มะละกอลูกผสม “ปากช่อง 2”
Papaya Breeding “Pakchong no 2”

                การปรับปรุงพันธุ์มะละกอปากช่อง 2 ณ. สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร ์อ.ปากช่อง
จ.นครราชสีมา ในระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2549 เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ คุณภาพและผลผลิตดีกว่าพันธุ์การค้าเดิมจากพันธุ์พ่อพันธุ์แม่ เกิดจากลูกผสมระหว่างมะละกอพันธุ์แขกดำ X ปากช่อง 1 คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ผ่านการคัดเลือก 7 รอบ พบว่าลักษณะมะละกอปากช่อง 2(12-21) ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผล 1,000 – 1,200 กรัม ลักษณะใบมี 7 แฉก ใบสีเขียวเข้ม ใบกว้าง 65 – 70 ซม.ใบยาว 65 – 70 ซม ก้านใบสีเขียว ยาว 80 – 89 ซม. น้ำหนักผลสุก 900 – 1100 กรัม สีผิวผลสุกสีเหลือง สีเนื้อสุกส้มแดง ความหนาเนื้อ 3 ซม. ความหวาน 12 -14  องศาบริคซ์  เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 8 เดือน  ผลผลิต 40 – 50 กก. ต่อต้น ในระยะ 18 เดือน ค่อนข้างทนต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน

                มะละกอเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานผลสุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แต่ในต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอที่มีผลขนาดเล็ก  มีน้ำหนักต่อผลไม่เกิน 600 กรัม  จากมูลค่าการค้ามะละกอในปี 2543  มูลค่าการค้ารวมของโลกอยู่ที่  3,816  ล้านบาท  ปี 2547  มูลค่าการค้ามะละกอได้เพิ่มขึ้นเป็น  7,348  ล้านบาท  คิดเป็นมูลค่าการเพิ่มขึ้นแต่ละปีประมาณ  11  เปอร์เซ็นต์  ประเทศที่มีการส่งออกมะละกออันดับหนึ่งคือ  เม็กซิโก  มีมูลค่าการค้า  40  เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด  อันดับสองคือ  มาเลเซีย  25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด  ประเทศอื่น ๆ ได้แก่  บราซิล  และอเมริกา  ประเทศไทยมีการผลิตมะละกอเพื่อส่งออกโดยตรงยังมีน้อย  และพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่  จึงไม่เหมาะสำหรับตลาดต่างประเทศ 

                มะละกอ  นอกจากใช้บริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว  ผลของมะละกอดิบและสุก  และส่วนของยางยังใช้เป็นประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อีกหลาย ๆ ด้าน  เช่น  เมื่อมะละกอดิบ  สามารถไปทำมะละกอเชื่อม  แช่อิ่ม  ดองเค็ม  หรือใช้ในโรงงานปลากระป๋อง  ผลมะละกอสุกสามารถใช้ทำน้ำผลไม้  ซอส  ผลไม้กระป๋อง  แยม  ลูกกวาด  และมะละกอผล  เปลือกมะละกอใช้ทำอาหารสัตว์  หรือสีผสมอาหาร  ยางมะละกอใช้ในโรงงานผลิตเบียร์  ผลิตน้ำปลา  อาหารกระป๋อง  อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องสำอางค์  เป็นต้น

