ข้าวโพดหวาน (Zea mays L. saccharata) เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนี่งของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปบรรจุกระป๋อง แบบบรรจุทั้งเมล็ด (whole kernel) ข้าวโพดครีม (cream-style corn) และแบบบรรจุทั้งฝัก (corn-on-cob) นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปแบบแช่แข็งทั้งเมล็ด แช่แข็งทั้งฝัก เมล็ดแห้ง และน้ำนมข้าวโพด ปัจจุบัน ความต้องการข้าวโพดหวานของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นผลให้ในปี ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเป็นปริมาณ 125,308 ตัน มูลค่า 4,291.0 ล้านบาท และส่งออกข้าวโพดหวานแช่แข็งปริมาณ 4,730 ตัน มูลค่า 166.6 ล้านบาท โดยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องอันดับ 1 ของโลก
โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วิจัยและพัฒนาข้าวโพดหวานพันธุ์ผสมเปิด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนข้าวโพดหวานพันธุ์เดิมซึ่งไม่ต้านต่อโรคราน้ำค้าง โดยการนำข้าวโพดหวานพันธุ์ฮาวายเอียนซูการ์ ซูเปอร์สวีท มาผสมพันธุ์กับข้าวโพดไร่ พันธุ์ฟิลิปปินส์ ดีเอ็มอาร์ 3 ในปี พ.ศ. 2515 จากนั้นผสมตัวเองไปอีก 1 ครั้ง แล้วปลูกคัดเลือกรวม ทดสอบความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง 4 ครั้ง แล้วส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูกในปี พ.ศ. 2518 ต่อมาได้ทำการปรับปรุงประชากรข้าวโพดหวานให้มีความต้านทานโรคราน้ำค้างสูงขึ้น โดยการผสมตัวเอง 1 ครั้ง แล้วคัดเลือกต่ออีก 3 ชั่ว จึงทำการทดสอบผลผลิตและความต้านทานโรคราน้ำค้างอีกครั้ง และตั้งชื่อเป็นพันธุ์ไทยซูเปอร์สวีท คอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และภาครัฐและเอกชนได้นำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมสำหรับสร้างพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมที่เป็นการค้าหลายพันธุ์ และบางพันธุ์ยังคงมีการใช้กันจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สถานีวิจัยลพบุรีได้วิจัยและพัฒนาข้าวโพดหวานพันธุ์ผสมเปิด นพวัน 1 และเผยแพร่สู่เกษตรกรเพื่อใช้ผลิตเป็นข้าวโพดหวานฝักสดในปี พ.ศ. 2541 และใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมสำหรับสร้างพันธุ์ลูกผสม
ต่อมาศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้เผยแพร่ข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว 27127 และ 11476 ในปี พ.ศ. 2531 และ 2532 ตามลำดับ พันธุ์ลูกผสมเดี่ยว 27127 เป็นพันธุ์ลูกผสมพันธุ์แรกของประเทศไทยที่นำไปใช้ในการแปรรูปบรรจุกระป๋อง และได้เผยแพร่ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์อินทรี 1 และอินทรี 2 ให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูปนำไปปลูกในปี พ.ศ. 2538 และ 2542 ตามลำดับ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้ผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรี 2 ถึงปัจจุบัน ปีละประมาณ 20 ตัน ปลูกในพื้นที่ 20,000 ไร่ คิดเป็นรายได้มูลค่าฝักสดปีละ 160 ล้านบาท ถ้าเกษตรกรนำไปผลิตฝักต้มขายหรือน้ำนมข้าวโพด จะมีรายได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยว KSSC 503 (ยีน shrunken-2), KSSC 978 (ข้าวโพดหวานสองสี), KSSC 563 และ KSSC 604 ซึ่งได้เผยแพร่สู่เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ในปี พ.ศ. 2546, 2547, 2548 และ 2550 ตามลำดับ
ผลกระทบจากการปลูกพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ที่ต้องการของตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป 1-2 พันธุ์ ในพื้นที่บริเวณเดียวกันอย่างกว้างขวางและปลูกติดต่อกันหลายฤดูและหลายปี เป็นผลให้พันธุ์ดังกล่าวมีความอ่อนแอต่อโรคโรคทางใบ โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้แผลใหญ่ โรคราสนิม และโรคไวรัส ดังนั้น โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพในการรับประทานที่ดี สำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป และต้านทานต่อโรคดังกล่าว ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ใหม่ ๆ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบพันธุ์และจะเผยแพร่สู่ตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูปในระยะ 1-2 ปีนี้

พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์

พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์, HSX 27127 และ HSX 11476
|
|
พันธุ์อินทรี 1 |
ฝักพันธุ์อินทรี 1 |
|
|
พันธุ์อินทรี 2 |
ฝักพันธุ์อินทรี 2 |
|
|
พันธุ์ KSSC 503 |
พันธุ์ KSSC 978 |
|
|
พันธุ์ KSSC 563 |
พันธุ์ KSSC 604 |
|