ในปัจจุบัน กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีความสำคัญและได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน(community-based tourism) ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว. สำนักงานภาค) สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทาง
เลีอกให้กับระบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่มุ่งเน้นให้”คน”เป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว และมีเป้าหมายไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนตามศักยภาพของตนและการศึกษาเรียนรู้ ดูแล รักษา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (homestay) นับเป็นกิจกรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มี”คน” หรือ “เจ้าของ” เป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรม เพราะรูปแบบของที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบทนั้น สามารถตอบสนองหลักการพื้นฐานสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecotourism) ในองค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทำให้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศในชุมชนได้มากกว่า และชุมชนจะมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ตั้งแต่การพัฒนาที่พักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะ การกำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพยากรท้องถิ่น
จังหวัดสมุทรสงคราม มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และเกษตรกรรมเนื่องจากเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นแหล่งการเพาะปลูก เกษตรกรรม การทำสวน มาช้านาน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสม ดังจะเห็นจากคำขวัญจังหวัดที่ว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม” อำเภออัมพวา ในปัจจุบันนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งในหมู่คนไทย โดยมีจุดเด่นที่ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม นอกจากนี้การจัดการที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (homestay) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวโดยชุมชนในท้องถิ่นแถบนี้มีรูปแบบที่หลากหลายและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2541-2542 เป็นปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ในขณะนั้นทุกหน่วยงานของภาครัฐมีนโยบาย สนับสนุนกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวแบบ ที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (homestay)ในแหล่งชุมชน และขยายกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น (homestaythai, 2549) โดยจุดเริ่มต้นในท้องถิ่นอัมพวาเริ่มที่ บ้านหัวหาด ตำบลเหมืองใหม่ โดยผู้ใหญ่ ทองหยิบ แก้วนิลกุลและบ้านทรงไทยปลายโพงพาง ตำบลปลายโพงพาง โดยกำนันธวัช บุญพัด (ตำแหน่งในขณะนั้น) (รูปที่ 1) ได้รับการประสานจากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในการนำเที่ยวชมหิ่งห้อยในเวลากลางคืน และเข้าพักในที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (homestay)ของชาวบ้านเพื่อสัมผัสชีวิตชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งต่อมากระแสการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากสามารถเดินทางสะดวกและอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวและมีพัฒนาการด้านรูปแบบที่หลากหลายกระจายไปทั่วอำเภออัมพวา เรือนพื้นถิ่นที่เคยถูกลืมเลือนก็กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเจ้าของเรือน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากทั้งด้านบวกและด้านลบแก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการใช้ที่ดินและสาธารณูปโภค สาธารณูปการรวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม
จากบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างจากการพัฒนาที่ขาดสมดุลจากการขาดวางแผนที่รัดกุมเพื่อรองรับปัญหาการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในปริมาณมากเกินกว่าที่ศักยภาพของพื้นที่ที่จะรอบรับได้ ชุมชนจึงควรหันมาทบทวนตนเองและปรับกระบวนทัศน์ การพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางของการพึ่งตนเองและสร้างภูมิคุ้มกันต่อชุมชนให้มากขึ้น โดยการหันมายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการ เป็นองค์รวม โดยยึด “คน”เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แต่ในปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนในอำเภออัมพวาโดยเฉพาะการจัดการที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (homestay) ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นตามสภาพความจริงที่ปรากฏ เนื่องจากที่พักฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือว่าไม่เข้าข่ายที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมตามการนิยามประเภทของโฮมสเตย์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดความสับสนทั้งการแบ่งประเภท การเรียกชื่อและการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้ที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบทไม่ได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานเท่าที่ควร การดำเนินการและการจัดการโดยผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเรือนเองยังถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม และขาดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการ ทำให้ชุมชนยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังคงมีเพียงโฮมสเตย์บ้านหัวหาด เป็นโฮมสเตย์เพียงแห่งเดียวของจังหวัดสมุทรสงครามที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ปีพ.ศ. 2549 (Homestaythai, 2551)
รูปที่ 1 โฮมสเตย์บ้านหัวหาด อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (homestaythai, 2549)
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 หมวด 2 มาตราที่ 16 กำหนดให้เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง มีหน้าที่ในจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง สามารถจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการการท่องเที่ยวแบบเชิงนิเวศในท้องถิ่น คือ คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร คุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลจึงควรมีส่วนสำคัญร่วมกับประชาชน ในการดูแล ควบคุม และจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในบริบทของชุมชนท้องถิ่น