                                                                                                                สถานีวิจัยปากช่อง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ  จึงพัฒนาพันธุ์มะละกอมาตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2519  เริ่มต้นจากการนำมะละกอสายพันธุ์ซันไลท์  จากประเทศไต้หวัน  มาปลูกและคัดเลือกต้นที่มีลักษณะที่ต้องการ  ทำการผสมตัวเองและปลูกคัดเลือกอยู่  5  ชั่วอายุ  จนได้สายพันธุ์ที่ไม่กระจายตัว  แล้วปลูกขยายเมล็ดโดยวิธีผสมเปิดในหมู่เดียวกันอีก  2  ครั้ง  ได้สายพันธุ์ค่อนข้างบริสุทธิ์และมีลักษณะตามที่ต้องการ  เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้า  ให้ชื่อว่า  มะละกอพันธุ์ปากช่อง  1 ลักษณะประจำพันธุ์  มีลำต้นสีเขียวปนม่วงเล็กน้อย  ใบมี  7  แฉกใหญ่  กว้าง  50-60  เซนติเมตร  ยาว  45-50  เซนติเมตร  ก้านใบสีเขียวปนม่วงยาว  70-75  เซนติเมตร  อายุ  8  เดือน ก็เริ่มเก็บผลได้  มีน้ำหนักผล  350  กรัม  เนื้อสีส้มหนา  1.8  เซนติเมตร  เมื่อสุกเนื้อไม่เละมีรสหวาน กลิ่นหอม  เปอร์เซ็นต์ความหวาน  12-14  องศาบริกส์  ในระยะเวลา  18  เดือน  จะให้ผลผลิตต้นละ  30-40  กิโลกรัม  ค่อนข้างทนต่อโรคใบด่าง  เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง  ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เริ่มทำการผสมมะละกอพันธุ์แขกดำ × พันธุ์ปากช่อง 1 คัดเลือกลักษณะดีไว้ 3 สายพันธุ์  ที่มีขนาดผลใหญ่กว่าพันธุ์ปากช่อง 1  เนื้อสีส้มแดง  รสชาติดี  เนื้อไม่เละ  น่าจะเป็นพันธุ์การค้าที่ส่งเสริมการผลิตเพื่อออกสู่ตลาดต่อไป

อุปกรณ์และวิธีการ

1.การผสมพันธุ์ (Hybridization)

                สายพันธุ์มะละกอปากช่อง 2  เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ (พันธุ์แม่)  และพันธุ์ปากช่อง 1 (พันธุ์พ่อ)  โดยผสมที่สถานีวิจัยปากช่อง  สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในปี พ.ศ. 2540 นำผลมาผ่าเอาเมล็ดเพาะในถุงพลาสติก

2.การคัดเลือกพันธุ์ (Selection Trial)

                ทำการคัดเลือกพันธุ์มะละกอลูกผสมปากช่อง 2  ที่สถานีวิจัยปากช่อง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 – 2549  ดังนี้
การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 1 (Seedling Selection)  ทำเมล็ดจากมะละกอที่ผสม เพาะในถุงพลาสติกดำ  ขนาด 3” x 5”  ปลูกลงแปลงได้ จำนวน 26 แถว ๆ ละ 21 หลุมปลูก ๆ ละ 3 ต้น  โดยปลูกลงแปลง หลังจากเพาะเมล็ดได้ 1 เดือน  หลังจากปลูก 8 เดือนเก็บผลผลิต คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2541 – 2542

                การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 2 ดำเนินการที่สถานีวิจัยปากช่อง  ในปี พ.ศ. 2542 – 2543  โดยปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ๆ ละ 2 แถว  แต่ละแถวมี 20 หลุม ๆ ละ 3 ต้น  แล้วคัดเลือกให้เหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ต้นเดียว  ทำการคัดเลือกหลังจากปลูก 8 เดือน  นำไปปลูกคัดเลือก  โดยการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น
การคัดเลือกพันธุ์ปีที่ 3  ดำเนินการที่สถานีวิจัยปากช่อง  ในปี พ.ศ. 2543 – 2544  โดยปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ๆ ละ 2 แถว  แต่ละแถวมี 20 หลุม ๆ ละ 3 ต้น  แล้วคัดเลือกให้เหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ต้นเดียว  ทำการคัดเลือกหลุมจากปลูก 8 เดือน  นำเมล็ดไปเพาะปลูกคัดเลือก ในปีที่ 4  เหมือนกับปีที่ 3  ในปี พ.ศ. 2544 – 2545

                การคัดเลือกพันธุ์ในปีที่ 5, 6  และ 7  เป็นการคัดเลือกพันธุ์มาตรฐาน  ที่สถานีวิจัยปากช่อง  ในปี พ.ศ. 2546 – 2549  โดยปลูกพันธุ์ละ 2 แถว ๆ ละ 20 หลุม ๆ ละ 3 ต้น  เมื่อออกดอกจะตัดต้นเหลือต้นสมบูรณ์เพศไว้ 1 ต้น  และปลูกเปรียบเทียบกับมะละกอพันธุ์ปากช่อง 1  กับสายพันธุ์มะละกอลูกผสมที่คัดเลือกไว้
ทำการศึกษาลักษณะต่าง ๆ  ของมะละกอ  ดังนี้ลักษณะของใบและก้านใบ วัดความยาวของใบ  วัดความกว้างของใบ วัดความยาวของใบ  วัดสีของใบ  ทำการถ่ายรูป  ลักษณะภายนอกและภายในของผลศึกษาน้ำหนักผล  รูปร่างผล  โดยวัดความกว้างและความยาวของผล สีผิวของผลภายนอก  เมื่อดิบและสุก ความหนาเนื้อโดยผ่าตรงส่วนที่กว้างที่สุด  น้ำหนักเนื้อ  น้ำหนักเปลือก  น้ำหนักเมล็ด  โดยชั่งเป็นกรัม  สีของเนื้อเมื่อสุก เปอร์เซ็นต์  Total Soluble Solids (%TSS)  การชิมรส  โดยให้คะแนนตามเกณฑ์

