การพัฒนา KASET โมเดลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สู่การเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

                             KASET Model Development through Faculty of Education, Kasetsart University Acquires the Abilities to Present the Educational Institution of Developing Academic Personnel to be Perfect Humans.

                คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามข้อตกลงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สู่การเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในวันที่ 27 มีนาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคณาจารย์และบุคลากร ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้มีขีดความสามารถในการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนานิสิตที่พร้อมจะเป็นบัณฑิตให้มีหัวใจที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น   ส่งเสริมให้ผู้บริหารของคณะศึกษาศาสตร์เห็นความสำคัญของการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และกำหนดเป็นนโยบายของคณะศึกษาศาสตร์   และมุ่งเน้นการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อค้นหาคำตอบร่วมกัน ในการพัฒนานิสิตของคณะให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

วัตถุประสงค์การดำเนินการวิจัย

  1. เพื่อพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์ให้มีความสามารถในการจัดหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้นิสิตมีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  2. เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนานิสิตให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
  3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญของการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีหัวใจของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และกำหนดเป็นนโยบายของคณะศึกษาศาสตร์

ขอบเขตการวิจัย

  1. การพัฒนานิสิต บุคลากร สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ใช้แนวคิดของจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งจิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและวิธีการปฏิบัติ  ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ภายในตน ภายในองค์กร และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เน้นการพัฒนาด้านในเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ถึงคุณค่าของสรรพสิ่ง  ลบอคติ เกิดความรัก ความเมตตาต่อธรรมชาติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม สามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาประยุต์ใช้ในชีวิตได้อย่างสมดุล
    ( สุมน.มปป. )
  2. กลุ่มที่ศึกษา ประกอบด้วย อาจารย์ที่ปรึกษาจำนวน 30 คน นิสิตทุกชั้นปี บุคลากรของคณะศึกษาศาสตร์
  3. ระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่เดือน มีนาคม 2552 ถึง มีนาคม 2553

วิธีการดำเนินงานวิจัย

                ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการพัฒนานิสิต อาจารย์ บุคลากร ของคณะศึกษาศาสตร์ โดยดำเนินการ ดังนี้
คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการเพิ่มขีดความสามารถของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สู่การเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  มีคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นประธาน โดยเริ่มต้นจากการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการที่รับผิดชอบในกรอบภาระหน้าที่ของงานประจำคณะศึกษาศาสตร์ และรับผิดชอบเฉพาะเพื่อพัฒนาคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตให้หัวใจที่พร้อมจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ซึ่งประกอบด้วย

  1. คณะอนุกรรมการอาจารย์ที่ปรึกษานิสิตประจำคณะศึกษาศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอาจารย์ที่ปรึกษานิสิต คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งทางโครงการได้กำหนดกรอบภาระหน้าที่ให้ทางคณะกรรมการดำเนินงานสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคณาจารย์ ในคณะศึกษาศาสตร์ ให้มีขีดความสามารถในการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
    ในภาคต้น ปีการศึกษา 2552 ทางคณะศึกษาศาสตร์ได้จัดการศึกษานอกสถานที่ ในโครงการ ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาตามแนวคิดทางด้านจิตตปัญญา ณ โรงเรียนสัตยาไส และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จัดขึ้นระหว่างวันที่  29-31  กรกฎาคม 2552  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์และอาจารย์ที่ปรึกษานิสิต ได้รับประสบการณ์ตรง เห็นคุณค่าของการพัฒนาตนเอง และนิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้มีโอกาสเห็นแนวทางในการจัดการศึกษาตามแนวคิดจิตตปัญญา
  2. คณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกปฏิบัติการฝึกประสบการณ์วิชาชีพศึกษาศาสตร์ ซึ่งทางโครงการได้กำหนดกรอบภาระหน้าที่ให้ทางคณะกรรมการดำเนินงานสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก และกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานิสิตที่จะออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษาต่างๆ ปีการศึกษา 2552  ให้มีขีดความสามารถในการจัดกิจกรรม หรือกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
    ในภาคต้น ปีการศึกษา 2552 คณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกปฏิบัติการฝึกประสบการณ์วิชาชีพศึกษาศาสตร์
    ได้ดำเนินโครงการ ปฐมนิเทศนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพศึกษาศาสตร์ ภาคต้น ปีการศึกษา 2552” ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2552 ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 1 คณะศึกษาศาสตร์  ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมปฐมนิเทศให้แก่นิสิตศึกษาศาสตร์ชั้น ปี 5 ก่อนออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษาต่างๆ นั้น เพื่อให้นิสิตเข้าใจหลัก กระบวนการ และวัตถุประสงค์ของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตลอดจนสามารถนำความรู้ ทักษะที่จำเป็นไปใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเห็นคุณค่าของการพัฒนาตนเอง และผู้เรียน (นักเรียน) ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยมีกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาจิตตปัญญา
  3. คณะทำงานจัดประชุมสัมมนาบุคลากร สำนักงานเลขานุการ คณะศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2552 เพื่อให้บุคลากรฝ่ายสนับสนุนที่มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการการให้บริการ และสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของคณะศึกษาศาสตร์ ได้ทบทวน และพัฒนางานการให้บริการด้านต่างๆ และเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถปฏิบัติงานสายสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ในภาคต้น ปีการศึกษา 2552  ได้ดำเนินโครงการ “สัมมนาบุคลากรและศึกษาดูงานนอกสถานที่”    ระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2552 ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 1 คณะศึกษาศาสตร์ และ ณ โฮมพุเตย รีสอร์ท    จ.กาญจนบุรี วัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการปฏิบัติงานประจำในส่วนของปัญหา อุปสรรค และแนวทางปรับปรุงแก้ไข  สร้างเสริมศักยภาพพื้นฐานและเจตคติที่ดีต่อการทำงานบริการของบุคลากรสายสนับสนุนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเป็นทีม สร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานเลขานุการ คณะศึกษาศาสตร์ และเพื่อเสริมสร้างความตระหนักในการพัฒนาตนเอง มีความรักต่อองค์กร และเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  4. คณะทำงานพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนานิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีหน้าที่วางแผนพัฒนา และดำเนินการจัดกิจกรรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนานิสิตให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมของหลักสูตรระยะสั้นได้ดำเนินโครงการ “หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนานิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ภาคต้น ปีการศึกษา 2552 ระหว่างเดือน มิถุนายน- กันยายน 2552 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตมีความเข้าใจ และมีความตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เพื่อให้นิสิตมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น
  5. คณะกรรมการจัดการความรู้ มีหน้าที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์และจัดการความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนิสิต ของคณะศึกษาศาสตร์เห็นความสำคัญของการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คณะกรรมการจัดการความรู้ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ การเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริเวณต่าง ๆ รอบคณะศึกษาศาสตร์ และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่คณะนักวิจัยและผู้สนใจโดยทั่วไป ทุกเดือนเพื่อขยายองค์ความรู้ และ เรียนรู้ร่วมกัน
  6. คณะกรรมการจัดการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน มีหน้าที่บริหารจัดการให้มีการวิจัยในชั้นเรียน และถอดองค์ความรู้ เพื่อสรุปข้อค้นพบ และทำการขยายผลต่อไป  โดยในปีการศึกษา 2552  มีงานวิจัยที่ได้รับการพิจารณาให้จัดสรรทุนจำนวน 28 ทุน

