พันธุ์กล้วยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Banana Varieties of Kasetsart University

กล้วยเบพ (Bep)

          กล้วยเบพ (Musa acuminata ‘Bep’) คือ ต้นกล้วยไข่ที่ได้จากการทำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยใช้สารเคมีในสภาพปลอดเชื้อเมื่อปี พ.ศ. 2538 และได้ทดลองปลูกเปรียบเทียบกับต้นกล้วยไข่ปกติเมื่อปี 2539 พบกว่าต้นกล้วยเบพมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านลักษณะต่างๆ ทั้งรูปร่างของใบ และลำต้น ซึ่งเหมาะสำหรับทำเป็นไม้ประดับกระถางมากกว่าจะนำมาปลูกเพื่อบริโภคผล ดังนั้นในปี พ.ศ. 2542 จึงได้นำมาทดสอบความพอใจของผู้เลี้ยงไม้ประดับ และผู้เลี้ยงต้นกล้วย ปรากฏว่าได้รับความสนใจพอควร จึงได้นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไปอีก 4 – 5 ชั่ว ซึ่งไม่พบลักษณะที่ผิดปกติแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ขึ้นทะเบียนรับรองตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544

          กล้วยเบพ อยู่ในวงศ์ Musaceae ลำต้นแท้จริงอยู่ใต้ดินประเภท rhizome ที่ลำต้นมีตาเจริญอยู่ด้านข้าง และสามารถแตกเป็นหน่อแทงขึ้นสู่อากาศได้ ตาอยู่ระหว่างกาบใบ กาบใบมีการเจริญเติบโตอัดกันแน่นชูขึ้นเหนือลำต้นเรียกว่าลำต้นเทียม ลำต้นเทียมเมื่อต้นยังอ่อนอยู่มีสีขาว เมื่อโตเต็มวัยจะมีสีม่วงแดง และมีขนาดเตี้ยมาก ก้านใบค่อนข้างสั้นมากเสมือนไม่มีก้านใบ ลักษณะของก้านใบในช่วงที่ติดกับกาบใบจะแผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นกลางใบหนา และมีเส้นใบออกจากกลางใบแบบขนาน ปลายใบแบบ acuminate ฐานใบมีรูปร่างกลมมนแบบ obtuse ความหนาของใบเมื่อยังเป็นต้นอ่อนประมาณ 0.016 ซ.ม. ส่วนความหนาใบเมื่ออายุเต็มวัยประมาณ 0.032 ซ.ม. ใบจะหนา และแข็งแรงขึ้นเมื่อโตเต็มวัย เส้นใบเห็นชัด ใบมีสีเขียวเข้ม และเป็นมันเงา ใบอ่อนเกิดที่กลางลำต้น มีการจัดเรียงของใบเป็นแบบ spiral เรียงซ้อนๆ กันที่ส่วนโคน โดยมีมุมของใบต่อใบเป็นมุม 120 – 160 องศา ใบอ่อนที่เกิดขึ้นม้วน และกางออกค่อนข้างมาก และโค้งลงปรกดิน รากเป็นระบบรากฝอย ไม่ปรากฏดอกให้เห็นแม้มีอายุ 6 ปี การปลูกกล้วยเบพ ควรใช้พีทมอสเป็นวัสดุปลูกในช่วง 2 – 3 เดือนแรก หลังจากนั้นย้ายปลูกในวัสดุปลูก ซึ่งประกอบด้วยดินผสม: ทราย: ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 2: 2:1 หรือดินผสม: ทราย อัตราส่วน 1: 1

ภาพที่ 1 กล้วยเบพ

กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ (Kasetsart Bananas)

          จากการศึกษาของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2541 – 2544 ได้ทำการฉายรังสีแกมมากับต้นอ่อนที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบเฉียบพลันที่ 0, 10, 20 และ 30 เกรย์  พบว่าทุกความเข้มของรังสีก่อให้เกิดการกลายของพันธุ์จากพันธุ์กำแพงเพชรเดิม  กล่าวคือ 
          0  เกรย์  หน่อที่ไม่ได้ฉายรังสีเลย  พบว่ามีต้นที่ผลมีผิวมันเป็นเงา  ส่วนอื่นๆเหมือนกับกล้วยไข่กำแพงเพชร  การกลายพันธุ์แบบนี้เกิดจาก  สารเคมีในอาหารที่ใช้เลี้ยงต้นอ่อน  ได้ตั้งชื่อว่า  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 3
          10  เกรย์  พบว่าผลยาวขึ้น  เรียวสวย การเรียงตัวของผลในแต่ละหวีสวย  แต่เนื้อไม่แน่นเท่ากล้วยไข่กำแพงเพชร  ได้ตั้งชื่อว่า  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์  1
          20  เกรย์  พบการกลาย 3  แบบ

  1. พบว่าผลสั้นลง  เล็กป้อม  ปลายผลทู่มน  ก้านผลยาวขึ้นเล็กน้อย  จึงทำให้การเรียงตัวดี  เนื้อแน่น  รสหวาน  หอม  ได้ตั้งชื่อว่า  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2
  2. ผิวมัน  ให้ชื่อว่า  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 4
  3. ปลายผลแหลม เนื้อคล้ายกล้วยไข่กำแพงเพชร ให้ชื่อว่า กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 5

          30  เกรย์  ได้ผลขนาดเล็กมาก  จึงไม่เก็บไว้ทำพันธุ์
                พันธุ์กลายที่เกิดขึ้นได้ตั้งชื่อว่า  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 1 – 5 (Kasetsart Banana 1 – 5)  และเมื่อได้ทำการตรวจสอบ DNA ด้วยเทคนิค SRAP  พบว่า  ทุกพันธุ์มีความแตกต่างจากกล้วยไข่กำแพงเพชร และทุกพันธุ์มีความแตกต่างกันด้วย ยกเว้นกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 4 ซึ่งไม่แตกต่าง แสดงว่าการเกิดกลายพันธุ์ของกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 4 ในช่วงแรกไม่คงที่ และเมื่อปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีวิจัยปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  ก็พบความคงที่ของพันธุ์กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 1, 2, 3 และ 5 เช่นเดียวกับการศึกษาทาง DNA   ดังนั้นจึงได้ตัดกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ จดทะเบียนกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 1, 2, 3 และ 5 ไว้ที่กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ



ภาพที่ 2  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 1
ภาพที่ 3  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2


ภาพที่ 4  กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 3
ภาพที่ 5 กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 5

 

 

คณะผู้วิจัย
ศาสตราจารย์ เบญจมาศ  ศิลาย้อย
ภาควิชาพืชสวน  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.   0-2579-0308 ต่อ 142