ต้นแจง แกง(นครราชสีมา) หรือแก้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maerua siamensis (Kurz) Pax. จัดเป็นพืชอยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ชื่อพ้อง Niebuhria siamensis Kurz สกุลแจงมีประมาณ 90 ชนิด ส่วนใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตแห้งแล้งของแอฟริกา ถ้าดูตามชื่อวิทยาศาสตร์มีคำว่า “ สยาม ” อยู่ด้วย หมายถึง ต้นแจงนี้เป็นไม้ในสกุลที่มีเพียงชนิดเดียวในประเทศไทย คือ แจง Maerua siamensis (Kurz) Pax แจงมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทย จึงสามารถพบได้ในทุกภาค แต่ในภาคใต้พบเฉพาะทางตอนบน แจงขึ้นได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าแดง และป่าชายหาดหรือตามป่าโปร่ง ที่โล่ง เป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงามใช้ในงานตกแต่งด้านภูมิทัศน์ ให้ความร่มรื่น ร่มเงาได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้อธิบายแจกแจงอายุขัยของวงปีต้นไม้ได้ สังเกตได้จากการตัดตามขวางของลำต้นจะเห็นลักษณะของวงปีชัดเจน จึงนิยมนำไปเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยา ต้นแจงที่เคยพบเห็นทั่วไปในสยามประเทศ ขณะนี้กลายเป็นต้นไม้หายาก “กำลังถูกลืม” เนื่องจากคนในปัจจุบันไม่รู้จัก ไม่เห็นคุณค่า และประโยชน์จึงทำการขุดล้อมเพื่อการจำหน่าย และตัดฟันทำลายเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ต้นแจงมีความสำคัญและประโยชน์อย่างมากมาย จึงควรช่วยกันอนุรักษ์ และปลูกต้นแจงทดแทนเพื่อให้มีการแพร่กระจายพันธุ์ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติต่อไป
ลักษณะของพรรณไม้
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-10 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีเทาดำ แตกกิ่งแขนงมากมาย
ใบ : ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกสลับกัน มีใบย่อย 3-5 ก้าน ใบยาว 1.5-6.5 เซนติเมตร ใบย่อยเกือบไร้ก้าน รูปไข่กลับ ใบ รูปหอกเรียวเล็กลับหรือขอบขนาน สีเขียวเข้มทึบ กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบ ก้านใบย่อยสั้น
ดอก : ช่อแบบกระจุกหรือดอกเดี่ยว จะเกิดตามกิ่งและปลายกิ่ง ช่อสั้นๆ ดอกย่อยมีสีเขียวอมขาว ก้านดอกยาว2-6 เซนติเมตร มีใบประดับ รูปริบบิ้น ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบโคนเชื่อมกัน รูปขอบขนานยาว 0.7-1 เซนติเมตร. ปลายกลีบแหลม ผิวกลีบเรียบ ขอบกลีบเป็นขนนิ่ม ไม่มีกลีบดอก ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร. เกสรเพศผู้ 9-12 อัน ก้านเกสรยาว 10-15 มิลลิเมตร. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 1.5-2 มิลลิเมตร. ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ก้านชูเกสรเพศเมีย ยาว 1.5-2 เซนติเมตร. รังไข่รูปทรงกระบอก ยาว 1.5-2 มิลลิเมตร.
