ศึกษาผลของการเสริมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์จากพืชเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คต่อจุลินทรีย์
ในระบบทางเดินอาหารและองค์ประกอบทางเคมีของมูลไก่ไข่
Study on the effect of fructo-oligosaccharide from Jerusalem artichoke on intestinal micro
organisms and chemical composition of feces in laying hens



                ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ในเจรูซาเล็ม อาร์ติโช๊ค    เป็นพรีไบโอติกที่เป็นสารอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่เสริมให้กับจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารเพื่อช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์อยู่ในลำไส้และช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคในร่างกาย ทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น  และลดกลิ่นจากมูลสัตว์   เจรูซาเล็ม อาร์ติโช๊ค  มีฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 12 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเถ้าประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักสด ถูกใช้อย่างจำเพาะโดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่บริเวณลำไส้ส่วนท้ายทำให้เกิดกรดไขมันสายสั้น (Short Chain Fatty Acids; SCFAs)     อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาสารสกัดฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์จากเจรูซาเล็ม อาร์ติโช๊ค ต่อการเจริญเติบโตในสัตว์ปีก รวมถึง ปริมาณจุลินทรีย์ และองค์ประกอบทางเคมีของมูลสัตว์ปีก การศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการศึกษาผลของการเสริมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์จากพืชเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารและองค์ประกอบทางเคมีของมูลไก่ไข่

Intestinal Morphology

                การทดลองในครั้งนี้ออกแบบให้มีการศึกษาสารฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์จากพืชเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊ค  จากการศึกษาพบว่าเยรูซาเลมอาร์ติโช๊ค ภายในมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มโอลิโกแซ็กคาไรด์ คือ อินนูลิน และฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ทำการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คลงในอาหารและให้ไก่ไข่กินในเวลาที่กำหนด เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารและองค์ประกอบทางเคมีของมูล อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของหัวเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คทีจะนำมาใช้ในการศึกษาในครั้งนี้พบว่า เป็นเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คหัวสดมีลักษณะของหัวขรุขระคล้ายหัวขิง ซึ่งเป็นปุ่มเล็กอยู่เป็นกลุ่มสีขาว แต่ละหัวมีขนาดประมาณ 50 – 200 กรัม และมีความชื้นอยู่ภายใน โดยลักษณะทั้งหมดของหัวเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คในรูปสดไม่เหมาะสมต่อการนำมาเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม

                การเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรมนั้นจำนวนสัตว์มีความหนาแน่น และอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารที่มีความเข้มข้นของโภชนะและมีความชื้นไม่สูงมากโดยอยู่ที่ประมาณ 10 – 14% และมีการบดละเอียดเพื่อให้วัตถุดิบอาหารแต่ละชนิดนั้นผสมเข้ากันและช่วยการย่อยและใช้ประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นการที่เลี้ยงสัตว์ในลักษณะกักขังจำเป็นต้องคำนวณให้มีระดับของโภชนะเหมาะกับความต้องการของสัตว์ จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงจำเป็นต้องเตรียมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คให้เหมาะสมต่อการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ กล่าวคือ ต้องลดความชื้นในเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คลงและลดขนาดของเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คเพื่อช่วยในการกระจายตัวในอาหาร โดยได้นำเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี โดยวิธี Proximate analysis ซึ่งประกอบด้วย ความชื้น โปรตีน ไขมัน เยื่อใย และ เถ้า จากนั้นคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรท โดยผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างของเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คนั้นแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 องค์ปรกอบทางเคมีของตัวอย่างเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คที่ใช้ในการทดลอง

รายการ

ปริมาณ(%)

Air dry matter basis

Dry matter basis

ความชื้น

85.07

-

โปรตีน

3.18

21.30

ไขมัน

0.10

0.67

เยื่อใย

6.10

40.86

เถ้า

1.10

7.37

คาร์โบไฮเดรต

4.45

29.81

                จากผลการทดลองพบว่าเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คในรูปของหัวสดนั้นมีความชื้นอยู่สูงถึง 85.07 % ซึ่งเป็นระดับสูง และไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้ความชื้นในอาหารสูงขึ้นและอาจทำให้เกิดราขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวอย่างเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คโดยการอบแห้ง

เจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คหัวสด

เจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คอบแห้ง

เจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คบดเพื่อผสมในอาหารไก่ไข่

 

                จากผลการทดลองเมื่อทำการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คโดยการอบแห้งในอาหารไก่ไข่พบว่า ผลของการเสริมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์จากพืชเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คในอาหารไก่ไข่ต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่ในช่วงที่ 1 (2 สัปดาห์) เมื่อสิ้นสุดช่วงที่ 1 ไก่ไข่มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 โดยการเสริมที่ระดับ 100 ppm มีผลผลิตไข่เท่ากับ 97.62 และ 95.63 % เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีผลผลิตไข่เท่ากับ 95.24 และ 95.24 % ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาน้ำหนักไข่พบว่าการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คมีผลทำให้น้ำหนักไข่ลดลง โดยไม่พบความแตกต่างทางสถิติ เมื่อพิจารณาถึงมวลไข่และการเปลี่ยนอาหารเป็นมวลไข่ พบว่าการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คมีผลลดปริมาณมวลไข่ แต่มีผลเพิ่มประสิทธิภาพเปลี่ยนอาหารเป็นมวลไข่ โดยกลุ่มที่เสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คที่ระดับ 100 ppm มีประสิทธิภาพเปลี่ยนอาหารเป็นมวลไข่เท่ากับ 1.78 เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมมีประสิทธิภาพเปลี่ยนอาหารเป็นมวลไข่เท่ากับ 1.82 อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างทางสถิติแต่อย่างใด

                ผลของการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คพบว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพไข่ โดยกลุ่มที่เสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คมีผลลดน้ำหนักไข่แดงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติยิ่ง (p<0.01) โดยกลุ่มที่เสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คที่ระดับ 100 ppm มีค่าน้ำหนักไข่แดงเท่ากับ 34.90 กรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีค่าน้ำหนักไข่แดงเท่ากับ 36.36 กรัม และการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คพบว่ามีผลเพิ่มค่าน้ำหนักเปลือกไข่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติยิ่ง (p<0.01) โดยกลุ่มที่เสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คที่ระดับ 50 และ 100 ppm มีค่าน้ำหนักเปลือกไข่เท่ากับ 6.34 และ 6.24 กรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่น้ำหนักเปลือกไข่เท่ากับ 5.89 กรัม ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊คพบว่ามีผลลดค่าความสูงไข่ขาว ซึ่งผลจากการทดลองที่ได้นี้เป็นเพียงส่วนของการทดลองในช่วงที่ 1 จากทั้งหมด 3 ช่วงการทดลอง

                นอกจากนั้นผลของการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊ค ในช่วงการทดลองที่ 1 จากทั้งหมด 3 ช่วงการทดลองพบมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณผลผลิต และคุณภาพไข่ อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยเห็นสมควรพิจารณาผลของการเสริมเจรูซาเล็มอาร์ติโช๊ค เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ซึ่งจะสามารถพิจารณาภาพรวมการทดลองได้ 

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.ชัยภูมิ  บัญชาศักดิ์   อ.ธีรวิทย์ เป่ยคำภา  ดร.ชัยวัฒน์ บุญแก้ววรรณ  ดร.วิริยา ลุ้งใหญ่   และ น.ส.ดวงกมล ศรีวงแสน
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 081-5150145