การประเมินผลโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ English for International Conference
สำหรับนิสิตปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Project Evaluation of English for International Conference for Bachelor students,
Faculty of Education, Kasetsart University

            คณะศึกษาศาสตร์เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ผลิตบัณฑิตในการประกอบวิชาชีพครู ที่ต้องมีทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตนเองศึกษา และมีทักษะสำคัญทางด้านภาษา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่ระบุมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ทางมาตรฐานความรู้ของผู้ที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ ดังต่อไปนี้ สาระความรู้ และ สมรรถนะของครู 1) ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู สาระความรู้ 2) ภาษาไทยสำหรับครู 3) ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ สำหรับครู 4) เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู และจากกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2552 ระบุถึงคุณภาพของบัณฑิตทุกระดับ รวมถึงระดับอุดมศึกษา ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด และต้องครอบคลุม อย่างน้อย 5 ด้าน คือ 1) ด้านคุณธรรม จริยธรรม 2) ด้านความรู้ 3) ด้านทักษะทางปัญญา 4) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ 5) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งการให้ความสำคัญกับทั้ง 5 ด้านมีความจำเป็นต่อคุณภาพของบัณฑิต สอดคล้องกับการจัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงแก้ไขความพึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิต และบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2552) โดยมีสาระสำคัญให้แต่ละคณะได้จัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงแก้ไขความพึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิต ในประเด็นหนึ่งที่ต้องปรับปรุง คือ ความรู้และทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศของบัณฑิต

            เนื่องด้วยทางคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบรอบ 40 ปีในการก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์  ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นทางคณะศึกษาศาสตร์จึงได้ทำการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “International Conference on Teacher Professional Development” ขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร

            ในการนี้ทางคณะกรรมการบริหารศูนย์การศึกษาเชิงหรรษา คณะศึกษาศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “International Conference on Teacher Professional Development” ทางศูนย์การศึกษาเชิงหรรษาจึงได้สนับสนุนให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมที่สำคัญกับคณะศึกษาศาสตร์ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่นิสิตในส่วนของการเตรียมงาน และเสริมสร้างมวลประสบการณ์ที่ดีให้กับนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ในด้านทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษทางศูนย์การศึกษาเชิงหรรษาจึงได้จัดตั้งโครงการ English for International Conference ขึ้น

            จากที่มาและความสำคัญ ทำให้คณะผู้วิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของนิสิต จึงได้จัดทำการประเมินผลโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ English for International Conference เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการในลักษณะนี้ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

             เพื่อประเมินโครงการอบรม เชิงปฏิบัติการ English for International Conference สำหรับนิสิตปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิธีดำเนินการวิจัย
        1) ประชากรเป้าหมายและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรเป้าหมาย ได้แก่ นิสิตระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีความสนใจและสมัครเข้ามารับการสอบคัดเลือกจำนวน 17 คน
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการศูนย์การศึกษาเชิงหรรษาในการอบรม เชิงปฏิบัติการฯ ซึ่งเป็นการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 11 คน
        2) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
แบบประเมินความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการฯ แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่
        ตอนที่ 1  ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
        ตอนที่ 2  ความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการเข้าร่วมโครงการ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านกระบวนการ ด้านขั้นการให้บริการ ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านคุณภาพการให้บริการ ด้านการประเมินตนเอง และด้านความพึงพอใจโดยรวม
        แบบสัมภาษณ์วิทยากร ใช้ในการประเมินนิสิตรายบุคคลที่เข้าร่วมอบรม มีประเด็นคำถามเกี่ยวกับ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษก่อนเข้าร่วมอบรม  ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษหลังเข้ารับการอบรม สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป และประเมินผลทักษะทางภาษาอังกฤษ
        3) การสร้างเครื่องมือ
                1. ศึกษาเอกสาร แนวคิด และโครงการอบรมฯ
                2. นำมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างเครื่องมือ ได้แก่ แบบประเมินความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อการเข้าร่วมโครงการฯ และแบบสัมภาษณ์วิทยากร โดยผ่านการตรวจสอบเชิงเนื้อหา (Content Validity) จากคณะกรรมการศูนย์การศึกษาเชิงหรรษา จำนวน 7 คน และนำมาปรับแก้ไข
         4) การเก็บรวบรวมข้อมูล
                1. ดำเนินการเก็บข้อมูล ด้วยการแจกแบบประเมินความพึงพอใจให้กับนิสิตหลังจากโครงการเสร็จสิ้น และเก็บข้อมูลในห้อง ซึ่งผู้วิจัยได้เก็บด้วยตนเอง
                2. ดำเนินการเก็บข้อมูลจากวิทยากรโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ซึ่งผู้วิจัยได้เก็บด้วยตนเองเช่นกัน
                3. นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

