ศูนย์นาโนเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันกำลังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยมีหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เป็นแกนหลักในการศึกษาวิจัย ได้แก่
- ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์
- ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิยาศาสตร์
- คณะอุตสาหกรรมเกษตร
- คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) คือการสร้างและการประยุกต์ใช้งานวัสดุ อุปกรณ์ และระบบ โดยการควบคุมโครงสร้างในระดับนาโนเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับขนาดของอะตอมหรือโมเลกุล
จุดมุ่งหมายของนาโนเทคโนโลยี คือการเรียนรู้สมบัติของสสารในระดับนาโนเมตร เพื่อนำไปสู่การออกแบบและสร้างวัสดุหรืออุปกรณ์ขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐานระดับอะตอมหรือโมเลกุล
นาโนเทคโนโลยีเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาวิจัยในหลากหลายสาขา ทั้งสาขาเคมี ฟิสิกส์ เกษตรศาสตร์และชีววิทยา รวมถึงวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่คาดกันว่านาโนเทคโนโลยีจะทำให้เกิดวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมทั้งเกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต
งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์นาโนและนาโนเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งเน้นกลุ่มวิจัยทางด้าน
- คลัสเตอร์นาโนวัสดุ (Nanomaterials Cluster)
- คลัสเตอร์นาโนไบโอเทคโนโลยี (Nanobiotechnology Cluster)
- คลัสเตอร์นาโนอิเล็คทรอนิกส์ (Nanoelectronics Cluster)

โดยดำเนินการศึกษาทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านการทดลองควบคู่กันไป ในการศึกษาเชิงทฤษฎีนั้นจะใช้ระเบียบวิธีการคำนวณทางเคมีควอนตัมร่วมกับเคมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลงานวิจัยในส่วนนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติในห้องทดลองต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและยังประหยัดเวลาในการทดลองอีกด้วย
งานวิจัยหลักที่ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการศึกษามาอย่างต่อเนื่องได้แก่
- การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวรองรับที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- การศึกษาโครงสร้างคาร์บอนนาโนทิวบ์ และปฏิกิริยาของคาร์บอนนาโนทิวบ์ และการปรับปรุงสมบัติทางเคมีและกายภาพของคาร์บอนนาโนทิวบ์
- การสังเคาระห์ Nanoparticle ด้วยวิธี Rapid Expansion Process
- การออกแบบและการศึกษาสมบัติทางโครงสร้างอิเล็กทรอนิกส์ของเซรามิกส์ อิเล็กทรอนิกส์และพอลิเมอร์อิเล็กทรอนิกส์
- การศึกษาโครงสร้างและอันตรกิริยาระหว่างสารชีวโมเลกุลยาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ตัวอย่างงานวิจัย
ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร (Nanostructured Catalysts)
นาโนซีโอไลต์ (NanoZeolites) ซีโอไลต์เป็นสารประกอบอะลูมิโนซิลิเกต ที่มีความเป็นผลึกและมีโครงสร้างเป็นรูพรุนที่มีขนาดจำเพาะในระดับไมโครพอร์ (Microporous, 2-20 Å) ซีโอไลต์มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ใช้ในกระบวนการแยก และใช้เป็นตัวดูดซับ นอกจากนั้นแล้วในอุตสาหกรรมผลิตผงซักฟอกใช้ซีโอไลต์ เป็นปริมาณมากในการแลกเปลี่ยนไอออนเพื่อลดความกระด้างของน้ำ แม้ว่าซีโอไลต์ จะสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายแต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากขนาดรูพรุนที่เล็กมาก ดังนั้นในโครงการวิจัยนี้จะศึกษาพัฒนาซีโอไลต์ให้มีรูพรุนขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยการ สังเคราะห์เป็นผลึกขนาดนาโนเมตรและด้วยการดัดแปลงผลึกเพิ่มรูพรุนขนาดนาโนเมตร นาโนซีโอไลต์นี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีกว่าซีโอไลต์ปกติมาก อัตราการเร่งปฏิกิริยา สูงขึ้นและมีความจำเพาะในการเกิดปฏิกิริยาสูงขึ้น ขนาดรูพรุนที่ใหญ่ขึ้นยังทำให้ โมเลกุลขนาดใหญ่สามารถเข้าทำปฏิกิริยาได้มากขึ้น ทำให้สามารถใช้เร่งปฏิกิริยาที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ซิลิกาเมโซพอร์ และอะลูมิโนซิลิเกตเมโซพอร์ (Mesoporous Aluminosilicate Materials) เป็นสารประกอบที่ คล้ายกับซีโอไลต์แต่ไม่มีโครงสร้างผลึก มีความเป็นรูพรุนสูงและมีพื้นที่ผิวมากและที่สำคัญมีรูพรุนขนาดใหญ่กว่าซีโอไลต์ เป็น วัสดุที่เป็นประโยชน์มากในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะในปฏิกิริยาเคมีที่เกี่ยวข้องกับสารโมเลกุลใหญ่ งานวิจัยนี้ศึกษา การสังเคราะห์วัสดุประเภทนี้ให้มีรูพรุนอย่างน้อย 2 ขนาด โดยศึกษาการสังเคราะห์ซิลิกาเมโซพอร์ชนิด SBA-15 โดยใช้เถ้าแกลบ เป็นสารตั้งต้น และใช้ไคโตซานเป็นสารแม่แบบธรรมชาติเพื่อให้เกิดรูพรุนตามที่ต้องการ ทดแทนการใช้สารแม่แบบในกลุ่มสาร ลดแรงตึงผิวที่มีราคาแพง จึงเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเป็นการนำของเสียทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลับมาใช้ใหม่อีกด้วย
