักสดที่ดีโดยเฉลี่ย 333 กรัมต่อต้น หรือน้ำหนักฝักโดยเฉลี่ย 20.03 กรัมต่อฝัก

ลักษณะประจำพันธุ์เปรียบเทียบกับพันธุ์การค้าและพันธุ์พ่อแม่


สายพันธุ์

จำนวนฝัก/ต้น

น้ำหนักฝักสด/ต้น

ความยาวฝัก (ซ.ม.)

น้ำหนักฝักสด (กรัม/ฝัก)

จำนวนเมล็ด/ฝัก

เส้นผ่านศูนย์กลางฝัก (ซ.ม.)

ฝักดี

ฝักเสีย

ฝักดี

ฝักเสีย

กว้าง

หนา

กพส 20

20.47

0.56

333.00

6.53

50.93

20.03

16.57

0.81

0.66

มก. 8

9.10

0.87

248.13

10.67

62.47

18.93

18.53

0.74

0.61

RW.24

19.57

0.73

328.2

5.0

56.13

21.6

16.33

0.80

0.66

เขียวดก#4

18.40

0.77

313.6

10.27

51.07

18.13

14.70

0.75

0.64

ไผ่ขวาง#5

14.10

0.57

238.67

7.73

54.67

20.67

13.13

0.79

0.65

 


ภาพแสดงถั่วฝักยาวพันธุ์กำแพงแสน 20 ที่มีฝักสีเขียวเข้มปานกลาง ขนาดฝักอวบหนา


ภาพแสดงถั่วฝักยาวพันธุ์กำแพงแสน 20 (ลำดับที่ 2 จากด้านบน)
ที่มีฝักยาวประมาณ 50 ซ.ม.

 
คณะผู้วิจัย
ดร.ชวนพิศ อรุณรังสิกุล  ดร.เนตรชนก เกียรติ์นนทพัทธ์ และ นายประเทือง ดอนสมไพร
งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครปฐม 73140
โทร. 0-3435-1399   ต่อ 444