จากความสำคัญข้างต้นนั้น งานวิจัยนี้มุ่งศึกษารูปแบบและเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบทของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามในปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยต่างๆมีผลต่อศักยภาพ และวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบทของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยทำการศึกษาจากกลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการที่พักฯ กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณข้างเคียงที่พักฯ และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เข้าพักในอำเภออัมพวา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์กลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้นำชุมชนกลุ่มผู้ประกอบการที่พักฯ และแบบสอบถามสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณทำการวิเคราะห์โดยค่าความถี่ และร้อยละ และหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักสำหรับคำถามแบบถ่วงน้ำหนักสำหรับคำถามแบบจัดลำดับ
ผลการศึกษาพบว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-base tourism) ในอำเภอ อัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเป็นการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนใหญ่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอายุระหว่าง 23-46 ปี และการศึกษาในระดับปริญญาตรี รายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 22,400 บาท/เดือน สำหรับวัตถุประสงค์ในการมาท่องเที่ยวพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อมาท่องเที่ยวตลาดน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว มากที่สุด รองลงมาได้แก่ มาเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้าน เที่ยววัด/ศาสนสถาน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำหรับรูปแบบของที่พักฯจากการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามสามารถแบ่งประเภทที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (Home Stay) โดยใช้เกณฑ์รูปแบบการบริหารจัดการ ลักษณะทางกายภาพของที่พัก และลักษณะการให้บริการที่พักแก่ผู้มาพัก แบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ โฮมสเตย์ประเภทกลุ่ม โฮมสเตย์ประเภทอิสระ และโฮมสเตย์กึ่งรีสอร์ทประเภทอิสระ ดังนี้
ลักษณะเด่นของแต่ละกลุ่มประเภทโฮมสเตย์
จากการศึกษาพบว่ารูปแบบของที่พักฯจากการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามสามารถแบ่งประเภทที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (Home Stay) โดยใช้เกณฑ์รูปแบบการบริหารจัดการ ลักษณะทางกายภาพของที่พัก และลักษณะการให้บริการที่พักแก่ผู้มาพัก แบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ
โฮมสเตย์ประเภทกลุ่ม โฮมสเตย์ประเภทอิสระ และโฮมสเตย์กึ่งรีสอร์ทประเภทอิสระ โดยแต่ละประเภทมีลักษณะเด่น ดังนี้
ประเภท |
ลักษณะเด่น |
โฮมสเตย์ประเภทกลุ่ม |
มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามเป็นธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของพื้นที่ รวมถึงสามารถให้ผู้มาพักได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง
มีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเสริมรายได้ของสมาชิกในกลุ่ม |
โฮมสเตย์ประเภทอิสระ |
การให้บริการแก่ผู้มาพักเป็นการดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดโดยเจ้าของบ้านเสมือนว่าผู้มาพักคือคนในครอบครัว ทำให้ผู้มาพักเกิดความประทับใจและต้องการกลับมาพักอีกครั้งหนึ่ง
รูปแบบและเวลาของกิจกรรมที่นำเสนอแก่ผู้มาพักสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและความสะดวกของผู้มาพัก โดยเจ้าของบ้านเป็นผู้จัดหาและให้บริการด้วยตนเอง |
โฮมสเตย์กึ่งรีสอร์ท
ประเภทอิสระ |
มีสภาพทางกายภาพของเรือนพักที่มีความสะดวกสบายพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายสำหรับผู้มาพัก โดยผู้มาพักสามารถมีทางเลือกในการตัดสินใจตามความต้องการของตนเอง |
จากการสอบถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อมาตรฐานที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรรมชนบททั้ง 3 ประเภท โดยอ้างตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน
โฮมสเตย์ไทย 8 ด้าน ของสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปีพ.ศ. 2549 พบว่ามาตรฐานที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากที่สุดคือด้านที่พักรองลงมาคือด้านความปลอดภัยและด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับ ความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาบริการด้านต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้พัฒนาด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาด้านสภาพ
แวดล้อม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความสนใจในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
จากการศึกษาพบว่า รูปแบบที่พักฯแต่ละประเภทมีศักยภาพและความโดดเด่นในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม ความมีเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตนิเวศ 3 น้ำรวมทั้งความหลากหลายของภูมิปัญญาในการดำรงชีพและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จากศักยภาพที่มีดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมต่อการเป็นชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืนในแนวทางของการเป็นแหล่งเรียนรู้นอกระบบ โดยท้องถิ่นควรศึกษาขีดความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัดรวบรวมและจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีหลากหลาย
รวมทั้งการกำหนดบทบาท หน้าที่ของทุกฝ่ายให้ชัดเจน เป็นแกนหลักในการพัฒนา พร้อมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานของที่พักฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่พักฯและนักท่องเที่ยวได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืนต่อไป |