                ทำการศึกษาที่สถานีวิจัยปากช่อง  สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งแต่  พ.ศ. 2540 – 2549

ผลการศึกษา

    1. การผสมพันธุ์  สายพันธุ์มะละกอปากช่อง  2  เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แขกดำ  เป็นพันธุ์แม่  และพันธุ์ปากช่อง  1  เป็นพันธุ์พ่อ  โดยวิธีการผสมด้วยมือ  หลังจากนั้นเก็บผลผลิตเอาเมล็ดมาเพาะในถุงพลาสติกดำ  ขนาด  3” × 5” คัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงปลูกลงแปลงได้ 26 แถว ๆ ละ 21 ต้น  จำนวน 3 ต้น  ต่อหลุม  หลังจากปลูก 4 เดือน  คัดต้นที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศเหลือเพียง 1 ต้น  ศึกษาลักษณะลูกผสมเพื่อคัดเลือกลักษณะดีได้ตามต้องการ  ที่ออกดอกและติดผล  หลังจากปลูก 8 เดือน  คู่ผสมที่ดีที่คัดไว้คือ  11 – 19, 12 – 21  และ  13 – 19  โดยมีคุณภาพของผลที่ดี  มีเนื้อหนา  สีส้มและรสชาติดี
    2. การคัดเลือกสายพันธุ์ดี  หลังจากปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลง  มีสายพันธุ์ที่ดีให้ผลผลิตมีคุณภาพและผลผลิตสูง  คือ  สายพันธุ์  11 – 19, 12 – 21  และ  13 – 19  โดยสายพันธุ์  ปากช่อง 2 (12 – 21)  ให้ผลผลิตดีที่สุด และทดสอบพันธุ์กับพันธุ์ปากช่อง 1  รวมเวลา 4 ปี  พบว่า  ผลผลิตของสายพันธุ์ 12 – 21 (ปากช่อง 2)  ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ปากช่อง 1   10  กิโลกรัมต่อต้น  หลังจากปลูก 18 เดือน

                    จากการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของใบและผลของมะละกอลูกผสมพันธุ์ปากช่อง 2  และพ่อแม่พันธุ์ของลูกผสม  ดังนี้คือ ความกว้างของใบ  พบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำและลูกผสมปากช่อง 2 (12 – 21) มีความกว้างของใบใกล้เคียงกันคือ  88.00  เซนติเมตร  และ  87.50  เซนติเมตร  รองลงมาคือพันธุ์ปากช่อง 1  มีความกว้างของใบ 74.50 เซนติเมตร  จึงแตกต่างทางสถิติกับพันธุ์แขกดำ  และลูกผสมพันธุ์ปากช่อง 2 (12 – 21)  ความยาวของใบ  พบว่ามะละกอพันธุ์ปากช่อง 2 (12 – 21)  มีความยาวของใบมากที่สุด  67.50 เซนติเมตร  รองลงมาคือพันธุ์แขกดำ  59.00  เซนติเมตร  น้อยที่สุดคือพันธุ์ปากช่อง 1  49.00  เซนติเมตร  มีความแตกต่างทางสถิติทั้ง 3 พันธุ์   ความยาวของก้านใบ  พบว่ามะละกอพันธุ์ปากช่อง 1  มีความยาวของก้านใบมากที่สุด  92.00 เซนติเมตร  รองลงมาคือพันธุ์แขกดำ  และลูกผสมปากช่อง 2 (12 – 21)  มีความยาวเท่ากันคือ  85.00  เซนติเมตร  มีความแตกต่างทางสถิติกับพันธุ์ปากช่อง 1      สีของใบมะละกอทั้ง 3 พันธุ์อยู่ในกลุ่มสีเขียว พันธุ์ปากช่อง 1 พันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) Green group 139 A  พันธุ์แขกดำ Green group 139 A