 |
 |
M. Chareonpanich, et al., Mater. Lett.
2008, 62, 1476
|
P. Puntu, et al., Chem Eng Commun,
2008, 195, 1477.
|
คาร์บอนที่มีรูพรุนระดับนาโนเมตรและคาร์บอนนาโนทิวบ์ (Carbon Nanostructures)
ท่อนาโนคาร์บอน (Carbon nanotubes) เป็นวัสดุที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจาก มีคุณสมบัติเฉพาะที่โดดเด่น ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ในนาโนเทคโนโลยีได้หลากหลายโดยเฉพาะเป็นอุปกรณ์นาโนอิเล็กโทรนิกส์ที่มีขีดความสามารถสูง โครงการวิจัยนี้ ศึกษาพัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างของท่อนาโนคาร์บอน และวัสดุคาร์บอนอื่นๆ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยทำการศึกษาทั้งทางด้านการคำนวณทางทฤษฎีควบคู่กับการทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์เข้ากับงานทางภาคอุตสาหกรรมเป็นอุปกรณ์ตรวจจับโมเลกุลของสาร (Molecular Sensors) โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายที่จะศึกษาสมบัติทางเคมีและทางไฟฟ้าของท่อนาโนคาร์บอนหลังทำการดัดแปลงโครงสร้างด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีของท่อนาโนคาร์บอนโดยการเติมอนุภาคของโลหะหรือโมเลกุลของสารชีวภาพไปที่โครงสร้างของท่อ เป็นต้น และพัฒนาความรู้เหล่านี้ไปสู่การสร้างอุปกรณ์ตรวจจับสารที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไปในอนาคต
 |
 |
ท่อนาโนคาร์บอนต่อกับอนุภาคทอง C. Warakulwit, et al., Nano Letters, 2008, 8, 500. |
การผลิตอนุภาคนาโนด้วยเทคโนโลยีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ของสารละลายเหนือวิกฤต (Rapid Expansion of Supercritical Solutions)
อนุภาคนาโนของสารอินทรีย์และพอลิเมอร์ชีวภาพ สามารถผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสารละลายเหนือวิกฤต โดยมีการขยายตัวของสารละลายเหนือวิกฤต ซึ่งประกอบด้วยตัวถูกละลายและตัวทำละลาย (ทั่วไปนิยมใช้คาร์บอนไดออกไซด์) ไปในอากาศ (RESS) หรือในสารละลายรองรับ (RESOLV) กระบวนการที่กล่าวถึงนี้สามารถผลิตได้ทั้งอนุภาคนาโนจากสารเดี่ยวและอนุภาคนาโนคอมโพสิต ตัวอย่างเช่น อนุภาคนาโนของโคเอนไซม์คิวเทนและอนุภาคนาโนพอลิ (แอล-แลคไทด์) ห่อหุ้มวิตามินเอ อนุภาคนาโนที่เตรียมได้จากกระบวนการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสารละลายเหนือวิกฤตมีความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นผลมาจากอนุภาคเกิดในสภาวะที่ระบบมีความอิ่มตัวสูง และถูกทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนเฟสอย่างฉับพลันจากของไหลเหนือวิกฤตเป็นแก๊สที่สภาวะปกติ กระบวนการ RESS และ RESOLV นั้น สามารถนำไปใช้ในการผลิตอนุภาคนาโนในรูปของผงแห้งและสารแขวนตะกอนที่เสถียรได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแยกและทำให้บริสุทธิ์ ดังนั้นทั้งสองกระบวนการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตอนุภาคนาโนจากยาและการห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการนำส่งยา และยังจัดว่าเป็นกระบวนการที่สามารถขยายกำลังการผลิตไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

A. Sane, et al., J. Phys. Chem. B, 2005, 109, 19688