        5) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้
        นำข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบประเมินความพึงพอใจฯ มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยใช้สถิติเชิงพรรรณา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสัมภาษณ์ของวิทยากร ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัย
                1. ความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการ English for International Conference สำหรับนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 คน และมีผู้ตอบแบบประเมินจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 100 พบว่า นิสิตมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และ ให้คำแนะนำ/ตอบข้อซักถามได้เป็นอย่างดี คิดเป็นร้อยละเท่ากันคือ 90.90 รองลงมา คือ มีมนุษย-สัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส และช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ ร้อยละ 81.82 และอันดับสาม ได้แก่ วิทยากรมีความเหมาะสม วิธีการถ่ายทอดความรู้ของวิทยากร การจัดกิจกรรมการอบรมมีความน่าสนใจ สถานที่จัดอบรมมีความเหมาะสม คิดเป็นร้อยละที่เท่ากัน คือ 72.73
                2. ความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการ English for International Conference พบว่า อยู่ในระดับมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ เอกสารประกอบการอบรมมีประโยชน์นำไปใช้ได้จริง สื่อโสตทัศนูปกรณ์ ที่ใช้มีความน่าสนใจทันสมัย  เนื้อหาหลักสูตรตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คิดเป็นร้อยละ 45.45  รองลงมา คือ การจัดสรรวันและเวลาในการอบรมมีความเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 36.36 และอันดับสาม ได้แก่ วิทยากรมีความเหมาะสม วิธีการถ่ายทอดความรู้ของวิทยากร การจัดกิจกรรมอบรมมีความน่าสนใจ สถานที่จัดอบรมมีความเหมาะสม หลักสูตรที่อบรมช่วยเสริมสร้างทักษะการใช้ภาษา คิดเป็นร้อยละที่เท่ากันคือ 27.27
3. ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด มากกว่าร้อยละ 85                
ทุกรายการ จึงถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
                4. นิสิตที่เข้าร่วมโครงการอบรมฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินทักษะทางภาษาอังกฤษด้านการสื่อสารทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 โดยวิทยากรเป็นผู้ประเมิน พบว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษก่อนเข้าร่วมการอบรม ส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางทักษะการสื่อสารทางภาษาอังกฤษอยู่ในระดับปานกลาง-ดี และนิสิตมีบุคลิกภาพที่ดี กล้าแสดงออก ในระหว่างการอบรม พบว่า นิสิตมีพัฒนาการด้านทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และหลังการอบรม พบว่า นิสิตมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีขึ้นกว่าก่อนเข้ารับการอบรม สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference on Teacher Professional Development) ของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งจัดเนื่องในวันครบรอบ 40 ปีของคณะศึกษาศาสตร์ และวิทยากรยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรมีการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษด้านการฟัง และการพูดอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลอย่างดี

ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงกาอบรมเชิงปฏิบัติการต่อไป
                1. ควรจัดอบรมโครงการในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะนิสิตเห็นว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานต่อไป (ความถี่ 3 คน)            
                2. ควรเพิ่มระยะเวลาในการอบรมมากขึ้น จากเดิมที่จัดอบรมทั้งหมด 5 วัน (ความถี่ 1 คน)
                3. ควรมีการเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์โครงการให้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยนิสิตส่วนใหญ่ตอบว่าได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากอาจารย์ (ความถี่ 1 คน)

หมายเหตุ: โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ English for International Conference อยู่ภายใต้การอำนวยการจัดการ
โดยว่าที่ ร.ต. อาจารย์ ศักดิภัทร์  เฉลิมพุฒิพงศ์ (ผู้อำนวยการโครงการและกรรมการบริหารศูนย์การศึกษาเชิงหรรษา)     

เอกสารอ้างอิง


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2552. การจัดการแผนพัฒนาปรับปรุงแก้ไขความพึงพอใจต่อ
            คุณภาพบัณฑิต และบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม
. (อัดสำเนา)
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. 2552. กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของ
            ประเทศไทย
. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.kps.ku.ac.th/newkps51/newskps2552/
            other52/oct09/ot29_04tqf.pdf [2 ธันวาคม 2552]
สำนักมาตรฐานวิชาชีพ. มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา. [Online] http://www.rvc.ac.th/files/
            mop_achee.pdf (วันที่ 9 สิงหาคม 2552)

ภาพกิจกรรม

อบรม%20014 DSCN2840
อบรม 018 DSC01889
DSC01906

 

 
คณะผู้วิจัย
ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์
คณะกรรมการบริหารศูนย์การศึกษาเชิงหรรษา คณะศึกษาศาสตร์ (คณะนักวิจัยร่วม)
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9428277