                    ลักษณะภายนอกและภายในผล  น้ำหนัก พบว่ามะละกอพันธุ์พันธุ์แขกดำมีน้ำหนักมากที่สุด 2,050 กรัม รองลงมาคือพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21)  1,100 กรัม และพันธุ์ปากช่อง 1 ตามลำดับ มีความแตกต่างทางสถิติทั้งสามพันธุ์        สีผิวผลภายนอกเมื่อสุก พันธุ์แขกดำ พันธุ์ปากช่อง 1 และพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) อยู่ในกลุ่ม Yellow Orange group มีสีเหลืองส้ม ไม่แตกต่างกัน

                    ความหนาเนื้อพบว่าพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) มีความหนาเนื้อมากที่สุด 3.00 เซนติเมตร รองลงมาคือพันธุ์แขกดำ 2.60 เซนติเมตร พันธุ์ปากช่อง 1 2.45 เซนติเมตรมีความแตกต่างทางสถิติ แต่พันธุ์พันธุ์แขกดำและ พันธุ์ปากช่อง 1ไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่างกัน  สีเนื้อสุกทุกพันธุ์อยู่ในกลุ่มสีส้มแดง Orange Red group ไม่มีความแตกต่างกัน  เปอร์เซ็นต์ Total soluble solid(%TSS) พบว่าพันธุ์ปากช่อง 1มี เปอร์เซนต์Total soluble solid(%TSS) มากที่สุด 14.5 ° Brixพันธุ์ปากช่อง 2 (12-21) 14 ° Brix และพันธุ์แขกดำ 11 ° Brix

                    ลักษณะสายพันธุ์ ปากช่อง 2 (12 – 21)  ใบมี 7 แฉก  ใบสีเขียวเข้ม  ใบกว้าง  85 – 70 เซนติเมตร  ใบยาว 66 – 70 เซนติเมตร  ก้านใบสีเขียวยาว 80 – 89 เซนติเมตร  น้ำหนักผลดิบ 1,000 – 1,200 กรัม  น้ำหนักผลสุก 900 – 1,100 กรัม  สีผิวผลสุกสีเหลือง  สีเนื้อสุกสีส้มแดง  ความหนาเนื้อประมาณ 3 เซนติเมตร  น้ำหนักเนื้อ 810 กรัม  น้ำหนักเปลือก 50 กรัม  น้ำหนักเมล็ด 40 กรัม  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เนื้อ  เปอร์เซ็นต์เปลือก  เปอร์เซ็นต์เมล็ด  ความหนาเปลือก 0.16 เซนติเมตร  ความหวาน 15 องศาบริกซ์  กลิ่นหอมรสชาติดี  หลังจากปลูก 18 เดือน  ให้น้ำหนักผลผลิต40 – 50  กิโลกรัมต่อต้น  ค่อนข้างทนต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน

    สรุป

    สายพันธุ์มะละกอปากช่อง 2  เป็นลูกผสมของพันธุ์มะละกอแขกดำกับพันธุ์ปากช่อง 1  โดยทำการผสมพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  และทำการคัดเลือกและทดสอบจนสิ้นสุดทางทดลองเมื่อ พ.ศ. 2549

    การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ  ได้ 3 สายพันธุ์  คือ พันธุ์  11 – 19, ปากช่อง 2 (12 – 21)  และ 13 – 19

    พันธุ์ที่มีลักษณะดี  คือ  พันธุ์ปากช่อง 2(12-21)  มีลักษณะผลขนาดปานกลาง  น้ำหนักผลดีขนาด  1,000 – 1,200  กรัม  เนื้อสีส้มแดง  หนา  ความหวานประมาณ 15 องศาบริกซ์  การเก็บเกี่ยวหลังจากปลูก 18 เดือน  ได้น้ำหนักผลผลิต 40 – 50 กิโลกรัมต่อต้น  ค่อนข้างทนต่อโรคใบจุดวงแหวน

     

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ1, นายรักเกียรติ  ชอบเกื้อ2, นายองอาจ หาญชาญเลิศ2, น.ส.พินิจ กรินท์ธัญญกิจ2 และ นางกัลยาณี สุวิทวัส2 
1ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา 30130
โทร.  0-4431-1796