ผลการดำเนินงานวิจัย

คณะศึกษาศาสตร์ ได้พัฒนา KASET โมเดลจากการดำเนินการ ดังนี้

  1. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างคณาจารย์ นักวิจัยที่นำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน และได้ทำการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
  2. มีคณาจารย์ในคณะแสดงความจำนงในการนำแนวคิดจิตตปัญญศึกษา ไปจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้การจัดทำการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  3. มีการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นโดยการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นพัฒนาบัณฑิตให้มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียน และการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินอย่างต่อเนื่อง 15 สัปดาห์ กับนิสิตจำนวน 30 คน
  4. ส่งเสริมให้คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษามีประสบการณ์ตรงในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาตนตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา
  5. มีการเผยแพร่แนวคิด KASET Model  ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษากับผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตทั้งในสถาบัน และนอกสถาบัน (สถาบันเครือข่าย 25 สถาบัน) ในการพัฒนานิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในเวทีระดับชาติและนานาชาติ

สรุปผลการดำเนินงานวิจัย

 คณะศึกษาศาสตร์ได้พัฒนา KASET Model  ซึ่งประกอบด้วย

K = Knowledge Management     : การจัดการความรู้ให้คณาจารย์  บุคลากร  นิสิต และบุคลากรทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นถึงคุณค่าในการพัฒนาตน เพื่อการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์          
A = Actions Research                 : การทำวิจัยในชั้นเรียนโดยคณาจารย์ทุกภาควิชาของคณะศึกษาศาสตร์ ใน
ปีการศึกษา 2552          
S = Social Guidance                    : การชี้นำสังคมโดยบูรณาการนำแนวคิดจิตตปัญญาการพัฒนาแบบองค์รวมให้คณะศึกษาศาสตร์เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นสถาบันต้นแบบในการพัฒนาทางการศึกษาที่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยใช้แนวคิด จิตตปัญญาศึกษา
E = Empowerment        : การสร้างศักยภาพบุคลากรในการเป็นฐานข้อมูลทางด้านจิตตปัญญาศึกษาโดยมีความเชื่อในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จะส่งผลในการพัฒนาในด้านอื่น ๆ   
T = Training                  การฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคณาจารย์ นิสิต  บุคลากรในคณะ  บุคลากรเครือข่าย สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เช่นการจัดทำ “หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนานิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” 

ข้อสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินการวิจัย

  1. ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตในคณะศึกษาศาสตร์ ได้มีโอกาสที่จะพัฒนา หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม
    ให้กับตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น อันที่จะนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์มาเพื่อสืบทอดปณิธาน และเจตนารมณ์ของคณะศึกษาศาสตร์
  2. คณะศึกษาศาสตร์ได้สร้างแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับ
    ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตทั้งในสถาบัน และนอกสถาบัน (สถาบันเครือข่าย 25 สถาบัน) ในการพัฒนานิสิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

 

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.พรทิพย์  ไชยโส    รศ.ดร.กรรวี  บุญชัย   ผศ.ดร.กรัณฑรัตน์  บุญช่วยธนาสิทธิ์    ดร.เมธินี  วงศ์วานิช  รัมภกาภรณ์  และผศ.กรกฎา  นักคิ้ม
คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  0-257-9203-0  0-294-2867-1