ผล : ออกเดือนมีนาคม - พฤษภาคมทุกปี เป็นผลสด รูปรี หรือทรงกลมเท่าหัวแม่มือ บิดเบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ก้านผลยาว 4.5-7.5 เซนติเมตร. เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองเข้ม ภายในผลจะมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด
เมล็ด : เมล็ดรูปไต
ออกดอก : เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์
ขยายพันธุ์ : เมล็ด
สถานภาพที่เหมาะสม : ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในดินร่วน ชอบขึ้นตามเขาหินปูน ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร แหล่งที่พบ/ระบบนิเวศน์เกิดตามป่าดงดิบแล้งและป่าโปร่งทั่วไป
ประโยชน์
1.ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบๆ นิยมนำเอามาเผ่าถ่าน ใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพดี และนำถ่านมาทำดินปืน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำถ่านอัดในบั้งไฟ
2.ใบของต้นแจงนั้นสมัยก่อนนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาขนสัตว์
3.ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนจึงจะรับประทานได้ หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่าคั้นส้ม เช่นเดียวกับการกินยอดผักกุ่ม ที่ต้องนำไปดองหรือคั้นส้มก่อนรับประทาน เนื่องจากขณะที่ยังสดๆ “มีสารกลุ่มไซยาไนด์” แต่เมื่อนำไปดองหรือคั้นส้ม สารเหล่านี้จะถูกทำให้สลายตัวไป คนอีสานเชื่อว่าถ้าได้กินคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้งจะช่วยให้ไม่เข้าสู่ สภาวะสายตายาว หรือแก่เฒ่าแล้วยังมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตายาว
4.ภูมิปัญญาในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากของบางหมู่บ้าน มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตลูกแป้งด้วย
สรรพคุณด้านสมุนไพร
1. รากปรุงรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ นำมาต้มเอาไอน้ำอบแก้บวม เปลือก ราก และใบ ต้มน้ำดื่มแก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง ไข้จับสั่น
2.ต้น มีคุณสมบัติเหมือนราก แต่มีคุณสมบัติมากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟัน ทำให้ฟันทน
3.ใบ และยอด ตำใช้สีฟัน แก้แมงกินฟันทำให้ฟันทน และแก้ไข้
4.เปลือกบำรุงกำลัง แก้หน้ามืดตาฟาง แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัยปวดเมื่อยตามร่างกาย และเปลือกไม้ ราก ต้มอาบอบ กิน แก้อัมพฤกอัมพาต
ยอดอ่อนผสมเกลือ รักษาโรครำมะนาด แก้ปวดฟัน
5.แก่นแก้ไข้ตัวร้อน
6.ใช้ทั้งห้าแก้ไข้จับสั่น แก้ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
7.ยอดอ่อนนำมาต้ม ล้างหน้าแก้ตาฝ้าฟาง
8.สามารถนำมาทำลูกประคบสำหรับหญิงที่คลอดลูกเพื่อลดความปวดเมื่อยล้า ประกอบด้วย 1.ใบแจง 2.ใบมะขาม 3.ไพร 4.หัวหอม และ 5 เกลือแก้อัมพฤกอัมพาตเข้าลูกประคบ แก้ฟกช้ำ แก้ขัดเบา
9.เอาต้นแจงทั้ง ๕ หนัก ๓ ตำลึง ชะพลู หนัก ๓ ตำลึง แก่น ไม้สัก ๓ ตำลึง ตัวยาทั้ง๓ นี้ ใส่หม้อดิน กับน้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยว ให้เหลือ ๑ ส่วน ใช้น้ำยารับประทาน เช้า-เย็น แก้ขัดเบาได้ผลชะงัก
สารออกฤทธิ์ที่พบ : Chemiebase
เอกสารอ้างอิง
- Chayamarit, K. (1991). Capparaceae. In Flora of Thailand Vol. 5 part 3: 266-268
มูลนิธิสุขภาพไทย.2010.ต้นแจง หรือต้นแก้ง ต้นไม้ที่กำลังถูกลืม ! สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553
- สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชฏัชนครราชสีมา.2546.แจง ฐานข้อมูลยาและสมุนไพรพื้นบ้าน สืบค้นข้อมูลเมื่อ วันที่ 7 มกราคม 2553 จากhttp://www.library.nrru.ac.th/rLocal/stories.php?story=03/01/02/8992398
- ความรู้จากชื่อชุมชน.2551.สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 จากhttp://www.cha- amcity.go.th/community-detail.php?id=12
- Thaiforestherbs.2552.แจงต้นไม้ประจำถิ่นของโคราช สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 จาก http://thaiforestherb.blogspot.com/2009_06_01_archive.html
- BioGANG.2552.ต้นแกง หรือต้นแจง สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 จาก http://www.biogang.net/content_detail.php?menu=biodiversity&uid=1217&id=18311
- ฐานข้อมูลสมุนไพร..2540.แจง.สารนุกรมสมุนไพรรวมหลักเภสัชกรรมไทย ISNB: 974-277-385-8 พิมพ์ครั้งที่ 1 สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 จาก http://thaiherb.most.go.th/plantdetail.php?id=154
- ารานุกรมพืชในประเทศไทย.2549.แจง สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 จาก http://www.dnp.go.th/Botany/detail.aspx?wordsLinkno=0&words=%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B8%87&typeword=word
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร.2540.แจง สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2553 จาก http://natres.psu.ac.th/radio/radio_article/radio40-41/40-410003.htm
|
|
ต้นกล้าอายุ 11 เดือน |
ทรงพุ่ม |
|
|
ลำต้น |
ใบย่อย 3-5 ใบแบบปลายแหลม |
|
|
ช่อดอกแบบกระจุก |
ผล |
ภาพแสดงลักษณะของทรงต้น ใบ ดอก และผลของต้นแจง
|