พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Baby Corn Varieties of Kasetsart University

     ข้าวโพดฝักอ่อน (Zea mays L.) เป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับสองของประเทศไทย เพื่อใช้ในการบริโภคฝักสด และการแปรรูปแบบบรรจุกระป๋อง บรรจุขวดแก้ว โดยเริ่มส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2514 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ส่งออกได้ 378 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2549 ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง 96,345 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,145.1 ล้านบาท โดยส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังได้ส่งข้าวโพดฝักอ่อนสดแช่เย็นไปยังประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น จำนวน จำนวน 5,878 ตัน คิดเป็นมูลค่า 496.4 ล้านบาท และข้าวโพดฝักอ่อนแช่แข็งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา จำนวน 730 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30.1 ล้านบาท  โดยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นเวลากว่า 30 ปี  นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากต้นและเปลือกของข้าวโพดฝักอ่อนยังนำมาใช้เป็นอาหารหยาบในการเลี้ยงโคเนื้อและโคนม

     การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเป็นการค้าแบบดั้งเดิม ต้องใช้วิธีการถอดช่อดอกตัวผู้ เพื่อเร่งให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และป้องกันการผสมพันธุ์ซึ่งจะทำให้ฝักอ่อนที่ได้มีเมล็ดอ่อนปะปน ทำให้ฝักอ่อนมีคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เผยแพร่พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีท  คอมพอสิต 1  ดีเอ็มอาร์ และพันธุ์สุวรรณ 2 เพื่อใช้เป็นพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ต้องถอดยอด  แต่การใช้วิธีการถอดช่อดอกตัวผู้ต้องใช้แรงงานและสิ้นเปลืองเวลามาก และทำให้สูญเสียใบบางส่วนทำให้ผลผลิตลดลง เป็นผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น ประเทศซิมบับเว อินเดีย เวียดนาม และจีน  ต่อมา โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำลักษณะเพศผู้เป็นหมัน (cytoplasmic male sterility) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว   ทำให้ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่มีลักษณะเพศผู้เป็นหมันให้ผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรมีกำไรสุทธิต่อไร่สูงขึ้น มีความสม่ำเสมอของฝักและสีสูง ตรงความต้องการของโรงงาน และยังสามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ทำให้สะดวกในการจัดการของเกษตรกรและโรงงาน  นอกจากนี้ การใช้สายพันธุ์แม่ที่เพศผู้เป็นหมันเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวเป็นการค้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากไม่ต้องเสียค่า แรงงานในการถอดยอดสายพันธุ์แม่  ดังนั้น การใช้พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด จะช่วยให้ประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำทางด้านพันธุ์ และการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไป วัตถุประสงค์หลักของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดสำหรับตลาดฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูป  โดยใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมันอันเนื่องมาจากไซโต พลาสซึม ชนิด C จาก IITA ประเทศไนจีเรีย จำนวน 4 สายพันธุ์ เป็นแม่ ผสมกับพันธุ์สุวรรณ 2 รอบคัดเลือกที่ 7 และผสมกลับ โดยใช้พันธุ์สุวรรณ 2 เป็นพ่อ จำนวน 8 ครั้ง ได้เป็นพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 แล้วนำมาผสมกับ Ki 28 และผสมกลับจำนวน 8 ครั้งได้สายพันธุ์แท้ Ki 28 cms ที่เพศผู้เป็นหมันเพื่อใช้เป็นสายพันธุ์แม่ในการสร้างพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด ผลจากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องในช่วง 17 ปี (พ.ศ. 2535-2552) ได้เผยแพร่พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 1 และพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 2, KBSC 303 และ KBSC 605 ในปี พ.ศ. 2538, 2542, 2547 และ 2550 ตามลำดับ

ช่อดอกเพศผู้เป็นหมัน (ซ้าย) เปรียบเทียบกับช่อดอกเพศผู้ปกติ (ขวา)

พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 (ช่อดอกเพศผู้เป็นหมัน) (ซ้าย) เปรียบเทียบกับพันธุ์สุวรรณ 2 (ถอดยอด) (ขวา)

ฝักพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 (ซ้าย) เปรียบเทียบกับพันธุ์สุวรรณ 2 (ขวา)

พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2

ฝักพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2

พันธุ์ KBSC 605

พันธุ์ KBSC 303

ฝักพันธุ์ KBSC 605

ข้าวโพดฝักอ่อนในขวดแก้ว

 

 

 

คณะผู้วิจัย
ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1  ศ.ดร.สุจินต์ จินายน2 รศ.ธวัช ลวะเปารยะ1 นางชไมพร เอกทัศนาวรรณ4  และ นายนพพงศ์ จุลจอหอ1
1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์
2ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร
3
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร
4
ฝ่ายฝึกอบรม สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-4436-1770-6